...

หลักฐานทางโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิจิตร
สวัสดีค่ะ สัปดาห์นี้ #พี่โข๋ทัยมีเรื๋องเล๋า ก็กลับมาพบกับทุกคนอีกครั้ง สำหรับวันนี้ขอนำเสนอข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิจิตรค่ะ
.  
        พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนสมัยสุโขทัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย 
.
      จากการศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนสมัยสุโขทัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะด้านตะวันออกของจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย พบหลักฐานทางโบราณคดีทีแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปยังชุมชนอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง จากรายงานการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย พบหลักฐานในยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดี ดังนี้
        ๑. แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
 พบหลักฐานทางโบราณคดีที่บริเวณบ้านดงป่าคำ  อำเภอเมืองพิจิตรเป็นโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน ๓ โครง ขวานหิน ๑ ชิ้น  ภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กำหนดอายุประมาณ ๓,๐๐๐ -๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ได้มีการสำรวจพบภาชนะดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่วัดบึงบ่าง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรด้วย ภาชนะดินเผาที่วัดบึงบ่างมีลักษณะคล้ายกับภาชนะดินเผาในสมัยโลหะ ซึ่งพบในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี และนครสวรรค์ สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุประมาณ ๓,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
.
        ๒. แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี
 บริเวณที่พบชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ปรากฏทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านในเขตอำเภอทับคล้อและอำเภอตะพานหิน บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มที่ต่อเนื่องมาจากพื้นที่สูงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ๒ แหล่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง และแหล่งโบราณคดีเมืองบ่าง 
.
         ๒.๑ แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง ตั้งอยู่ที่บ้านวังแดง หมู่ ๒ ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย (กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๕ สุโขทัย ในขณะนั้น) สำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน  ๒๕๔๓ ต่อมาได้ร่วมสำรวจอีกครั้งกับรศ.ดร.ผาสุข  อินทราวุธ จากคณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔ ต่อมา อาจารย์วินัย  ผู้นำพล แจ้งว่า มีผู้นำหลักฐานข้อมูลมาแจ้งให้อาจารย์ทราบว่า พบฐานอิฐสมัยโบราณ  พบตราประทับและวงล้อเสมาธรรมจักรมากพอควรและเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเตรียมสร้างอุโบสถใหม่ จึงเข้าสำรวจพื้นที่ภายในวัดวังแดงอีกครั้ง  เมื่อวันที่ ๑๓  มกราคม ๒๕๔๙
.  
      จากการสำรวจพบเนินโบราณสถานหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่ถูกไถทำลายเหลือเพียงเศษอิฐ มีบางแห่งที่ยังมีร่องรอยส่วนฐานของเจดีย์ อิฐที่ใช้ก่อสร้างเป็นอิฐขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ขนาด ๑๗ x ๓๐ x ๗ เซนติเมตร มีร่องรอยของแกลบข้าวปะปนในก้อนอิฐ นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่นายเล็ก มณีเรือง ราษฎร หมู่ ๒ บ้านวังแดงเก็บรักษาไว้ เช่น เหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ จำนวน ๓ เหรียญ ขุดพบระหว่างการสร้างถนนสายวังทอง – เขาทราย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยพบบรรจุอยู่ในไหร่วมกับเหรียญเงินประเภทเดียวกันจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ เหรียญ และพบไหบรรจุกระดูกวางอยู่ด้วยกัน แต่ไม่พบฐานเจดีย์หรือโบราณสถานอื่น ชิ้นส่วนโลหะเงิน เครื่องมือเหล็ก เป็นต้น และเจ้าอาวาสวัดวังแดงได้เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้จำนวนหนึ่ง เช่น แท่นหินบด หินบด เศษภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง (earthern ware) ลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น หลักฐานทางโบราณคดีที่พบกำหนดอายุเบื้องต้นในสมัยทวารวดีหรืออายุประมาณ ๑,๕๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
.
        ๒.๒ แหล่งโบราณคดีวัดบึงบ่าง ตั้งอยู่ที่บ้านบึงบ่าง หมู่ ๗ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย ดำเนินการสำรวจเมื่อวันที่  ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ จากการสำรวจพบว่า แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในเมืองบ่าง สภาพปัจจุบันเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม วัดบึงบ่างมีการเก็บรักษาโบราณวัตถุ เช่น แท่งดินเผารูปสี่เหลี่ยมทำเป็นลายตาราง ชิ้นส่วนหินดุดินเผา ๔ ชิ้น แวดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง (earthern ware)  ตกแต่งด้วยลายกดประทับ ภาชนะดินเผามีเชิง เนื้อไม่แกร่ง (earthern ware) ไม่มีการตกแต่งลวดลาย ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกระดูกวัวหรือกระดูกควาย กำหนดอายุในเบื้องต้นราว ๒,๕๐๐ – ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว
.
  ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทางโบราณคดีนี้ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะด้านตะวันออกของจังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดงในเขตอำเภอทับคล้อ ซึ่งพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี อาจเชื่อมโยงถึงผู้คนในบริเวณบ้านชมภู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ที่มีการพบหลักฐานเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ เช่นเดียวกัน ถัดจากบ้านวังแดงลงไปทางทิศใต้ ที่แหล่งโบราณคดีวัดบึงบ่างซึ่งตั้งอยู่ภายในเมืองบ่าง ซึ่งเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจคือภาชนะดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่วัดบึงบ่าง มีลักษณะคล้ายกับภาชนะดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นร่องรอยของชุมชนสมัยทวารวดี ซึ่งอาจสัมพันธ์กับชุมชนโบราณที่บ้านวังแดงที่อยู่ไม่ห่างกันนัก 
-------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์   เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพิจิตร. กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๒.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ. กรุงเทพฯ : บริษัท ด่าน   สุทธาการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๘.
ศรีศักร  วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพ ฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒.













(จำนวนผู้เข้าชม 9642 ครั้ง)


Messenger