แหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยแห่งใหม่ ที่จ.พิจิตร
สวัสดีค่ะ! #พี่โข๋ทัยมีเรื๋องเล๋า ღ วันนี้จะพาไปทัวร์แหล่งเตาที่พบใหม่ในจังหวัดพิจิตรกันค่ะ โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ นี้ ที่แห่งนี้นับเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กำลังดำเนินงานศึกษาทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่องมาจากในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ นั่นก็คือ #แหล่งเตาบึงวัดป่า
.
ซึ่ง! มีรายละเอียดและความคืบหน้าเป็นอย่างไรนั้น มาค่ะ! ตามพี่โข๋ทัยฯ มาทางนี้เลยค่ะ
.
.
::: โครงการโบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง : ศึกษาแหล่งเตาบึงวัดป่า ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ระยะที่ ๒ (ตอนที่ ๑) :::
.
ประวัติการค้นพบ
.
แหล่งเตาบึงวัดป่าตั้งอยู่บริเวณบึงวัดป่า ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำน่านประมาณ ๖๐๐ เมตร ในเขตพื้นที่หมู่ ๔ ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เป็นกลุ่มเตาสมัยสุโขทัยที่เพิ่งค้นพบใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างการขุดลอกแหล่งน้ำบึงวัดป่า บริเวณขอบบึงได้พบร่องรอยเตาเผาภาชนะดินเผาที่ถูกขุดไปบางส่วน และมีบางส่วนยังอยู่ในผนังชั้นดิน ลักษณะเป็นเตาขุดใต้ดินมิได้ก่ออิฐ ผนังเตามีคราบซิลิก้าละลายติดอยู่ พบเศษภาชนะดินเนื้อแกร่ง (Stone Wares) ทั้งแบบไม่เคลือบผิวและเคลือบสีน้ำตาล ประเภท ไห กระปุก ครก เป็นต้น
.
สรุปการดำเนินงานทางโบราณคดี ปีงบประมาณ ๒๕๖๓
.
ผลการดำเนินการทางโบราณคดีในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ข้อสรุปว่าแหล่งเตาบึงวัดป่าเป็นแหล่งเตาในสมัยสุโขทัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ โดยผลิตภาชนะประเภทไหเนื้อแกร่งเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งประเภทเคลือบสีน้ำตาลและประเภทไม่เคลือบผิว
.
การขุดค้นทางโบราณคดีในระยะที่ ๑ พบหลักฐานเป็นเตาเผาโบราณ ลักษณะเป็นเตาระบายความร้อนแบบแนวนอน (crossdraft klin) เตามีหลังคาโค้งรีคล้ายประทุนเรือ ก่อด้วยดิน ผนังเตามีคราบซิลิก้าละลายติดอยู่ เตามีขนาดกว้าง ๒.๙๐ เมตร ยาว ๙ เมตร วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ สภาพไม่สมบูรณ์
.
แหล่งเตาแห่งนี้นับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง และในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพราะแหล่งเตาเผาภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่งในประเทศไทยนั้นมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
.
จากความสำคัญของแหล่งเตาบึงวัดป่า สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย จึงจัดทำโครงการศึกษาแหล่งเตาบึงวัดป่าระยะที่ ๒ เพื่อทำการศึกษาแหล่งเตาให้ได้ข้อมูลมากขึ้น และเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ต่อไป นอกจากนี้ ข้อมูลจากแหล่งเตาบึงวัดป่า จะเป็นส่วนเติมเต็มให้กับข้อมูลแหล่งเตาในเขตภาคเหนือตอนล่างที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งด้วย
.
การดำเนินงานทางโบราณคดี ปีงบประมาณ ๒๕๖๔
.
ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินงานขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ในที่ดินของ นางสาวนพเก้าว์ สุวรรณ์ ราษฎรในพื้นที่พบแหล่งเตา ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๖๒๕๕ หมู่ ๔ ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร อนุญาตให้สำนักศิลปากร ที่ ๖ สุโขทัย ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี
.
หลุมขุดค้นมีขนาด ๔ x ๗ เมตร สภาพผิวดินที่พบร่องรอยแหล่งเตาถูกปกคลุมด้วยต้นผักชีและวัชพืช จากการดำเนินงานในปัจจุบัน เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเตาที่พบใหม่นี้น่าจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์...
.
ซึ่งในส่วนของรายละเอียดความคืบหน้า จะแจ้งให้ทราบทางแฟนเพจสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย โปรดติดตามตอนต่อไป พบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ
.
(จำนวนผู้เข้าชม 1989 ครั้ง)