ศิลปะถ้ำที่พบในแหล่งโบราณคดีเขากะไดม้า
// ศิลปะถ้ำที่พบในแหล่งโบราณคดีเขากะไดม้า //
.
.
บทความโดยนางสาวมนิสรา นันทะยานา ผู้ช่วยนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย
.
.
แหล่งโบราณคดีเขากะไดม้า ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านโคกผักหวาน ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก โดยบริเวณที่พบศิลปะถ้ำเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับพุทธอุทยานเขากะไดม้า จึงได้มีการตั้งชื่อแหล่งโบราณคดีตามชื่อของพุทธอุทยาน
.
.
จุดที่พบศิลปะถ้ำมีทั้งหมด 2 จุด คือ บริเวณถ้ำพระอีงั่ง และถ้ำคอขาดซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำพระอีงั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร
.
.
ถ้ำพระอีงั่ง มีลักษณะคล้ายเพิงผา ตำแหน่งที่พบศิลปะถ้ำคือ บริเวณเพดานหินภายในเพิงผา โดยศิลปะถ้ำที่พบบางส่วนมีสภาพไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการหลุดร่อนของสี และมีบางส่วนที่ถูกคราบเกลือขึ้นทับบริเวณภาพ ทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน ศิลปะถ้ำที่พบที่นี่ เป็นการเขียนแบบกลุ่มภาพ และมีลักษณะการเขียนภาพแบบเงาทึบ (silhouette) เขียนด้วยสีแดง ปรากฏเป็นภาพคน 2 ภาพ โดยภาพคนที่อยู่ตรงกลางแสดงท่าทางกางแขนกางขา แสดงลักษณะทางสรีระที่ชัดเจน คือ น่องโต หรือโป่งออกมา ที่บริเวณเอวมีชายผ้าห้อยตกลงมาทั้งสองด้าน ภาพสุนัข 1 ภาพ และภาพส่วนของขาสัตว์ที่มีกีบเท้า 1 ภาพ
.
.
ถ้ำคอขาด มีลักษณะเป็นเพิงผาเช่นเดียวกับถ้ำพระอีงั่ง จุดที่พบศิลปะถ้ำ คือ บริเวณเพดานหินที่อยู่ในเพิงผา และผนังหินด้านข้างที่อยู่ถัดลงมา โดยภาพบางส่วนมีคราบเกลือขึ้นทับบริเวณภาพทำให้เห็นไม่ค่อยชัดเจน
.
.
เพดานหินภายในถ้ำคอขาดที่พบศิลปะถ้ำ ลักษณะคล้ายจะมีการแบ่งภาพออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ด้านบน และส่วนที่อยู่ด้านล่าง
.
.
ภาพส่วนที่อยู่ด้านบน เป็นการเขียนภาพแบบกลุ่ม เขียนด้วยสีแดง มีลักษณะการเขียนหลายแบบ ที่เห็นได้ชัดคือแบบเงาทึบ (silhouette) เป็นภาพคน 1 ภาพ หันหน้าไปทางด้านซ้าย แสดงท่าทางกางแขนกางขา แสดงลักษณะทางสรีระที่ชัดเจน คือ น่องโตหรือโป่งออกมา ที่บริเวณเอวมีชายผ้าห้อยตกลงมาทั้งสองด้าน เช่นเดียวกับที่ถ้ำพระอีงั่ง และมีลักษณะการเขียนภาพแบบลายเส้นลักษณะเป็นภาพนามธรรมแสดงลวดลายต่างๆ ไว้โดยรอบ
.
.
ภาพส่วนที่อยู่ด้านล่าง เป็นภาพเขียนสีแดง ภาพคน 2 ภาพ ในท่าทางกางแขนกางขา น่องโป่ง ภาพด้านซ้ายเป็นภาพเงาทึบ ภาพด้านขวา เหมือนจะเป็นภาพร่าง มีการระบายสีด้านในจางๆ โดยภาพคนที่ไม่มีศีรษะนี้เป็นที่มาของชื่อถ้ำคอขาดที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกกัน
.
.
ภาพเขียนสีอีกจุดที่อยู่บริเวณผนังหินที่อยู่ถัดลงมา เป็นภาพคน 1 ภาพ เขียนแบบเงาทึบ (silhouette) เขียนด้วยสีแดง โดยในบริเวณนี้มีคราบเกลือขึ้นปกคลุมทั่วทั้งภาพ ทำให้มองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจน
.
.
การพบศิลปะถ้ำกระจายตัวอยู่ตามเพิงผาบนแนวเขา แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของผู้คนในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายออกไปที่อื่น
.
.
กลุ่มศิลปะถ้ำที่พบแสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มิลปะถ้ำที่พบบริเวณถ้ำพระอีงั่ง ที่ปรากฏเป็นภาพสุนัขและขาสัตว์ที่มีกีบเท้า ซึ่งน่าจะสื่อถึงการออกไปหาของป่าล่าสัตว์ โดยอาจมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข เพื่อช่วยในการล่าสัตว์ด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของชุมชนหาของป่าล่าสัตว์ ที่คนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ตามถ้ำหรือเพิงผาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ และมักมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลเพื่อหาอาหารในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน
.
.
ทั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานจากภาพที่พบ อาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดอายุอีกครั้ง
(จำนวนผู้เข้าชม 1512 ครั้ง)