ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 35,154 รายการ
การทอเสื่อญวนในเมืองจันทบุรี
การทอเสื่อเป็นอาชีพดั้งเดิมอีกหนึ่งในหลายอาชีพของชาวญวนที่หอบหิ้วมาพร้อมความเชื่อตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องเสื่อของเมืองจันทบูรไว้ว่ามี ๔ ชนิด คือเสื่อคล้า เสื่อกก (ที่ชาวกรุงเทพฯเรียกว่าเสื่อกระจูด) เสื่อดอกอ้อ และเสื่อกกแดงที่ทำโดยคนญวน
...เสื่อกกแดงนั้น มีแต่พวกญวนทำแห่งเดียว วิธีทำนั้นเอาต้นกกมาจักให้เล็ก ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงย้อมสีต่าง ๆ ตามที่จะให้เป็นลาย สีแดงนั้นย้อมด้วยน้ำฝาง สีดำย้อมด้วยหมึก สีเหลืองย้อมด้วยแกแล บางทีย้อมด้วยขมิ้น สีน้ำเงินย้อมด้วยครามแต่ใช้น้อยแล้วเอาเข้าสดึงทอเปนลายต่าง ๆ เปนเสื่อผืน เสื่อลวด บ้างยาวแต่จะต้องการ กว้างเฉภาะชั่วต้นกก เปนสินค้าออกนอกเมือง เสื่อลวดประมาณ ๓๐๐๐ ลวด ราคาลวดละ ๖ สลึง เสื่อผืนนั้นออกน้อย เปนแต่ของกำนันแลของแจกราคาผืนหนึ่งตั้งแต่สลึงจนถึงบาท ตามแต่งามไม่งาม...
เสื่อที่ทอด้วยกกแดงจะแตกต่างจากเสื่อของชาวชอง คนพื้นเมืองที่ทำจากต้นคลุ้มและคล้า ที่หาได้จากบนเขาสระบาป ส่วนกกจะอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย เราเรียกเสื่อกกแดงว่า เสื่อแม่ชี เสื่ออาราม หรือเสื่อญวนอพยพ
จากเอกสารจดหมายเหตุได้ระบุว่าใน พ.ศ.
๒๔๖๒ รัฐบาลสยาม ได้ไปร่วมจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เมืองแซนฟรานซิสโก ประเทศอเมริกา ให้จัดส่งสินค้าพื้นเมืองแต่ละเมืองไปร่วมด้วย ในบรรดาสินค้าที่ส่งไปร่วมประกวดหลากหลายชนิดนั้น พระยาตรังคภูมาภิบาล สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ต้องการมีเสื่อกกไปร่วมจัดแสดงและประกวดด้วย จึงสั่งการไปยังซิสเตอร์ที่อารามจัดทำเสื่อกก เสื่อกกที่ส่งไปมี เสื่อกกยกดอกตราอาร์ม เสื่อกกยกดอกหน้าสัตว์ เสื่อกกยกดอกตราครุฑ และเสื่อกกธรรมดา และเสื่อกกที่ส่งไปได้รับเหรียญเกียรติยศพร้อมประกาศนียบัตร
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงมหาดไทย ต้องการร่วมแสดงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ที่เมืองเรไยนาประเทศแคนาดาอีก จึงให้มณฑลจันทบุรี จัดส่ง “เสื่อ” โดยระบุให้ว่าจ้างช่างที่มีฝีมือดีในสำนักชีของวัดโรมันคาธอลิกจันทบุรี เป็นคนทำ พร้อมระบุขนาดและสีตามบัญชีว่าต้องเป็นลายตาหมากรุก
หลวงสาครเชตต์ อดีตนายอำเภอมะขาม ได้เขียนถึงการทำเสื่อของคนญวนในจดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรีว่า
...การทำเสื่อญวนนั้น ตามธรรมดานับว่าคนเชื้อญวนนับว่าเป็นผู้มีความชำนิ ชำนาญ ในการพลิกแพลงจัดทำยิ่งกว่าบุคคลชาติไทยด้วยกัน ยิ่งพวกนางชีแห่งสำนักโรมันคาทอลิกด้วย ก็เกือบจะต้องนับว่ามีความรู้ความชำนาญมากที่สุด ฉะนั้น เสื่อจันทบุรี ที่มีลวดลายลักษณะดอกดวงงดงามหรือจะเป็นภาพสัตว์ต่าง ๆ จนแม้ที่สุดจะประดิษฐ์เป็นตราอาร์มของรัฐบาล ดังเช่น รูปช้าง รูปครุฑ เหล่านี้เขาจะทำได้เป็นอย่างดี...ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจดหมายเหตุที่ได้กล่าวมาแล้ว
ต่อมาเสื่อญวนอพยพได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการทอเสื่อของซิสเตอร์ที่อารามฟาติมา และต่อมาได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงงานทอเสื่อขึ้นที่สวนบ้านแก้ว เรียกกันว่า “เสื่อสมเด็จ” เสื่อสมเด็จได้พัฒนารูปแบบจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
...เนื่องจากพระอนุชาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้นำเทคนิคการย้อมโดยใช้สีทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้ออกแบบให้เป็นเครื่องใช้ที่สวยงามน่าใช้มากขึ้น...(สัมภาษณ์ นายเชื้อชาย ทิพยสมบัติ,๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒)
ปัจจุบันการทอเสื่อกกแบบของญวนได้รับการส่งเสริมจนกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอีกทั้งได้มีการพัฒนาต้นกกในน้ำกร่อยให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการในจังหวัดจันทบุรี
ผู้เขียน
สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี
นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
เอกสารอ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี.(๑๓)มท ๒.๒.๔/๑๖ เอกสารกระทรวงมหาดไทยชุดมณฑลจันทบุรี.เรื่องกระทรวงมหาดไทยสั่งให้จัดทำยานพาหนะต่าง ๆ ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ(๑๑ พ.ค.๒๔๕๗-๒ มิ.ย.๒๔๖๒)