อาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม (ตอนที่๔)
ศาสนาคริสต์ได้เผยแพร่เข้ามาในจังหวัดนครพนมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ จนเกิดชุมชนชาวคริสตังใหม่ที่บ้านคำเกิ้ม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ต่อมาได้มีคณะบาทหลวง นำโดย คุณพ่อโปรโดม คุณพ่อซาเวียร์ คุณพ่อดาแบง เดินทางเข้ามาที่ชุมชนชาวคริสตังบ้านคำเกิ้ม และได้ตกลงกันสร้างวัดขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีถือศีลล้างบาปให้แก่ชาวบ้านคำเกิ้ม โดยมีคุณพ่อซาเวียร์เป็นองค์อุปถัมภ์ และท่านได้เผยแพร่ศาสนาไปยังพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งหมู่บ้านหนองแสงด้วย
วัดนักบุญอันนา อยู่ที่บ้านหนองแสง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โบสถ์ของวัดแห่งนี้มีการปรับปรุงทั้งหมด ๓ ครั้ง หลังเดิมถูกระเบิดสมัยที่มีกรณีพิพาทอินโดจีน มีการประดับซุ้มวงโค้งตรงด้านทางเข้า การก่อสร้างในขณะนั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบของบาทหลวง โดยอาศัยคริสต์ศาสนิกชนเป็นผู้ช่วยเหลือในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนญวนที่อพบพเข้ามาอาศัยในพื้นที่จังหวัดนครพนม จากกรณีปราบปรามพวกเข้ารีตของเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๙ และทางราชการส่วนกลางไทยได้จัดให้ไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ติดริมแม่น้ำโขง
โบสถ์วัดนักบุญอันนา ตามประวัติระบุว่าเริ่มวางเสาต้นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบการประดับซุ้มวงโค้งแห่งแรกในจังหวัดนครพนม ซึ่งปัจจุบันส่วนบนมีลักษณะเป็นหอคอยมียอดแหลม ส่วนยอดประดับไม้กางเขนทั้งด้านซ้ายและด้านขวา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอาคารที่ทำการศาสนกิจของบาทหลวง ก่อตั้งโดย บาทหลวงเอดัวร์นำลาภ ภายหลังจัดตั้งเป็นมูลนิธิบาทหลวงเอดัวร์นำลาภ อาคารหลังนี้มีจารึกที่ใต้กรอบหน้าจั่วเหนือซุ้มวงโค้งระบุถึงปีที่สร้างคือ ค.ศ. ๑๙๕๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียล ก่อด้วยอิฐสอปูน มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า กรอบหน้าจั่วประดับซุ้มวงกลม มีการทำซุ้มวงโค้งที่ประตูและหน้าต่าง โดยการโชว์สันอิฐที่วงโค้ง และมีการตกแต่งการทำพื้นผิวในพื้นที่ช่องสี่เหลี่ยม
วัดนักบุญอันนาแห่งนี้ จัดเป็นสถานที่สวยงามแห่งหนึ่ง ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของคริสต์ศาสนิกชน ในจังหวัดนครพนม โดยในวันคริสต์มาสของทุกปีจะมีเทศกาลแห่ดาวที่คริสต์ศาสนิกชนในจังหวัดนครพนมจะประดิษฐ์ดาวรูปแบบต่าง ๆ แล้วแห่มารวมกันไว้ที่นี่ ถ้าท่านใดสนใจก็สามารถมาเที่ยวชมกันได้นะคะ
ข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์
อ้างอิง :
- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว.
- ชวลิต อธิปัตยกุล.สิมญวน ในอีสาน.อุดรธานี:เต้า-โล้,๒๕๕๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 747 ครั้ง)