ท่อปู่พระยาร่วง
"ท่อปู่พระยาร่วง" เป็นคลองชลประทาน ปรากฏนามในจารึก พ.ศ.๒๐๕๓ บนฐานเทวรูปพระอิศวร พบที่เมืองโบราณกำแพงเพชร ปัจจุบันเทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดกำแพงเพชร ความตอนหนึ่งกล่าวว่า"...อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทองฟ้าและหาท่อนั้นพบกระทำท่อเอาน้ำไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝายมิได้เป็นนาทาฟ้า อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์..."
แนวคลองจากกำแพงเพชรถึงบางพานนั้น ตามที่ปรากฏในจารึก ยังมีร่องรอยปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศ และยังคงสภาพให้เห็นได้ในภูมิประเทศ และเป็นแนวเดียวกันกับแนวที่เชื่อกันมาในอดีตว่า เป็นถนน นั่นคือ "ถนนพระร่วง"ซึ่งเชื่อมโยงจากเมืองสุโขทัย ไปยังเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือ และเมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้
บนฐานของเทวรูปพระอิศวรพบที่เมืองกำแพงเพชร มีจารึกครั้ง พ.ศ. ๒๐๕๓ กล่าวถึง "ท่อปู่พระยาร่วง" ซึ่งเป็นคลองชลประทาน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชได้เสด็จพระราชดำเนินตลอดแนว ตั้งแต่กำแพงเพชร ถึงศรีสัชนาลัย ด้วยพระองค์เอง และทรงห่วงใยเกรงว่า หลักฐานจะถูกทำลาย เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์บนที่ดินตามแนวถนนในลักษณะต่างๆ และทรงมีข้อสงสัยในเรื่องของความเชื่อว่า เป็นถนน จึงได้ทรงแผนที่แนวถนน และพระราชทานข้อสังเกตไว้หลายประการ เพื่อเป็นแนวทางการศึกษรายละเอียดในภายหลัง ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ความว่า
"...ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ ที่จะยกหนังสือนี้ เป็นตำรับตำราอย่างใดเลย ประสงค์แต่จะตั้งโครงพอเป็นรูปขึ้นไว้ทีหนึ่ง เพื่อผู้ที่มีความรู้ และพอใจในการตรวจค้นโบราณคดีต่างๆ จะได้ตกแต่งแต้มเติมให้เป็นรูปอันงดงามดีขึ้น..."
การศึกษาภาพถ่ายทางอากาศได้รับการนำมาใช้ศึกษาข้อมูล ตามที่ปรากฏในแผนที่จากกำแพงเพชร ถึงสุโขทัย และจากสุโขทัย ถึงศรีสัชนาลัย ตามที่ทรงไว้ในพระราชนิพนธ์ได้พบหลักฐานตลอดแนว เห็นได้ชัดเจนในภาพถ่ายทางอากาศ รวมเป็นระยะทางประมาณ ๑๒๓ กิโลเมตร ดังแสดงไว้ในแผนที่ บางช่วงคูคลองตื้นเขินคงเหลือแต่คันดิน เป็นแนวยาว บางช่วงยังคงปรากฏคูคลองชัดเจน มีคันดินด้านเดียวขนานไปกับแนวคลอง และบางแห่ง ซึ่งผ่านที่ลุ่ม จะเห็นคันดินสองข้างชัดเจน ตามแนวคลองบางแห่ง ยังพบสระน้ำขนาดใหญ่เป็นช่วงๆ อีกทั้งยังคงร่องรอยการทำนา ที่ใช้ระบบชลประทาน การศึกษาจากร่องรอย ที่ยังคงปรากฏให้เห็นได้ในภาพถ่ายทางอากาศพบว่า คันดินที่เห็นบนพื้นดินเป็นแห่งๆ ตลอดแนว จากกำแพงเพชร ผ่านสุโขทัย จนถึงศรีสัชนาลัย และเคยเข้าใจว่า เป็นถนน ตามที่รู้จักกันในนามของถนนพระร่วงนั้น ปรากฏให้เห็นบนภาพถ่ายทางอากาศชัดเจนว่า เป็นแนวคลอง ที่ขุดต่อเนื่องกันโดยตลอด
การศึกษาระดับแนวคลอง เปรียบเทียบกับลักษณะภูมิประเทศ และตำแหน่งการสร้างสระสี่เหลี่ยมกักเก็บน้ำ เพื่อยกระดับ ล้วนแล้วเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า เป็นแนวคลองขุด นำน้ำจากแม่น้ำปิง ที่เมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้ มายังสุโขทัย และจากด้านตะวันตกของเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือ มาเชื่อมต่อกับคลองทางด้านใต้ ตรงตำแหน่งที่มีระดับต่ำสุดที่ต้นคลองแม่รำพัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๔๓ เมตร ระดับความสูงที่แม่น้ำปิง ๗๙ เมตร และระดับความสูงที่ศรีสัชนาลัย ๖๘ เมตร น้ำจากลำคลอง ที่ไหลมาบรรจบกัน จะไหลตามคลองแม่รำพัน ลงสู่บริเวณแม่น้ำยม ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ ในฤดูน้ำมีน้ำท่วมขังกว้างขวางเรียกว่า ทะเลหลวง
นอกจากหลักฐานบนภาพถ่ายทางอากาศ ดังกล่าวแล้ว ยังได้พบหลักฐานบนแผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชสมัยเสด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง ที่เขียนเป็นแนวคลองจากกำแพงเพชร ไปจนถึงศรีสัชนาลัย และมีแนวคลองจากแนวคลองท่อปู่พระยาร่วง เชื่อมกับแม่น้ำยม ซึ่งปัจจุบันคือ คลองแม่รำพัน
แนวคลองท่อปู่พระยาร่วงจากกำแพงเพชร จนถึงบางพาน ตามที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๐๕๓ ซึ่งกล่าวถึงการบูรณะขุดลอกนำน้ำไปเลี้ยงนาบริเวณเมืองบางพานให้เป็นนาเหมือง นาฝาย มิได้เป็นนาทางฟ้าเหมือนเมื่อสมัยเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้วนั้น ตามแนวคลองและตำแหน่งเดียวกัน จากกำแพงเพชร จนถึงบางพานนี้ ปัจจุบันเป็นคลองชลประทาน"โครงการพระราชดำริคลองท่อทองแดง" นำน้ำไปยังเมืองบางพาน แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำนา เช่นเดียวกับอดีต ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแผนที่เส้นทางคลองให้แก่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๑ เพื่อขุดลอกนำน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนา ตามที่ราษฎรบริเวณนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ทรงทราบในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๑ แนวคลองดังกล่าว ได้สร้างแล้วเสร็จ ตามโครงการ (พ.ศ. ๒๕๒๔- ๒๕๒๘) สร้างความร่มเย็นแก่พสกนิกรในอาณาบริเวณนั้น
ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=15&chap=6&page=t15-6-infodetail06.html
ระบบชลประทานเมืองสุโขทัย
ภูมิศาสตร์โบราณคดี
เมืองโบราณสุโขทัยตั้งอยู่พิกัดภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ ๙๙ ํ ๔๒' และเส้นแวงที่ ๑๗ ํ ๐๑' อยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ปรากฏแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมืองทั้ง ๔ ด้าน ขนาดกำแพงเมืองด้านเหนือและใต้ ยาวประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร ส่วนด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกกว้างประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร
ที่ตั้งของเมืองสุโขทัยนี้เป็นส่วนขอบของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือบริเวณนี้จะปรากฏภูเขาเล็กๆ โผล่ขึ้นมาไม่สูงมากนัก แล้วค่อยๆลาดลงเป็นพื้นที่ราบกว้างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอด จนถึงด้านใต้ของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย
ด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยปรากฏแนวเทือกเขาประทักษ์ ทำหน้าที่เป็นหลังคารับน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ที่ราบทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุโขทัย และต่อเนื่องไปสู่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมที่อยู่ห่างออกไปราว ๑๔ กิโลเมตร
เทือกเขาประทักษ์ประกอบด้วยชุดหินแม่ทะ มีหินกรวดมน หินทราย หินดินดาน หินชนวน หินปูนและหินภูเขาไฟ มีแหล่งต้นน้ำบนเทือกเขาไหลลงมาเป็นลำธาร ซึ่งมีความลาดชันและรุนแรง พัดพาตะกอนหิน กรวด ทราย ทับถมในลำธารบนภูเขา แล้วค่อยๆเปลี่ยนสภาพพื้นที่เอนลาดสู่พื้นที่ราบ ตะกอนหินที่มีขนาดใหญ่จะทับถมบริเวณเชิงเขา ลักษณะดินบริเวณนี้จะแข็งและร่วน ตะกอนส่วนมากในบริเวณนี้เป็นกรวดและทราย เป็นที่แห้งแล้งหรือกึ่งแห้งแล้ง ไม่สามารถกักเก็บน้ำหรือเพาะปลูกได้
ส่วนตะกอนที่มีขนาดเล็กกว่าจะถูกพัดพาไกลออกไป และเมื่อเข้าสู่ที่ราบที่ห่างไกลภูเขามากขึ้น พื้นที่บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลช้ากว่า และเมื่อเข้าสู่ที่ราบที่ห่างไกลภูเขามากขึ้นอีก จะกลายเป็นที่ราบระดับ บริเวณนี้จะมีป่าไม้เตี้ยๆ หรือหญ้าขึ้นปกคลุมห่างๆ
ที่ราบลุ่มบริเวณนี้จะมีน้ำท่วมขังทุกปี กระแสน้ำที่ไหลช้าจะทำให้อนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าตกตะกอนบริเวณใกล้ฝั่ง ส่วนอนุภาคเล็กจะตกตะกอนไกลออกไป ทำให้พื้นที่ริมฝั่งประกอบด้วยอนุภาคขนาดโต ทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศสูง เรียกว่า สันริมน้ำ เป็นบริเวณที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และถัดลงไปเป็นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า ที่เรียกว่า ที่ลุ่มต่ำ มีการระบายน้ำได้ไม่ดีนัก ใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว
พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมมีลักษณะเป็นท้องกระทะที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดที่ราบขั้นบันไดของแม่น้ำที่ต่อเนื่องจากที่ลาดของเชิงเขาประทักษ์ กล่าวคือ ในระยะแรกแม่น้ำลำธารจะพัดพาตะกอนทับถมตามหุบเขา ความเร็วในการไหลของแม่น้ำได้ทำให้เกิดการกัดเซาะเป็นแนว จนระยะเวลาหนึ่งอิทธิพลของแม่น้ำที่ลดความเร็วลงทำให้เกิดการทับถมบนแนวกัดเซาะและเมื่อเกิดกระแสน้ำรุนแรงก็จะกัดเซาะพื้นที่ตรงกลางอีก ลักษณะนี้เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ จะทำให้เกิดที่ราบขั้นบันไดลดหลั่นกันไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำ
น้ำฝนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดลำธารและแม่น้ำสายต่างๆ เมื่อน้ำฝนไหลลงไปตามความลาดชันของภูเขา ก่อให้เกิดการกัดเซาะพื้นที่เป็นร่องน้ำเล็กๆต่างๆ ไหลไปรวมกันเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่และรวมกันเป็นสาขาของลำธาร และรวมตัวกันไปเรื่อยๆจนกลายเป็นลำธารและแม่น้ำในที่สุด
ขณะที่น้ำไหลไปตามทางจะพัดพาอนุภาคต่างๆทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้เคลื่อนที่ออกไป อนุภาคที่ไหลมากับน้ำเหล่านี้จะเพิ่มแรงปะทะให้รุนแรงและแตกหักมากยิ่งขึ้น กัดเซาะลำธารให้เป็นหลุมเป็นบ่อและกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับวิวัฒนาการ
แนวเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นระยะทางกว่า ๒๙ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ราว ๓๑๒ ตารางกิโลเมตร มีสันเขาค่อนไปทางด้านทิศตะวันตก ทำให้ภูเขาฝั่งตะวันตกมีความลาดชันมากกว่าฝั่งตะวันออก มียอดเขาสูงต่ำรวมทั้งหมด ๓๙ ยอด มีหุบเขาระหว่างยอดเขาลูกต่างๆ เป็นต้นน้ำลำธารที่จะไหลสู่ที่ลาดเชิงเขา น้ำที่ไหลลงจากลำธารบนเทือกเขาประทักษ์ ที่มีผลเกี่ยวกับระบบชลประทานสุโขทัย มี ๓ ทาง ได้แก่
๑. น้ำที่ไหลลงจากลำห้วยทางทิศตะวันตกของเขาประทักษ์
แหล่งต้นน้ำ | ห้วย, คลอง |
๑) เขาคุยบุนนาค | คลองกระพง |
คลองลานหัก | |
คลองแหน | |
คลองกระดอนไก่ | |
๒) เขาหนองหอย | คลองกระพง |
๓) เขาขี่ม้า | คลองกระพง |
คลองมะขาง | |
คลองมาบโล | |
คลองลานหอย | |
๔) เขาประทักษ์ | คลองในเขา |
๕) เขาค่าย | คลองเหนือบ้าน |
๒. น้ำที่ไหลลงจากลำห้วยทางด้านทิศเหนือของเทือกเขาประทักษ์
แหล่งต้นน้ำ | ห้วย, คลอง |
๑) เขาค่าย | คลองน้ำตกไหลลงคลองลาน |
๒) เขาเจดีย์งาม | |
๓) เขาเจดีย์งาม | คลองบง |
๓. น้ำที่ไหลลงจากลำห้วยทางด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์
แหล่งต้นน้ำ | ห้วย, คลอง |
๑) เขาเจดีย์งาม | |
๒) เขาค่าย | คลองเสาหอ |
๓) เขาประทักษ์ | คลองเสาหอ |
๔) เขาตะโหงกวัว | |
๕) เขาพระบาทใหญ่ | |
๖) เขาประทักษ์ | คลองเหมืองตาราม |
๗) เขาประทักษ์ | คลองเหมืองยายอึ่ง |
๘) เขากินลม | |
๙) เขาประทักษ์ | |
๑๐) เขาแดง | |
๑๑) เขากินลม | |
๑๒) เขาคุยบุนนาค | คลองเหมืองยายอึ่ง |
๑๓) เขาอีลม | |
๑๔) เขาโป่งสะแก | |
๑๕) เขานายา | |
๑๖) เขากุดยายชี | |
๑๗) เขากุดยายชี | คลองตาเจ็ก |
ลักษณะทางกายภาพของที่ราบเชิงเขาประทักษ์ เป็นลักษณะของป่าฝนเขตร้อนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๑,๐๐๐ เมตร มีพันธุ์ไม้ขึ้นปะปนหลายชนิด เช่น ยางขาว ยางแดง ยางตะเคียน กะบาก เคียนหอม แดงดง และกาฝาก ทำให้ป่าค่อนข้างมืดครึ้ม ต้นไม้มีการเจริญเติบโตตลอดทั้งปีไม่มีการผลัดใบ ป่าเช่นนี้จะปกคลุมลำธารที่ไหลจากยอดเขาต่างๆ ให้ชุ่มชื้นตลอดปี
พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งเมืองสุโขทัย ด้วยองค์ประกอบทางด้านธรณีวิทยาต่างๆ เช่น สภาพภูมิประเทศและแหล่งน้ำต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมือง ทั้งในด้านเกษตรกรรม เศรษฐกิจและสังคม
เขื่อนสรีดภงส์และแหล่งต้นน้ำในอดีต
“สรีดภงส์”มาจากภาษาสันสกฤตว่า สริทฺกงฺค แปลว่า ทำนบ สรีดภงส์ตั้งอยู่ห่างตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย พบแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างเขากิ่วอ้ายมาและเขาพระบาทใหญ่ มีการขุดดินจากด้านในเพื่อนำมาปรับถมเป็นคันดินกั้นน้ำ ลักษณะคันดินที่เหลืออยู่มีขนาดฐานกว้างประมาณ ๑๔ เมตร สูง ๔ เมตร คันดินตอนบนกว้าง ๓-๔ เมตร ยาว ๓๓๐ เมตร สภาพพังทลายขาดเป็นช่วงๆเพราะถูกน้ำกัดเซาะ สภาพปัจจุบันได้รับการปรับปรุงคันดินตามระบบชลประทาน มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำประมาณ ๕ ตารางกิโลเมตร รับน้ำจากเทือกเขาประทักษ์ เขาค่าย เขาเจดีย์งาม ที่เป็นพื้นที่หลังคารับน้ำ ไหลลงมาเป็นลำธาร หรือ โซก ต่างๆ เช่น
๑.โซกพระร่วงลองพระขรรค์
๒. โซกเรือตามอญ
๓.โซกอ้ายก่าย
๔. โซกน้ำดิบชะนาง
๕.โซกชมพู่
๖.โซกพม่าฝนหอก
สรีดภงส์ ๒ (ทำนบกั้นน้ำโคกมน) ตั้งอยู่ที่บ้านมนต์คีรี ห่างจากกำแพงเมืองด้านทิศใต้ไปตามแนวคันดินกั้นน้ำหมายเลข ๔ ต. หรือถนนพระร่วง ไปประมาณ ๗๖ กิโลเมตร เป็นคันดินอยู่ทางทิศตะวันออกของเขานายาและเขากุดยายชี มีความกว้างราว ๗-๑๐ เมตร สูง ๓-๔ เมตร ยาว ๑,๓๐๐ เมตรตรงกลางทำนบเจาะขาดเป็นช่องระบายน้ำเมื่อน้ำมีปริมาณมากเกินไป
สรีดภงส์ ๒ รับน้ำจากพื้นที่หลังคารับน้ำเทือกเขาโป่งสะเดา เขาคุยบุนนาค เขาอีลม ครอบคลุมพื้นที่ราว ๑๘ ตารางกิโลเมตร มีลำธารเล็กๆ ๑๒ สาย ไหลมารวมตัวกันบริเวณท้องกระทะของภูเขา ๓ ลูกซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๕-๖ ตารางกิโลเมตร แล้วไหลต่อเนื่องมาเป็นเหมืองยายอึ่ง ผ่านเพิงผาหินบริเวณที่พบประติมากรรมสตรี หรือ พระแม่ย่า แล้วไหลอ้อมเลียบภูเขาไปสู่พื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่กักเก็บน้ำสรีดภงส์ ๒
เหมืองยายอึ่ง..เป็นลำธารขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ ๒๐-๒๕ เมตร ผนังลำธารสูงเฉลี่ย ๕-๑๐ เมตร รับน้ำจากลำธารเล็กๆ ๑๒ สาย ที่ไหลมาจากเทือกเขาโป่งสะเดา เขาคุยบุนนาคและเขาอีลม ที่ระดับความสูง ๘๑๗ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แล้วลดระดับลงสู่อ่างกระทะรับน้ำที่ความสูงระดับ ๓๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความลาดชันสูงนี้ทำให้เกิดกระแสน้ำรุนแรง พัดพาหินขนาดใหญ่มาทับถมกัน และบางส่วนของลำธารมีร่องรอยถูกกัดเซาะจนผนังหินพังทลาย มีร่องรอยของ กุมภลักษณ์ หรือ Pothole ที่เกิดจากกรวดทรายที่น้ำพัดพามาตกในร่องหิน กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวอย่างต่อเนื่องยาวนาน พัดให้กรวดทรายหมุนวนกัดกร่อนพื้นหินเป็นหลุมตั้งฉากกับพื้นโลก
น้ำโคก..ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่กล่าวว่า “เบื้องหัวนอน... มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี... ” น้ำโคกหรือบ่อน้ำผุด ตั้งอยู่ถัดลงมาทางทิศใต้ของเหมืองยายอึ่ง เป็นแหล่งน้ำที่ไหลมาจากใต้ดิน ทำให้เกิดลำธารไหลไปรวมกับเหมืองยายอึ่ง ก่อนไหลไปรวมกันที่สรีดภงส์ ๒ (ทำนบกั้นน้ำโคกมน) เมื่อปริมาณน้ำมีมากเกินไป ทางหนึ่งจะระบายออกที่ปากท่อกลางทำนบอีกทางหนึ่งจะไหลออกไปตามเหมืองยายอึ่ง ไปบรรจบกับทำนบกั้นน้ำหมายเลข ๔ ต. หรือถนนพระร่วงสายสุโขทัย-กำแพงเพชร เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมตามชุมชนริมถนนพระร่วง
ซากน้ำตกที่เกิดจากเทือกเขาประทักษ์
โซกเป็ดเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีน้ำซึมผ่านทรายชื้นเปียกไปตามแนวลำธาร ทรายที่อยู่พื้นลำธารมีสีดำอมน้ำตาลคล้ายขี้เป็ดอยู่ทั่วไป อาจเกี่ยวกับที่มาของชื่อแหล่งโดยชาวบ้านอาจเคยเรียกว่า โซกขี้เป็ด แล้วกร่อนเหลือเพียง โซกเป็ด น้ำจากโซกเป็ดนี้จะไหลไปสู่ทำนบกั้นน้ำหมายเลข ๔ ต. ตามเหมืองตาราม แล้วระบายไหลออกไปรวมกับคลองยางโซกขี้เหล็กตั้งอยู่ทางด้านใต้ของโซกเป็ด ตามลำธารมีกองหินทับถมจำนวนมาก บางตอนของผนังโซกมีร่องรอยหินกรวดทับถมหนาถึง ๑-๑.๕๐ เมตร แสดงถึงการทับถมของหินที่ถูกน้ำพัดพามาเป็นเวลานาน น้ำจากโซกขี้เหล็กจะไหลไปหาทำนบกั้นน้ำหมายเลข ๔ ต. และไหลไปรวมกับเหมืองยายอึ่งต่อไป
การทดน้ำมาใช้ใน-นอกเมืองเก่าสุโขทัย
ภายในเมืองสุโขทัยมีสระเก็บกักน้ำประมาณ ๑๗๕ สระ มีทั้งแบบขุดลงไปในดิน และกรุผนังด้วยอิฐหรือศิลาแลง บ่อที่ลึกที่สุดอยู่บริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขนาดปากบ่อกว้าง ๓ เมตร ลึก ๒๕ เมตร มีคลองส่งน้ำจากบริเวณเมืองชั้นในทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ส่งน้ำจากตระพังตระกวนเข้ามายังตระพังสอ
คูเมืองและกำแพงเมืองสุโขทัยวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินเป็นกำแพง ๓ ชั้น และคูน้ำ ๓ ชั้น ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันข้าศึกและเป็นคันบังคับน้ำมาใช้ประโยชน์ โดยเป็นน้ำที่ไหลมาจากคลองเสาหอด้านทิศตะวันตกมายังบริเวณคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งคงมีท่อเชื่อมสู่คูเมืองชั้นใน เนื่องจากในการบูรณะปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๓๑ ได้ขุดพบท่อน้ำดินเผาขนาดต่างๆ ใกล้ขอบสระและคูน้ำล้อมรอบวัดเสมอๆ เช่นที่วัดพระพายหลวง วัดมหาธาตุ วัดเชตุพน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีทำนบกั้นน้ำอื่นๆ ก่อสร้างไว้เพื่อส่งน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในเมือง ทำนบที่สำคัญได้แก่ แนวคันดินหมายเลข ๔ ต. ถนนพระร่วง ๑ สุโขทัย-กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกกำแพงเมือง มีความสูงประมาณ ๐.๕๐-๒.๕๐ เมตร กว้างราว ๔-๖ เมตร ยาวประมาณ ๗๓ กิโลเมตรถึงเมืองกำแพงเพชร มีโบราณสถานตามถนนพระร่วงสายนี้ ๒-๓ แห่ง และแนวคันดินถนนพระร่วง ๒ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ขนาดใกล้เคียงกับถนนพระร่วง ๑ สุโขทัย-กำแพงเพชร วางตัวเริ่มต้นตั้งแต่ประตูศาลหลวงมุ่งขึ้นไปถึงเมืองศรีสัชนาลัย โดยแนวคันดินที่พบขาดหายเป็นระยะๆ สำรวจพบโบราณสถานเรียงรายตามแนวถนน ๒๓ แห่ง แนวคันดินเหล่านี้นอกจากใช้เป็นถนนแล้วยังใช้เป็นแนวบังคับน้ำที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกเพื่อใช้ประโยชน์และผันน้ำไปสู่แม่น้ำยม
วิธีการควบคุมน้ำของเมืองสุโขทัย
ชลประทานมาจากคำว่า ชล แปลว่า น้ำ +ประทานแปลว่า ให้ หมายถึงการจัดสรรน้ำในรูปแบบต่างๆเพื่อประโยชน์หลายๆอย่างแก่ประชาชน ให้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดปี เช่น การสร้างเหมืองฝาย สำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนซึ่งเกินความต้องการ เป็นการบรรเทาปัญหาอุทกภัย และสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งเป็นต้นการพัฒนาแหล่งน้ำในการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม มีวิธีการต่างๆ ดังนี้
๑.การทดน้ำ คือ การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนสูงขึ้นจนถึงระดับพื้นที่เพาะปลูก
๒.การส่งน้ำ คือ การขุดคูคลอง หรือ การวางท่อส่งน้ำ เพื่อกระจายปริมาณน้ำให้ทั่วถึงพื้นที่เพาะปลูก
๓.การเก็บกักรักษาน้ำ คือ การสร้างทำนบ การสร้างประตูกักน้ำ หรือแม้แต่การพรวนดิน คลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดินให้มากที่สุด
๔.การระบายน้ำ คือ การขุดคูคลองเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อการเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลผลิตออกจากพื้นที่เพาะปลูก
๕.การป้องกันอุทกภัย คือ การระบายน้ำด้วยการสร้างคันกั้นน้ำและอาจมีท่อระบายน้ำประกอบ
ประโยชน์ของการชลประทานมีมากมายหลายประการ ได้แก่
๑.บรรเทาการเกิดอุทกภัย
๒.กักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปีทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
๓. เกิดการใช้น้ำอย่างมีประโยชน์สูงสุด ให้มีปริมาณเพียงพอและไม่ไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
๔.ใช้ทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคม
๕.ทำให้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้มากขึ้น
การชลประทานในเขตชุมชนวัดพระพายหลวง
ชุมชนวัดพระพายหลวง ได้ปรากฏขึ้นก่อนการสร้างเมืองสุโขทัย ชุมชนนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่รำพันโดยมีเทือกเขาประทักษ์เป็นฉากหลังทางทิศใต้และทิศตะวันตก ลักษณะการเลือกสร้างเมืองในที่เนินสูงใกล้เส้นทางน้ำและใกล้ภูเขาเช่นนี้ ปรากฏมาตั้งแต่แรกเริ่มสร้างชุมชนมนุษย์ ชุมชนวัดพระพายหลวงมีรูปแบบการสร้างเมืองทรงเรขาคณิต แสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่ได้รับการจัดระเบียบอย่างดี เชื่อว่าอิทธิพลการสร้างเมืองแบบนี้ได้รับมาจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งมีความชำนาญในการจัดรูปผังเมืองและการชลประทานเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดทางศาสนา โดยกำหนดให้มีปราสาทเป็นเทวสถานกลาง สัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล กำแพงรายล้อมเป็นสัญลักษณ์ของดิน และน้ำในคูเมืองเป็นสัญลักษณ์ของเกษียรสมุทร
ศูนย์กลางการปกครองและศาสนาของชุมชนวัดพระพายหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในขณะที่พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่หลักทางเศรษฐกิจของชุมชน การสร้างฝายน้ำล้นและอ่างเก็บน้ำ ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำไม่ให้ไหลท่วมพื้นที่ชุมชน และกักเก็บน้ำไว้ในการเกษตรกรรม จากการสำรวจได้พบร่องน้ำที่ไหลมาจากช่องโซกม่วงกล้วยและเขาสะพานหินทางทิศเหนือ เข้าสู่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชน และร่องน้ำที่ไหลผ่านช่องเขาสะพานหินกับเขาเจดีย์งามจะไหลเข้าสู่ชุมชนวัดพระพายหลวงเช่นกัน จากระดับความสูงของแหล่งต้นน้ำที่มีความชันค่อนข้างมาก ทำให้น้ำที่ไหลลงมามีความรุนแรง จึงต้องมีการสร้างคันดินเพื่อชะลอความเร็วของน้ำในบริเวณทิศตะวันตกของวัดศรีชุม โดยได้สำรวจพบแนวคันดินที่มีความยาวประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๘-๑๐ เมตร สูง ๓-๔ เมตร แนวคันดินหมายเลข ๔ และแนวคันดินหมายเลข ๕ และ ๖ ทำหน้าที่เป็นฝายน้ำล้น ๒ ฝาย ในขณะเดียวกันคูน้ำที่ล้อมรอบชุมชนก็สามารถป้องกันน้ำที่ไหลล้นมาจากคันดินเข้าท่วมเมืองได้อีกชั้นหนึ่งก่อนระบายลงคลองซอยไปสู่ลำน้ำแม่รำพัน พื้นที่บริเวณคลองซอยเหล่านี้ใช้เป็นแหล่งทำมาค้าขายและสัญจรได้ ในศิลาจารึกเรียกบริเวณดังกล่าวนี้ว่า ตลาดปสาน ซึ่งสามารถใช้เป็นทางออกสู่ทางน้ำสายใหญ่ คือ ลำน้ำแม่รำพัน
ด้านทิศตะวันออกของลำน้ำแม่รำพัน มีคันดินหมายเลข ๗ ขนาดกว้างประมาณ ๑๕-๒๐ เมตรสูง ๔-๕ เมตร โอบรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเว้นด้านทิศตะวันตก ส่วนคันดินด้านทิศตะวันออกเว้นช่องระบายน้ำไว้ตรงกลาง คันดินนี้สามารถเก็บน้ำที่เอ่อล้นจากลำน้ำแม่รำพันเพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าวได้เป็นจำนวนมาก
การชลประทานในเขตเมืองสุโขทัย
การสร้างเมืองใหม่ในบริเวณไม่ห่างไกลจากที่ตั้งชุมชนเดิม อาจเกิดจากการขยายตัวของชุมชน หรือที่ตั้งเมืองเก่าอาจเกิดจากปัญหาภาวะทางธรรมชาติที่อาจเกิดความไม่เหมาะสมในทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถาปนิกและวิศวกรของชุมชนเมืองสุโขทัยอาจใช้ประสบการณ์จากที่ตั้งเมืองเดิมคือชุมชนวัดพระพายหลวง สร้างเมืองสุโขทัยให้สมบูรณ์ แหล่งน้ำและเส้นทางน้ำต่างๆ ถูกทำขึ้นอย่างมีระบบ เพื่อเก็บน้ำมาไว้ภายในเมืองได้อย่างกล้าหาญและชาญฉลาด
การชลประทานเพื่อการอุปโภคบริโภค
แหล่งน้ำธรรมชาติจากเขาประทักษ์ ได้แก่ คลองเสาหอ ลำน้ำจะไหลลงมายังสรีดภงส์ที่มีพื้นที่กักเก็บน้ำได้ ๘๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สามารถระบายเข้ามาในเมืองสุโขทัยได้ตลอดทั้งปีลำน้ำสายนี้จะไหลไปยังบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย ถูกชักเข้าไปเลี้ยงคูเมืองโดยรอบและกักเก็บน้ำไว้ตามตระพังต่างๆ ก่อนไหลไปสมทบกับลำน้ำแม่รำพันทางทิศตะวันออกของเมือง จะสังเกตได้ว่าการสร้างเมืองสุโขทัยใหม่นี้ ไม่ได้สร้างฝายเพื่อป้องกันน้ำท่วม อาจเป็นเพราะฝายน้ำล้นเก่าของชุมชนวัดพระพายหลวงยังใช้การได้ดี และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทางตอนเหนืออาจไม่มีผลกระทบในทางร้ายต่อเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ทางใต้ แต่ผู้สร้างเมืองก็มิได้มีความประมาทในความรุนแรงของน้ำจากภูเขา จึงได้สร้างกำแพงเมืองขึ้นเป็น ๓ ชั้น ทำหน้าที่เสมือนฝายหรือเขื่อนป้องกันน้ำเข้าท่วมเมือง นอกเหนือจากประโยชน์ในการป้องกันข้าศึกศัตรู
การชลประทานแบบเหมืองฝายของเมืองสุโขทัย
จากการศึกษาระบบชลประทานในสมัยสุโขทัย พบหลักฐานระบุถึงการชลประทานแบบเหมืองฝายจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๓ หรือศิลาจารึกนครชุม พ.ศ. ๑๙๐๐ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีคำว่า “เหมืองแปลงฝายรู้ปรา...” และจารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓ ระบุว่า “อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า...” เห็นได้ว่าในสมัยปู่พระยาร่วง ซึ่งอาจเป็นพระราชวงศ์สุโขทัย ได้มีการชลประทานแบบเหมืองฝายขึ้นในเขตกำแพงเพชร สำหรับในเมืองสุโขทัยนั้นพบว่าน้ำจากเทือกเขาประทักษ์ไม่มีบทบาทในการทำลายเมือง น้ำจะไหลจากแหล่งน้ำธรรมชาติลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำ ตามลำธาร ลำห้วย เช่น คลองยาง เหมืองตาราม เหมืองยายอึ่ง คลองตาเจ็ก เป็นต้น สรีดภงส์ ๒ เป็นฝายน้ำล้นที่สร้างขึ้นระหว่างเขานายากับเขากุดยายชี น้ำเหนือฝายนี้จะระบายไปตามเหมืองยายอึ่งสู่ที่ราบต่ำทางทิศตะวันออกเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม
การชลประทานเพื่อการเกษตรในสมัยสุโขทัยนั้น เมื่อมีการขยายชุมชนเดิมจากวัดพระพายหลวงมายังชุมชนสุโขทัยระบบการควบคุมน้ำเดิมของชุมชนวัดพระพายหลวงยังใช้การได้อยู่ คือคันบังคับน้ำทางตะวันออกและตะวันตกของวัดพระพายหลวง ทำให้ชุมชนสุโขทัยยังทำเกษตรกรรมได้ในบริเวณทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ของเมือง ดังคำในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.๑๘๓๕ “...เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหารปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง เบื้องตีนนอนสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่ บ้านเล็ก เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น...”
แหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในเมืองสุโขทัย มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือน้ำจากสระต่างๆและน้ำจากบ่อบาดาลน้ำจากสระต่างๆ (ตระพัง)ในเมืองสุโขทัยมีสระน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๘๐ สระ น้ำจากคูเมืองจะไหลเข้าสู่สระต่างๆ ตามบริเวณที่มีชุมชนอยู่อาศัย โดยมีตระพังขนาดใหญ่ จำนวน ๔ ตระพัง ดังนี้
ตระพังเงิน อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๕๒ เมตร ยาว ๒๕๓ เมตร ลึก ๓ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ ๓๙,๔๖๘ ลูกบาศก์เมตร
ตระพังทอง อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๑๗๕ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร ลึก ๓ เมตร เก็บกักน้ำได้ ๙๖๓,๗๕ ลูกบาศก์เมตร เกาะกลางเป็นที่ตั้งของวัดตระพังทอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง เมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ไว้ว่า ตอนแรกที่พระองค์ประทับแรมอยู่ได้อาศัยน้ำในตระพังทองให้สัตว์ที่เป็นพาหนะเดินทางอาศัยดื่มกิน
ตระพังตระกวน อยู่ทางทิศเหนือของตระพังเงินและวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้าง ๒๑๖ เมตร ยาว ๔๑๗ เมตร ลึก ๓ เมตร รับน้ำได้ ๒๒๒,๕๐๔ ลูกบาศก์เมตร เกาะกลางเป็นที่ตั้งของวัดสระศรี
ตระพังสอ อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง มีขนาดกว้าง ๕๖.๗๕ เมตร ยาว ๒๑๘ เมตร ลึก ๓ เมตร กักเก็บน้ำได้ ๓๗,๑๑๔ ลูกบาศก์เมตร
น้ำในตระพังเหล่านี้จะระบายไปยังตระพังอื่นๆภายในเมือง โดยเริ่มจากทางด้านทิศตะวันตกมาสู่ด้านทิศตะวันออก โดยการวางท่อระบายน้ำต่อถึงกันระหว่างสระต่างๆ จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองสุโขทัย พบท่อระบายน้ำบริเวณวัดมหาธาตุด้านเหนือ เป็นท่อดินเผาเคลือบ ปากท่อกว้าง ๔๕ เซนติเมตร ปลายสอบเหลือ ๑๘ เซนติเมตร และพบอีกแห่งหนึ่งที่มุมกำแพงวัดมหาธาตุด้านใต้ พบท่อที่มีขนาดเท่ากันโดยตลอด ส่วนหัวและปลายทำสวมต่อกันได้ส่วนสระน้ำเล็กๆจะไม่มีท่อระบายน้ำส่งถึงกัน อาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาล จึงไม่มีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี จึงต้องมีการขุดบ่อบาดาลมาใช้อีกส่วนหนึ่งด้วย
บ่อน้ำ หรือ ตระพังโพย คำว่า ตระพังโพย เป็นภาษาเขมร แปลว่า บ่อมหัศจรรย์ คงเป็นความหมายของบ่อน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี
น้ำจากแหล่งน้ำบาดาล เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคในเมืองสุโขทัย การขุดเจาะน้ำบาดาลในบริเวณเมืองสุโขทัยต้องเจาะลงไปที่ความลึกมากกว่า ๕ เมตร จากการสำรวจและปรับปรุงบ่อน้ำในการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ พบบ่อน้ำซึมใต้ดินที่มีลักษณะเป็นบ่อกลม กรุด้วยศิลาแลง อิฐ และบางแห่งมีหินก่อเสริม กระจายตัวอยู่ตามบริเวณต่างๆของเมืองสุโขทัย
เป็นที่สังเกตว่า ปริมาณบ่อน้ำในแต่ละพื้นที่ อาจมีความสัมพันธ์กับปริมาณประชากรในชุมชนที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ ในบริเวณทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ไม่มีตระพังหรือสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่พบว่ามีบ่อน้ำค่อนข้างหนาแน่น จำนวนถึง ๗๐ บ่อ ขณะที่กลางเมืองสุโขทัยมีเพียง ๒๓ บ่อ ทางด้านทิศเหนือเป็นอีกบริเวณที่มีบ่อน้ำหนาแน่น โดยพบถึง ๒๖ บ่อ จึงอาจกล่าวได้ว่าในบริเวณทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของเมืองซึ่งพบปริมาณบ่อน้ำค่อนข้างหนาแน่น มีชุมชนอยู่อาศัยมากกว่าพื้นที่ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ที่พบจำนวนบ่อน้ำไม่มากนัก โดยสันนิษฐานว่าบริเวณนี้คงใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ บ่อน้ำที่ขุดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตโบราณสถาน หรือบริเวณวัด โดยทางด้านตะวันตกของเมืองก็ปรากฏว่ามีวัดอยู่หนาแน่นเช่นกัน
อนึ่ง ในการสำรวจบ่อโบราณ กรมศิลปากรได้ทำการขุดลอกบ่อโบราณบางแห่งพบว่าเป็นหลุมสุขา โดยเป็นหลุมคู่โดยมีรางเล็ก มีแท่งหินหรือไม้ปิดอย่างดี ในชั้นดินของบ่อพบกากอุจจาระ มีซากต่างๆดังนี้ เม็ดตะค้อ เม็ดแตง เม็ดพริก ไม้ไผ่ หลุมเหล่านี้ลึกประมาณ ๗-๘ เมตร สันนิษฐานว่าอาจเป็น วัจจกุฎี คือห้องสุขาของพระสงฆ์ ตามพระธรรมวินัยที่กำหนดให้พระสงฆ์ต้องมีที่ขับถ่ายโดยเฉพาะ
สรุปปัญหาภูมิศาสตร์โบราณคดี
จากสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า ทำเลที่ตั้งของเมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่บนที่ราบลาดเอียงชายป่า มีลำธารที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขา ทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ทำให้เห็นได้ว่าเมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่ริมทะเลสาบ มีขุนเขาเป็นฉากบังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ มีการสร้างคูเมืองกำแพงเมือง มีระบบการจัดผังเมืองเป็นบ้าน เป็นเมือง เขตสวนไร่นา บ้านใหญ่ บ้านเล็ก ความรู้ทางด้านฝายน้ำล้นที่แพร่หลายในแหลมอินโดจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้ถูกนำมาใช้ก่อสร้าง ชักน้ำไปทางทิศตะวันออก ผ่านคูเมืองและพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม
ระดับความลาดเอียงในเมืองสุโขทัยที่มีความสูงถึง ๓-๔ เมตร ย่อมกักเก็บน้ำไม่ได้จึงต้องมีการขุดสระน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆโดยเฉพาะในการเกษตรกรรม ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น สามารถปลูกหมากม่วง หมากขาม ป่าแก้ว ป่าลาง สวนหมาก สวนพลู ทั่วทุกแห่ง เมืองสุโขทัยจึงร่มเย็น น่าอยู่อาศัย งามดังแกล้ง
คนสุโขทัยมีการขุดบ่อน้ำซึมที่สะอาดเย็นจากใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการขุดบ่อน้ำใช้จำนวนมากเช่นนี้จากเมืองโบราณอื่นๆในประเทศไทยเลย จึงแสดงว่าระบบการสุขาภิบาลของชาวสุโขทัยนั้นก้าวหน้ากว่าสังคมอื่นๆ
เมื่อศึกษาถึงการออกแบบการวางผังเมือง ถนนทางเดิน ขอบสระ ตลอดจนการเนรมิตศิลปะโบราณวัตถุต่าง ๆ สถาปนิกและนายช่างศิลปกรรมสุโขทัย มีฝีมืออยู่ในระดับแนวหน้ากว่าศิลปินเมืองอื่น ๆ ที่ร่วมสมัยเดียวกัน ย่อมเป็นประจักษ์พยานเป็นได้ชัดว่า เมืองสุโขทัยนี้ดี และแพร่หลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวเมืองนครศรีธรรมราช เมืองเชียงใหม่ เมืองน่าน ฯลฯ จึงเขียนตำนานยกย่องชาวเมืองสุโขทัยในนามพระร่วง เป็นเอกสารที่เหลืออยู่จนบัดนี้จะมีตกอับอยู่แต่เพียงในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนเท่านั้น ที่กล่าวว่าเจ้าเมืองสุโขทัยยากจนขนาดต้องนำธิดานางแก้วกริยาไปขายฝากขัดดอกเบี้ย เศรษฐีขุนช้างแต่เพียงแห่งเดียว
ที่มา : ระบบชลประทานสมัยสุโขทัย กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๑ , ๒๕๕๗
(จำนวนผู้เข้าชม 13709 ครั้ง)