...

สำรวจเตาเผาภาชนะในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ย่านอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
"ลัดเลาะสำรวจเตาเผาภาชนะในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ย่านอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์"
 
 
 
จากการสำรวจแหล่งเตาเผาภาชนะ ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ พื้นที่ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า แหล่งโบราณคดี ประเภท เตาเผาโบราณ จะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นโนนดินขนาดใหญ่ รูปทรงกลม หรือรี 
 
หลักฐานทางโบราณคดีที่มักพบจากแหล่งเตาเผาภาชนะ ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แน่นอนว่าหัวใจของแหล่งเตาเผาภาชนะโบราณ เราต้องพบ (1) ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ตกเเต่งด้วยวิธีการเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาล เเละเคลือบน้ำเคลือบสีเขียว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของเตา ใช้อุณหภูมิประมาณ 1,200-1,300 ปีมาเเล้ว (2) กี๋เม็ด เเละ (3) ร่องรอยโครงสร้างเตาเผาที่มีลักษณะเป็นก้อนดินเผาไฟขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นผนังเตา ซึ่งจะแตกต่างจากแหล่งโบราณคดี ประเภท แหล่งถลุงเหล็ก เพราะไม่พบร่องรอยขี้แร่ (slag) ท่อลม (tuyère) หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถลุงเหล็ก 
 
สำหรับ กี๋เม็ด มีลักษณะเป็นก้อนดินปั้นด้วยมือ มีรูปทรงกลม หรือเกือบกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-5 เซนติเมตร โดยยิ่งเตาเผามีขนาดใหญ่ เราจะยิ่งพบกี๋เม็ดเป็นจำนวนมาก จากร่องรอยกี๋เม็ดที่พบบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา พบว่า กี๋เม็ดจะถูกวางอยู่บริเวณก้นหรือขอบของภาชนะ เพื่อให้ภาชนะเกิดช่องว่าง เเละเมื่อเวลาเผาน้ำเคลือบเเต่ละใบ จะไม่ไหลเชื่อมติดกัน คนโบราณจึงได้ภาชนะที่มีความสมบูรณ์ ไม่ติดกันจนเป็นของเสีย
 
สำหรับผลิตภัณฑ์ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านกรวด ถูกพบกระจายหลายเมืองโบราณในดินเเดนไทย ที่ปรากฏร่องรอยวัฒนธรรมเขมรโบราณ อาทิ เมืองพิมาย เมืองสุโขทัย เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เเละศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่ถูกสร้างขึ้นเเละใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าว
 
ที่ผ่านมากรมศิลปากรกำหนดอายุสมัยเตาผลิตภาชนะดินเผา ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 ทั้งนี้ การกำหนดอายุดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียง สืบเนื่องมาจากอุปกรณ์เเละเครื่องมือในอดีตที่ยังไม่ทันสมัยนัก การกำหนดอายุจึงเป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ที่ทำให้เกิดโครงการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง ในประเทศไทย โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร ขึ้นในครั้งนี้ 
 
จากจำนวนแหล่งโบราณคดี ประเภท เตาเผาภาชนะ ในวัฒนธรรมโบราณ สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรเขมรโบราณแผ่อิทธิพลเข้ามายังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงของดินเเดนไทย คงเป็นพื้นที่ผลิตภาชนะดินเผาที่ตกแต่งด้วยวิธีการเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาล และเคลือบน้ำเคลือบสีเขียว ในระดับอุตสาหกรรม ของวัฒนธรรมเขมรโบราณ 
 
ถ้าทุกท่านอยากชมแหล่งเตาโบราณที่ขุดศึกษาทางโบราณคดี มีอาคารหลังคาคลุมเรียบร้อยแล้ว ก็ขอเชิญชวนมาชม แหล่งเตาโบราณนายเจียน และแหล่งเตาโบราณสวาย ที่อำเภอบ้านกรวด แดนดินถิ่นเตาโบราณในวัฒนธรรมเขมรโบราณ กันได้นะครับ
 
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ
1) กรมศิลปากร. เครื่องถ้วยลพบุรีจากแหล่งเตาเผาบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2532.
2) รัชนก โตสุพันธุ์ เเละสถาพร เที่ยงธรรม. โบราณคดีวิเคราะห์ 2 : เครื่องถ้วยบุรีรัมย์และเครื่องถ้วยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. 2539.
สัมภาษณ์
1) นายสุรพล เทวัญรัมย์. รองฯประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวด. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566
2) นางสาวอิสราวรรณ อยู่ป้อม นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566
"โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นสมบัติของชาติ ต้องช่วยกันรักษาไว้"
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

(จำนวนผู้เข้าชม 533 ครั้ง)