ทุ่งกุลาร้องไห้ : จุดบรรจบของโลกหลังความตาย
++++ทุ่งกุลาร้องไห้ : จุดบรรจบของโลกหลังความตาย++++
...เมื่อความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต โลกหลังความตายจึงถือกำเนิดขึ้น ความเชื่อเรื่องชีวิต หลังความตาย นำไปสู่พิธีกรรมการทำศพ จากเรื่องของคนตายจึงกลายเป็นเรื่องของคนเป็น...
-----ในภาคอีสานของประเทศไทยบริเวณแอ่งสกลนคร (อีสานตอนบน) จากข้อมูลการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่ามนุษย์ในอดีตมีประเพณีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวและใส่ของอุทิศร่วมกับศพ บางครั้งพบการนำภาชนะดินเผามาทุบปูรองศพ หรือปูทับศพก่อนฝังดินกลบ หากเป็นศพเด็กจะบรรจุศพลงในภาชนะดินเผาก่อนแล้วจึงนำไปฝัง ซึ่งลักษณะการฝังแบบนี้ใช้กับศพเด็กเท่านั้น แหล่งโบราณคดีที่พบรูปแบบการฝังศพ แบบนี้ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และ แหล่งโบราณคดีบ้านดอนธงชัย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
-----ส่วนพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนจนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนล่าง (อีสานตอนล่าง) นอกเหนือจากรูปแบบการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวและการฝังศพเด็กในภาชนะดินเผา ยังพบประเพณีการฝังศพครั้งแรกและครั้งที่สองในภาชนะดินเผา รวมถึงการใส่สิ่งของลงในภาชนะร่วมกับศพเพื่อเป็นของอุทิศให้ผู้ตาย แหล่งโบราณคดีที่พบประเพณีการฝังศพแบบนี้ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา แหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้อง (โนนป่าช้าเก่า) อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และ แหล่งโบราณคดีดอนไร่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น แม้ว่าพื้นที่บริเวณนี้จะพบรูปแบบการฝังศพทั้งสองแบบ แต่โดยส่วนมาก ในแหล่งโบราณคดีแต่ละแห่ง จะมีรูปแบบการฝังศพอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก จังหวัดนครราชสีมา ก็จะพบแต่รูปแบบการฝังศพในภาชนะดินเผา หรือที่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ก็จะพบแต่รูปแบบการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว ยกเว้นกรณีศพเด็กที่จะบรรจุศพลงในภาชนะดินเผาก่อนฝัง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพบการฝังศพทั้งสองแบบภายในแหล่งโบราณคดีเดียวกัน เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่มีประเพณีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวหรือนอนตะแคงในหลุม แต่มีอยู่ศพหนึ่งเป็นผู้ใหญ่เพศชาย ถูกฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ในท่านั่งมีฝาปิด มีภาชนะดินเผาขนาดเล็กและเปลือกหอยกาบเป็นของอุทิศ ซึ่งกรณีนี้อาจสันนิษฐานได้ว่ารูปแบบการฝังศพที่แตกต่างออกไปนี้ อาจเป็นคนต่างชุมชนที่มาตายต่างถิ่น หรือเป็นบุคคลที่มีการตายผิดปกติจึงมีวิธีการฝังศพที่ต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งกรณีดังกล่าวพบได้น้อยมาก
-----ย้อนกลับไปเมื่อกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในพื้นที่ตอนกลางของแอ่งโคราช (อีสานตอนกลาง) กินเนื้อที่ประมาณ ๒.๑ ล้านไร่ บริเวณที่ผู้คนต่างรู้จักกันในชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอีสานตอนบน (แอ่งสกลนคร) และอีสานตอนล่าง (บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล) ดินแดนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณหลายแห่ง แม้ชุมชนเหล่านี้จะตั้งกระจายห่างกันออกไป มีทั้งใกล้และไกล แต่กลุ่มคนในชุมชนเหล่านี้ล้วนมีแบบแผนในการดำรงชีวิต ความคิด ความเชื่อ ที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่องพิธีกรรมความตายที่มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้” ด้วยสภาพภูมิประเทศ ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้มีการผสมผสานรูปแบบประเพณีต่างๆเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นรูปแบบประเพณีของตนเอง ดังหลักฐานพิธีกรรมการฝังศพที่พบ โดยปรากฏลักษณะการฝังศพครั้งแรก ทั้งแบบนอนหงายเหยียดยาว และแบบฝังศพในภาชนะดินเผา (พบทั้งศพเด็กทารก เด็ก วัยรุ่น และ ผู้ใหญ่) รวมถึงยังพบการฝังศพครั้งที่สอง ทั้งแบบเก็บกระดูกมาวางรวมกัน และแบบเก็บมาใส่ในภาชนะดินเผา ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ภายในชุมชน ลักษณะเนื้อดิน การตกแต่งรูปทรง และหน้าที่การใช้งาน ก็ต่างออกไปจากวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะภาชนะบรรจุศพรูปทรงต่างๆ รวมถึงการวางภาชนะบรรจุศพในแนวนอน แบบที่นิยมเรียกว่า “แคปซูล” (Capsules) ก็ถือว่าเป็นลักษณะเด่นของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด แหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และแหล่งโบราณคดีเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
-----รูปแบบประเพณีการฝังศพในภาคอีสาน ที่ปรากฏในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องมายังสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น สะท้อนให้เห็นถึงระบบความคิด ความเชื่อ ของคนในสมัยนั้น เกี่ยวกับเรื่องโลกหลังความตาย จึงเป็นหน้าที่ของคนเป็นที่จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ และประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้วายชนม์พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในโลกหลังความตาย สุดแล้วแต่ความเชื่อและพิธีกรรมของสังคมในวัฒนธรรมนั้นๆที่ถูกกำหนดขึ้น ภาชนะดินเผาที่เกี่ยวกับพิธีกรรมศพจึงมักมีรูปแบบพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยาของผู้คนในสังคม เมื่อรูปแบบเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นระเบียบแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์ แสดงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน
----------------------------------------------------------------
ข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ
อ้างอิง
สุกัญญา เบาเนิด. โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี : กรมศิลปากร, ๒๕๕๓.
สุรพล นาถะพินธุ. รากเหง้าบรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์. สำนักพิมพ์ มติชน : กรุงเทพฯ, ๒๕๕๐.
ศิลปากร, กรม. โดย สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด. โบราณคดีลุ่มน้ำสงคราม ก่ำ ชีตอนล่าง มูลตอนกลาง. บริษัทเพ็ญพรินติ้งจำกัด : ขอนแก่น, ๒๕๕๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 7180 ครั้ง)