+++++ ปราสาทกู่กาสิงห์ +++++
----- ปราสาทกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ภายในวัดบูรพากู่กาสิงห์ บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๙๖ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๑๗ ง หน้า ๑๕ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๐.๕๖ ตารางวา
----- ชื่อ “กู่กาสิงห์” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “กู่” ที่ชาวบ้านใช้เรียกโบราณสถานขอมที่มีลักษณะคล้ายสถูปหรือเจดีย์ ส่วนคำว่า “กา” อาจหมายถึง อีกา ซึ่งในอดีตบริเวณนี้มีอีกาอยู่จำนวนมาก ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าตอนเย็นมักจะมีอีกาจำนวนมาก พากันมานอนที่หนองน้ำเรียกว่า หนองกานอน ส่วนคำว่า “สิงห์” อาจมาจากประติมากรรมรูปสิงห์ ๒ ตัว ที่เคยตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งประติมากรรมรูปสิงห์ถูกขโมยไป ในช่วง พ.ศ.๒๕๐๓ แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “กู่กาสิงห์” สืบมาจนปัจจุบัน
----- ปราสาทกู่กาสิงห์ ลักษณะเป็นปราสาทอิฐสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน สร้างหันหน้าไป ทางทิศตะวันออก มีผังการก่อสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๓๕ × ๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาทประธานทั้ง ๔ ด้าน ตั้งอยู่ในแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก ประกอบด้วยกลุ่มปราสาทประธาน ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทประธานอยู่ตรงกลางมีมุขกระสันเชื่อมกับมณฑป มีประตูและบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ถัดเข้าไปเป็นห้องครรภคฤหะ มีประติมากรรมโคนนทิ ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทประธานองค์กลาง ส่วนปราสาทด้านทิศเหนือและทิศใต้ เป็นเพียงห้องครรภคฤหะสำหรับประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพสำหรับประกอบพิธีกรรม มีบรรณาลัยตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกทั้ง ๒ หลัง และมีโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง ๔ ด้าน ก่อด้วยศิลาแลงผสมอิฐ แต่สามารถใช้เข้าออกได้แค่ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก
----- จากการขุดแต่งปราสาทกู่กาสิงห์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญจำนวนมาก เช่น ประติมากรรมพระคเณศ เศียรประติมากรรม ศิวลึงค์หินทราย แผ่นทองคำรูปดอกบัว ๘ กลีบ เครื่องประดับทองคำรูปนาค ๕ เศียร และ ชิ้นส่วนคานหามสำริดรูปนาค ๓ เศียร จากหลักฐานที่พบสามารถสันนิษฐานได้ว่าปราสาทกู่กาสิงห์ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยกำหนดอายุจากรูปแบบการวางผังอาคาร ที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาทบาปวน รวมถึงความสอดคล้องของหลักฐานที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานที่มีรูปแบบศิลปะร่วมสมัยกับตัวโบราณสถาน ได้แก่ ทับหลัง และเสาประดับกรอบประตู จึงสันนิษฐานว่า ปราสาทกู่กาสิงห์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ และโบราณสถานแห่งนี้ได้ใช้งานเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ (ศิลปะนครวัด – บายน) เนื่องจากพบหลักฐานเป็นเครื่องเคลือบเขมร และชิ้นส่วนยอดคานหามรูปเศียรพญานาคศิลปะเขมรแบบนครวัด นอกจากนี้ ปราสาทกู่กาสิงห์ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโบราณสถานอีก ๒ แห่ง ที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ กู่โพนวิจ (อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปะคลัง – บาปวน) และกู่โพนระฆัง (อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยบายน) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สันนิษฐานว่ามีการรื้อศิลาแลงจากปราสาทกู่กาสิงห์ มาใช้ก่อสร้างกู่โพนระฆังเพื่อเป็นอโรคยศาล แสดงให้เห็นถึงการหมดความสำคัญของลัทธิไศวนิกายในชุมชนแห่งนี้ และหันมานับถือพุทธศาสนานิกายมหายานแทน
----- อ้างอิงจาก -----
ศิลปากร, กรม. โดย หน่วยศิลปากรที่ ๖. รายงานการขุดแต่งและค้ำยันโบราณสถานกู่กาสิงห์ บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๓๓. (อัดสำเนา)
ศิลปากร, กรม. โดย สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด. ทำเนียบโบราณสถานขึ้นทะเบียนสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด (พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๕๔๕). ขอนแก่น : บริษัทเพ็ญพรินติ้งจำกัด, ๒๕๕๖.
โดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1283 ครั้ง)