...

นางชุติมา จันทร์เทศ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พร้อมด้วยนายชำนาญ กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถานปราสาทกู่ศิลา

วันอังคารที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓ นางชุติมา จันทร์เทศ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พร้อมด้วยนายชำนาญ กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถานปราสาทกู่ศิลา ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

ปราสาทกู่ศิลา ตั้งอยู่ในเขตตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นธรรมศาลา หรือศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
แห่งอาณาจักรเขมร (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) ซึ่งปรากฏข้อความตามหลักศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์
ในประเทศกัมพูชา พระองค์ทรงโปรดให้สร้างธรรมศาลาขึ้นตามเส้นทางถนนโบราณเส้นต่าง ๆ เป็นจำนวน ๑๒๑ แห่ง โดยพบหลักฐานธรรมศาลา ตามเส้นทางจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย จำนวน ๑๗ แห่ง
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทกู่ศิลา ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ ตอนที่ ๓๔ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๙ สภาพปัจจุบัน อยู่ในสภาพพังทลาย คงเหลือหลักฐานให้เห็นได้ชัดเจนที่สุด ที่ส่วนผนังด้านทิศใต้ การศึกษาเปรียบเทียบกับสิ่งก่อสร้างรูปแบบเดียวกัน พบว่าลักษณะแผนผังของโบราณสถานปราสาทกู่ศิลา เป็นสิ่งก่อสร้างหลังเดียว หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่มีแนวกำแพงล้อมรอบ รูปแบบของสิ่งก่อสร้างประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ด้านหลังเป็นตัวปราสาท บริเวณด้านทิศตะวันออกของปราสาท มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งสร้างเชื่อมต่อจากตัวปราสาท ประตูทางเข้ามีสองทาง ได้แก่ ทางด้านหน้าด้านทิศตะวันออกของอาคารและทางด้านหลังด้านทิศตะวันตกของปราสาท สิ่งก่อสร้างทั้งหมดใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง

ข้อมูลโดย : นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา

(จำนวนผู้เข้าชม 1802 ครั้ง)