...

กุฏิลาย วัดราษฏร์ประดิษฐ์

กุฏิลาย วัดราษฏร์ประดิษฐ์

วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ตั้งอยู่บ้านกระเดียน ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ประวัติการก่อตั้งชุมชน กล่าวว่า ชุมชนบ้านกระเดียนก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายถิ่นมาจากบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน เมื่อประมาณช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อว่า บ้านกระเบียน หรือกระด้งขนาดเล็ก ด้วยในพื้นที่มีต้นไผ่จำนวนมาก และชาวบ้านได้นำมาสานเป็นเครื่องจักสาน จนเป็นที่รู้จัก ซึ่งในภายหลังได้มีการเพี้ยนจากบ้านกระเบียนเป็นบ้านกระเดียน และเรียกสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2470 มีเสนาสนะที่สำคัญได้แก่ อุโบสถ (สิม) ศาลาการเปรียญ(หอแจก) กุฏิลาย นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญที่ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เช่น พระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ หีบไม้สำหรับเก็บคัมภีร์และตำรา เป็นต้น กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 124 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2544

กุฎิลาย เดิมจากคำบอกเล่ากล่าวว่าเป็นกุฏิ 3 หลัง ปัจจุบันเหลือเพียง 2 หลัง เป็นอาคารใต้ถุนสูง แต่ละหลังมีเสาจำนวน 12 ต้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันเป็นทิศเดียวกับศาลาการเปรียญ (หอแจก)และอุโบสถ (สิม) ตัวอาคารใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก แต่ละหลังเป็นอาคารหลังคาทรงจั่ว ประดับโหง(ช่อฟ้า) ใบระกา หางหงส์ สำหรับกุฎิหลังทิศใต้บริเวณกลางสันหลังคามีการประดับช่อฟ้า ส่วนหน้าบันมีการทาสีประดับกระจกสวยงาม โดยหลังด้านทิศเหนือ หน้าจั่วเป็นจั่วลูกฟัก ทาสีประดับกระจก หลังคาจะยาวเลยส่วนล่างของหน้าจั่วลงมา และมีปีกนกคลุมใต้จั่วทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนหลังทิศใต้เป็นจั่วรูปพระอาทิตย์ทาสีและประดับกระจกเช่นกัน ทำปีกนกรับหลังคาสามด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันตกซึ่งมีการต่อพาไลหรือเทิบยาวใต้จั่วเพื่อรับส่วนชานของอาคาร เดิมกุฏิลายมุงด้วยกระเบื้องไม้หรือแป้นเกล็ด ในภายหลังชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาเป็นสังกะสีซึ่งหาง่ายและมีราคาถูกกว่า เมื่อสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ดำเนินการบูรณะในปี พ.ศ. 2556 ได้เปลี่ยนกลับหลังคาเป็นกระเบื้องไม้หรือแป้นเกล็ดเช่นเดิมเมื่อแรกสร้าง

กุฏิลายสองหลังนี้ถูกสร้างเจตนาให้เชื่อมต่อประโยชน์ระหว่างกัน กล่าวคือ หลังด้านทิศใต้ ซึ่งไม่มีผนังหรือเป็นอาคารโล่งมีบันไดทางขึ้นด้านหน้าทั้งฝั่งด้านทิศเหนือและใต้ ส่วนกุฏิหลังทิศเหนือนั้นไม่มีบันไดขึ้นหาอาคารได้โดยตรง หากแต่มีประตูที่บริเวณกลางผนังด้านทิศใต้ซึ่งติดต่อกับกุฏิหลังทิศใต้ นั่นหมายความว่าหากต้องการไปยังกุฏิหลังทิศเหนือต้องขึ้นบันไดและผ่านมาจากกุฏิหลังทิศใต้นั่นเอง เมื่อพิจารณาจากลักษณะของกุฏิทั้งสองหลังที่หากเปรียบกับเรือนไทยภาคกลางจะเห็นได้ว่า กุฏิหลังทิศใต้ทำหน้าที่เป็นเรือนชานของกลุ่มเรือน ใช้ประโยชน์ในการพบปะกับผู้มาติดต่อหรือวางสิ่งของที่ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว หากแต่กุฏิหลังทิศเหนือนั้น มีลักษณะความยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นอาคารสามห้อง แต่ละห้องที่ผนังด้านทิศเหนือมีหน้าต่างห้องละ 1 บาน ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเจาะช่องหน้าต่างด้านละหนึ่งบาน ส่วนตัวเรือนของกุฏิหลังทิศเหนือมีความมิดชิด ผนังทั้งสี่ด้านเป็นผนังปิดด้วยฝาสายบัวประดับตกแต่งด้วยการทาสี กุฏิหลังทิศเหนือจึงน่าจะใช้เป็นส่วนจำวัดของพระภิกษุสงฆ์

วัดราษฏร์ประดิษฐ์มีโบราณสถานที่สำคัญหลายหลัง ซึ่งจะได้นำมาเสนอให้แก่ผู้ติดตามในโอกาสต่อไปนะคะ

........................................................................................................................................

นางสาวสิริพัฒน์ บุญใหญ่ นักโบราณคดีชำนาญการ ผู้เรียบเรียง

อ้างอิง

http://kradian.go.th/th/ เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564

สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี .รายงานการบูรณะโบราณสถานกุฏิไม้

วัดราษฎร์ประดิษฐ์ บ้านกระเดียน ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล

จังหวัดอุบลราชธานี,พ.ศ. 2556

 

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1399 ครั้ง)


Messenger