...

วันอังคารที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓ นางชุติมา จันทร์เทศ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พร้อมด้วยนายชำนาญ กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถานปราสาทห้วยแคน
วันอังคารที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓ นางชุติมา จันทร์เทศ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พร้อมด้วยนายชำนาญ กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถานปราสาทห้วยแคน บ้านห้วยแคน ตำบลห้วยแคน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทห้วยแคน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 บ้านห้วยแคน ตำบลห้วยแคน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่พิกัดกริด UTM WGS 1984 Datum โซน 48P 0254078.35 E 1657398.85 N พิกัด MGRS 48PTB 541574 รุ้ง 14 องศา 58 ลิปดา 48.52 ฟิลิปดา เหนือ แวง 102 องศา 42 ลิปดา 47.72 ฟิลิปดา ตะวันออก (แผนที่ทหาร ประเทศไทย มาตราส่วน 1 : 50,000 WGS 84 อำเภอห้วยแถลง พิมพ์ครั้งที่ 1 – RTSD ลำดับชุด L 7018 ระวาง 5538 IV) ปราสาทห้วยแคน ได้รับการขุดแต่ง ขุดค้นศึกษา เมื่อพุทธศักราช 2545 และได้รับการบูรณะ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เมื่อพุทธศักราช 2546 กรมศิลปากร อยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปราสาทห้วยแคนเป็นโบราณสถานประเภทธรรมศาลา หรือศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร (พ.ศ.1724 - 1761) สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งปรากฏข้อความตามหลักศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ในประเทศกัมพูชา พระองค์ทรงโปรดให้สร้างธรรมศาลาขึ้นตามเส้นทางถนนโบราณเส้นต่าง ๆ เป็นจำนวน 121 แห่ง การสำรวจศึกษาตลอดเส้นทางสำคัญสายหนึ่งคือ สายตะวันตกเฉียงเหนือ ต่อเนื่องตั้งแต่เมืองพระนครจนถึงเมืองพิมาย โดยผ่านทางช่องปราสาทตาเมือน ได้พบอาคารที่พักคนเดินทาง หรือ ที่เรียกว่าธรรมศาลา หรือบ้านมีไฟ จำนวน 18 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา 9 แห่ง และพบในเขตประเทศไทย 9 แห่ง เส้นทางที่ตัดตรงมาจากเมืองพระนครนี้ ในปัจจุบันยังปรากฏสิ่งก่อสร้างสำคัญในเขตกัมพูชา คือ สะพานข้ามลำน้ำก่อด้วยศิลาแลง และปราสาทหินอีกหลายแห่ง ลักษณะแผนผังของปราสาทห้วยแคน เป็นสิ่งก่อสร้างหลังเดียว แผนผังโดยรวมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8.50 เมตร ขนาดยาว 18.50 เมตร หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่มีแนวกำแพงล้อมรอบ รูปแบบของสิ่งก่อสร้างประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ด้านหลังเป็นตัวปราสาท บริเวณด้านทิศตะวันออกของปราสาท มีห้องมุขยาวหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งสร้างเชื่อมต่อจากตัวปราสาท ห้องมุขยาวนี้มีหน้าต่างที่ผนังด้านทิศใต้ 5 ช่อง ส่วนผนังด้านทิศเหนือก่อทึบ ด้านทิศตะวันตกของปราสาทมีประตูทางเข้า ส่วนด้านทิศตะวันออกของห้องมุขยาวก็เป็นตำแหน่งของประตูทางเข้าเช่นกัน แต่สภาพปัจจุบันพังทลายลงแล้ว สิ่งก่อสร้างทั้งหมดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างและมีหินทรายสีขาว หินทรายสีแดงเป็นส่วนประกอบ ภายในปราสาทเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมปูศิลาแลงเป็นพื้น ส่วนภายในห้องมุขยาวปูศิลาแลงเป็นพื้นและวางเรียงหินทรายสีแดงเป็นแท่นวางประติมากรรมรูปเคารพ สภาพปัจจุบันของปราสาทห้วยแคนคงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐานและส่วนผนังของอาคารเท่านั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไป ได้แก่ชั้นหลังคาของห้องมุขยาว ชั้นวิมานของปราสาท ได้พังทลายลงจนหมด ซึ่งหากปราสาทห้วยแคนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จะสามารถเห็นภาพของปราสาทหิน 1 หลัง ตามรูปแบบของปราสาทหินทั่วไป และมีห้องมุขยาวที่มีหลังคาทรงโค้งเชื่อมต่ออยู่ทางด้านหน้า ในระหว่างการดำเนินงานขุดแต่ง ขุดค้นศึกษา เมื่อพุทธศักราช 2545 และการบูรณะ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เมื่อพุทธศักราช 2546 ได้พบหลักฐานชิ้นส่วนบัวยอดของปราสาท ลักษณะเป็นรูปบัวกลมซ้อนกันเป็นชั้น จำนวน 4 ชั้น ประกอบด้วยหินทรายทรงสามเหลี่ยมและทรงสี่เหลี่ยม สลักลวดลายเป็นรูปกลีบบัว หินส่วนนี้ไม่สามารถนำขึ้นวางเรียงติดตั้งบนปราสาทได้ เนื่องจากหินส่วนหลังคาหรือชั้นวิมานของปราสาทได้พังทลายลงหมดแล้ว จึงไม่มีหินรองรับส่วนบัวยอดได้ ข้อมูลโดย : นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา

(จำนวนผู้เข้าชม 1115 ครั้ง)


Messenger