...

โบราณสถานวัดป่าหนองคัน

********โบราณสถานวัดป่าหนองคัน*********

------โบราณสถานวัดป่าหนองคัน ตั้งอยู่ที่บ้านสว่าง ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร สภาพของโบราณสถานตั้งอยู่กลางป่าชุมชน พื้นที่โดยรอบเป็นที่นาโล่ง บนที่ราบลุ่มริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำชี มีลำห้วยขั้นไดใหญ่ไหลผ่านทางตะวันตก

------โบราณสถานได้รับการบูรณะแล้วตามหลักวิชาการโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ สภาพของโบราณสถานมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๗ เมตร สูงจากพื้นดินโดยรอบประมาณ ๓ เมตร หันไปทางทิศตะวันออก ห่างออกไปทางตะวันออกประมาณ ๒๐ เมตร มีบ่อน้ำก่ออิฐถือปูนรูปวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร

------ลักษณะของอาคารประกอบด้วย ฐาน ๒ ชุด ฐานด้านล่างเป็นหน้ากระดานซ้อนชั้นลดหลั่นกันรองรับชุดฐานบัวลูกฟักขนาดเล็ก ฐานด้านบนเป็นชุดฐานขนาดใหญ่ประกอบด้วยบัวคว่ำ ท้องไม้ บัวหงายและบัวคว่ำ เพื่อรองรับผนังอาคาร ลักษณะพิเศษของฐานขนาดใหญ่ คือ ปูนปั้นมุมของฐานบัวให้มีปลายแหลมตวัดขึ้นซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปกรรมแบบลาวล้านช้างเวียงจันทน์(ที่ได้รับแรงบันดาลใจต่อเนื่องมาจากล้านช้างหลวงพระบาง) อาคารเป็นอาคาร ๒ ห้อง แบ่งเป็น ๒ ส่วน ห้องด้านหน้าเป็นผนังเตี้ย และห้องด้านหลังเป็นผนังสูงทั้ง ๓ ด้าน โดยยังปรากฏเสาไม้ที่มุมทั้งสี่และที่กึ่งกลางของผนังทั้งสองข้าง มีร่องสำหรับประดับแขนนาง หรือคันทวยตรงกับเสาข้างละ ๓ ร่อง โดยรอบอาคารปรากฏการปักใบเสมาขนาดเล็กซ้อนกัน ๔ ใบ ที่ทิศทั้งแปด ส่วนหลังคาไม่ปรากฏหลักฐานจึงออกแบบขึ้นมาใหม่เพื่อให้คลุมอาคารโบราณสถาน และมีพื้นที่ใช้สอยโดยรอบเล็กน้อย จากลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่าอาคารโบราณสถานหลังนี้ คือ อุโบสถ(สิม)โปร่ง แบบไม่มีเสารองรับปีกนก

------อายุสมัยจากการพิจารณาจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมพบว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบของศิลปะล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แต่ทั้งนี้ อุโบสถ(สิม)หลังนี้ เชื่อว่าไม่ได้ก่อสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว แต่น่าจะสร้างในช่วงเวลาที่หลังลงมา เนื่องจากการรับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมและพบว่าวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มนิยมก่อสร้างอาคารกลุ่มนี้น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา

อ้างอิงจาก

๑. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. (๒๕๕๖). รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดป่าหนองคัน บ้านสว่าง ตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร(เอกสารอัดสำเนา).

๒. วิโรฒ ศรีสุโร. (๒๕๓๖). สิมอีสาน = Isan Sim : Northeast Buddhist holy temples. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้า.

----นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ เรียบเรียง

 

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1045 ครั้ง)


Messenger