เมืองโบราณบ้านแม่ต้าน
เมืองโบราณบ้านแม่ต้าน
นางสาวนาตยา ภูศรี นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ
เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของรายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีพื้นที่ชุมชนโบราณในเขตจังหวัดตากเพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งเมืองฉอด
.
เมืองโบราณบ้านแม่ต้านตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาริมฝั่งแม่น้ำเมย ในเขตตำบลแม่ต้าน อำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจเมืองโบราณแห่งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น และนายชิน อยู่ดี ได้สำรวจพบว่ามีโบราณสถานที่มีร่องรอยการบูรณะหลายสมัย และโบราณวัตถุที่พบเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นหลัง ซึ่งมีอายุไม่เก่ากว่าสมัยสุโขทัย ในพ.ศ. ๒๕๑๖ หน่วยศิลปากรที่ ๓ ในขณะนั้น (สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย ในปัจจุบัน) ได้สำรวจเมืองโบราณแม่ต้านอีกครั้งหนึ่ง พบว่ามีร่องรอยของกำแพงเมืองที่เป็นคันดิน ด้านทิศตะวันตกมีรอยตัดเนินดินธรรมชาติให้เป็นคูติดกับลำห้วยลึก ซึ่งมีคันเนินดินโค้งอ้อมไปตามเชิงเขาติดลำห้วยลึกไปทางทิศเหนือจรดภูเขา ด้านทิศใต้ของเมืองติดแม่น้ำเมยซึ่งกำแพงเมืองคงพังลงน้ำไปมาก มีโบราณสถานสำคัญ ๖ แห่ง ได้แก่ วัดพระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก วัดห้วยพระธาตุ วัดห้วยลึก วัดริมเมย วัดวังต้อม และวัดสองห้วย
.
ในพ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ กลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย ได้ศึกษาวิจัยชุมชนโบราณในจังหวัดตากเพื่อวิเคราะห์หาตำแหน่งที่ตั้งเมืองฉอด ซึ่งมีงานศึกษาวิจัยในส่วนของเมืองโบราณบ้านแม่ต้านรวมอยู่ด้วย ผลการศึกษาพบว่า บริเวณพื้นที่เมืองโบราณบ้านแม่ต้าน มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะได้พบหลักฐานประเภทขวานหินขัด และเครื่องมือโลหะ แสดงให้เห็นความสำคัญของพื้นที่บริเวณเมืองแม่ต้าน ที่ตั้งอยู่บริเวณลานตะพักแม่น้ำเมย จึงเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เพราะอยู่ไม่ห่างจากลำน้ำและเป็นพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง
ผลการดำเนินงานทางโบราณคดี ได้พบ หลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่าง ๆ ทั้งหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม และหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ในส่วนของหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม พบว่ามีอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนา และเมื่อศึกษาจากโบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผา พบว่าส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัยและแหล่งเตาสันกำแพง และภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาในประเทศจีน ที่กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงสันนิษฐานได้ว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้มีการสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างเนื่องในพุทธศาสนาขึ้นในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ และมีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ดังปรากฏหลักฐานประเภทภาชนะดินเผาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเวียงกาหลง และผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตากอร์ดอน ในเขตรัฐมอญ ประเทศเมียนมา และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น ในประเทศจีน ก่อนที่ชุมชนจะถูกทิ้งร้างไปในช่วงเวลาหลังจากนี้
.
เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนโบราณที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ เวียงยวม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งพร้าว อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินรูปร่างไม่สม่ำเสมอ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยวม ปัจจุบันยังปรากฏคันดินเป็นกำแพงเวียง มีคูน้ำทางด้านทิศตะวันออกและบางส่วนทางทิศใต้ พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนลานตะพักแม่น้ำ เมืองโบราณบ้านแม่ต้าน ตั้งอยู่บนลานตะพักแม่น้ำเมย ขณะที่เมืองยวม ตั้งอยู่บนลานตะพักฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยวม ซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเมย ก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำสาละวิน และไหลออกสู่ทะเลอันดามันที่เมืองท่ามะละแหม่ง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ชุมชนโบราณบริเวณลุ่มน้ำเมย มีความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน เนื่องจาก แม่น้ำเมยเป็นแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำสาละวิน โดยมีต้นกำเนิดในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ไหลตามหุบเขาเป็นแนวยาวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทำหน้าที่เป็นแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนมา ผ่านอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง ในเขตจังหวัดตาก จากนั้นจึงไหลไปบรรจบรวมกับแม่น้ำสาละวินที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนั้นจึงพบว่าวัฒนธรรมของชุมชนบริเวณลุ่มน้ำเมยตอนล่างและลุ่มน้ำสาละวิน เป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน โดยเฉพาะชุมชนในเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณในเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีความสำคัญต่อล้านนา เพราะเป็นช่องทางออกสู่ทะเลของล้านนา โดยใช้เส้นทางจากแม่น้ำสาละวิน ออกสู่ทะเลที่เมืองมะละแหม่ง ความสำคัญของชุมชนโบราณเหล่านี้อาจพิจารณาได้จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของล้านนา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าลก (พระเจ้าติโลกราช) ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองยวมใต้ ซึ่งสันนิษฐานว่า คือ เมืองยวม ในอำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน แสดงว่าเมืองยวมที่อำเภอแม่สะเรียง ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นเมืองชายแดนของล้านนาในขณะนั้น และอำนาจของล้านนาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาจจะครอบคลุมลงมาจนถึงเมืองแม่ต้าน ดังที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุจำนวนมากภายในเมืองโบราณบ้าน
แม่ต้าน
ผลการดำเนินงานทางโบราณคดี แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณบ้านแม่ต้านมีอายุอยู่ในสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ โดยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นช่วงที่มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองแม่ต้านอย่างเบาบาง แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นช่วงที่เมืองโบราณบ้านแม่ต้านเจริญรุ่งเรืองสูงสุด และน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้นด้วย แต่หลังจากช่วงเวลานี้ไปแล้ว ไม่พบว่ามีการอยู่อาศัยที่เมืองโบราณแม่ต้านอีกเลย
.
อ้างอิง :
1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), แม่น้ำเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน [ออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒. เข้าถึงได้จาก http://learn.gistda.or.th/thailandfromthaichote/moei-river/
2. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี (เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘), ๖๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 4444 ครั้ง)