...

ปราสาทแก้ว หรือ ปราสาทพระปืด #คันธกุฎีแบบล้านนาในเขตเขมรป่าดง

ปราสาทแก้ว หรือ ปราสาทพระปืด #คันธกุฎีแบบล้านนาในเขตเขมรป่าดง

ปราสาทแก้ว หรือ ปราสาทพระปืด ตั้งอยู่ภายในวัดปราสาทแก้ว ในเขตคูน้ำคันดินด้านทิศตะวันออกของเมืองโบราณบ้านพระปืด ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ มีคูน้ำล้อมรอบ ๒ ชั้น กำหนดอายุอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

มีลักษณะเป็นอาคารโปร่ง รูปสี่เหลียมผืนผ้า มีขนาด กว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๔.๕๐ เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าคือทิศตะวันออก ๒ บันได (ซ้าย-ขวา) ฐานยกสูงประมาณ ๑.๖๐ เมตร ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง เหนือขึ้นไปก่อด้วยอิฐสอดิน แต่ยังมีบางส่วนที่มีศิลาแลงประกอบ อิฐที่ใช้ลักษณะการก่อเป็นแบบ English bond คือแบบที่ใช้ด้านกว้างและยาวของอิฐก่อสลับชั้นกัน และในส่วนบนของฐานบางด้านปรากฏร่องรอยอิฐปาดมุม ลักษณะจงใจตกแต่งเป็นเส้นลวดบัวของชุดฐาน มีโครงสร้างไม้โดยรอบอาคารรองรับหลังคา โครงสร้างหลังคาเป็นโครงไม้มุงสังกะสีลดหลั่นซ้อนกัน ๒ ชั้น ชาวบ้านเล่าว่าแต่เดิมส่วนหลังคาเคยมุงด้วยแป้นเกล็ดหรือกระเบื้องไม้ นอกจากนี้ ยังมีช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยไม้ประดับอยู่บนหลังคาด้วย (แต่ปัจจุบันได้ผุพังหมดแล้ว)

ด้านในสุดของอาคารก่ออิฐเป็นซุ้มคันธกุฎีทรงปราสาทย่อมุมไม้สิบสอง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดกว้างและยาวด้านละ ๒.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๔.๕๐ เมตร ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) มีการฉาบปูนปิดทับ ส่วนด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) ยังปรากฏสภาพดั้งเดิมว่าเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ คือ ประกอบด้วยบัวคว่ำ ท้องไม้ที่คาดประดับด้วยแถบนูนเป็นสัน และบัวหงายตามลำดับ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง มีบัวเชิง และบัวรัดเกล้า ประดับที่มุมส่วนล่างและส่วนบนของเรือนธาตุ ด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) มีช่องคูหาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (พระปืด) พื้นผนังเรียบเพราะฉาบด้วยปูนซีเมนต์สมัยใหม่ ส่วนผนังด้านอื่นๆ เป็นผนังทึบเรียบ ยังปรากฏร่องรอยการฉาบปูนแบบเก่า และภายในปราสาทยังปรากฏร่องรอยโครงสร้างไม้ที่เป็นคานด้วย เครื่องบนมีลักษณะเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป สภาพชำรุด

แต่เดิมเข้าใจว่าจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทแก้ว โดยส่วนของตัวปราสาทน่าจะสร้างขึ้นมาก่อน ต่อมาจึงมีการสร้างอาคารที่มีหลังคาเครื่องไม้คลุมทับลงไปในภายหลัง แต่จากการศึกษาพบว่าอาคารทั้งหมดก่อสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ๒๔ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมล้านช้าง ในรูปแบบที่เป็นวิหารโถงที่ก่อซุ้มพระเป็นอุบมุงหรือคันธกุฎีทรงปราสาทบรรจุพระพุทธรูปไว้ภายใน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมล้านนาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งพบได้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ไม่ค่อยพบโบราณสถานรูปแบบนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างนอกพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำมูล แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชุมชนในวัฒนธรรมล้างช้าง หรือพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัยกับวัฒนธรรมอยุธยาที่รับวัฒนธรรมล้านช้าง ที่ย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในพื้นที่อีสานตอนล่างในพื้นที่เขมรป่าดงที่เป็นชุมชนชาวเขมรที่รับวัฒนธรรมอยุธยา ก่อนที่บ้านพระปืดจะกลายเป็นชุมชนเชื้อสายเขมรในปัจจุบัน

โดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ

เอกสารอ้างอิง

-กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจแหล่งเมืองโบราณบ้านพระปืด ต.เขวาสินรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์. โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร เล่ม ๒๑/๒๕๒๖. (เอกสารอัดสำเนา), ๒๕๒๖.

-สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๙ นครราชสีมา. รายงานประกอบการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทแก้ว บ้านพระปืด ตำบลบ้านแร่ กิ่ง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์. (เอกสารอัดสำเนา), ๒๕๔๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 1097 ครั้ง)