...

กู่โพนระฆัง

+++++กู่โพนระฆัง+++++

----- กู่โพนระฆัง ตั้งอยู่บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัยจังหวัดร้อยเอ็ด อยู่ห่างจากกู่กาสิงห์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๔๐๐ เมตร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๗๒ หน้า ๒๖ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓ งาน ๑๗ ตารางวา

----- กู่โพนระฆัง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยปราสาทประธาน ฐานก่อด้วยศิลาแลง เป็นฐานเขียง ๕ ชั้น มีบันไดทางขึ้น ๔ ด้าน เรือนธาตุก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ก่อมุขยื่นออกมาด้านหน้าและเจาะช่องหน้าต่างที่ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ ด้านหน้าปราสาทประธานมีชาลา (ทางเดิน) เชื่อมกับโคปุระ (ซุ้มประตู) อยู่กึ่งกลางแนวกำแพงทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายมีผังเป็นรูปกากบาท มีห้องมุขด้านทิศตะวันออก มีบรรณาลัย ตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยรอบก่อกำแพงแก้วด้วยศิลาแลงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน และมีสระน้ำกรุขอบสระด้วยศิลาแลงอยู่ด้านนอกของกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

----- จากหลักฐานจารึกปราสาทตาพรหม ได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดฯให้สร้าง “อโรคยาศาล” หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล ตามเส้นทางจากเมืองพระนครไปยังหัวเมืองต่างๆ จำนวน ๑๐๒ แห่ง ซึ่งในประเทศไทยพบอโรคยาศาลจำนวนหลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรศิลปะแบบบายน (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘) จากลักษณะแผนผังของกู่โพนระฆัง แสดงให้เห็นว่าเป็นหนึ่งในอโรคยาศาลที่ถูกกล่าวถึงในจารึกปราสาทตาพรหม เพราะแผนผังและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอโรคยาศาลจะเป็นแบบแผนเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยบางอย่าง เช่น ขนาดของอาคาร การเจาะช่องหน้าต่าง และการทำมุขปราสาทประธาน เป็นต้น ซึ่งสันนิษฐานว่าโบราณสถานประเภทนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยช่างฝีมือในท้องถิ่นกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นขุดแต่งกู่โพนระฆัง ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ บูรณะสระน้ำของกู่โพนระฆัง ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ และบูรณะกู่โพนระฆัง ใน พ.ศ. ๒๕๕๕

----- จากการขุดศึกษาทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชุมชนที่อยู่บริเวณบ้านกู่กาสิงห์ในขณะนั้น ได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบมหายานแทนศาสนาฮินดู ตามแบบอย่างราชสำนักในเมืองพระนคร ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ทรงโปรดฯให้สร้างอโรคยาศาล ตามชุมชนในเขตการปกครองของพระองค์

----------------------------------------------------------------

-- อ้างอิง --

ศิลปากร, กรม. โดย สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด. รายงานการบูรณะกู่โพนระฆัง ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๑. ปุราณรักษ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ๒๕๕๑.

ศิลปากร, กรม. โดย สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี. รายงานการขุดค้น-ขุดแต่งเพื่อการออกแบบบูรณะโบราณสถานกู่โพนระฆัง บ.กู่กาสิงห์ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๔๕. (อัดสำเนา)

ข้อมูล นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ

 

 

ดาวน์โหลดไฟล์: กู่โพนระฆัง.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 587 ครั้ง)


Messenger