ตราประทับงาช้างรูปโคอุสุภราช : ดวงตราประจำเมืองน่าน
---เรื่อง “ตราประทับงาช้างรูปโคอุสุภราช : ดวงตราประจำเมืองน่าน”
-----ตราประทับรูปโคอุสุภราช เป็นตราประทับรูปทรงกลม ทำจากงาช้าง กลึงเป็นทรงกระบอกกลม ส่วนด้ามจับ หรือส่วนยอดกลมมน (สันนิษฐานว่าในอดีตเป็นยอดหัวเม็ดซึ่งสามารถถอดประกอบได้) ส่วนที่เป็นเครื่องหมาย หรือบริเวณด้านหน้าของตราเป็นรูปวงกลมแกะสลักเป็นลวดลายเส้นนูนรูปโคอุสุภราชทรงเครื่องยืนบนแท่น ล้อมรอบด้วยลายช่อกนกเปลวประกอบพื้นช่องไฟ ด้านล่างแท่นตกแต่งด้วยลายเมฆ ดวงตรานี้เป็นตราที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ – ๒๔๖๑ ทรงใช้เป็นตราเมืองสำหรับประทับในหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และประทับในหนังสือราชการงานเมืองต่างๆ
-----นอกจากนี้รูปโคอุสุภราชยังปรากฏที่หน้าบันของหอคำนครน่าน โดยหน้าบันหอคำทั้ง ๓ ด้าน ประดับไม้สลักลวดลายลายรูปพญานาคสองตัว หันหน้าตรงข้ามกัน ส่วนหางเกี้ยวรัดกันขึ้นไปตรงกลาง ล้อมรอบด้วยลายช่อกนกประกอบพื้นช่องไฟ ส่วนตรงกลางระหว่างพญานาคเป็นรูปโคอุสุภราชในกรอบวงกลมซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำนครน่าน หอคำเมืองน่าน สร้างขึ้นเมือปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่าน จึงสร้างหอคำสำหรับประดับเกียรติยศ ขึ้นแทนหอคำเดิม โดยหอคำหลังนี้ในปัจจุบันคืออาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ซึ่งหน้าบันหอคำนี้สัมพันธ์กับตราประทับรูปโคอุสุภราช
-----ตราประจำจังหวัดน่าน ตราประจำจังหวัดน่านเป็นภาพโคอุสุภราชยืนแท่น มีพระธาตุเจดีย์แช่แห้งประดิษฐานอยู่บนหลัง ขอบตราเป็นลายกระหนก พระธาตุบนหลังโคอุสุภราช หมายถึง พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตราประจำจังหวัดน่าน ความหมายของตราเมือง มีตำนานเล่าว่า สมัยพญาผากอง มีดำริจะสร้างเมืองน่านยังสถานที่ใหม่ ครั้งราตรีหนึ่งพระองค์ทรงสุบินนิมิตเห็นโคอุสุภราชวิ่งมาจากป่าทางตะวันออก ข้ามแม่น้ำน่านไปทางทิศตะวันตก แล้วถ่ายมูลไว้รอบบริเวณแห่งนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นก็อันตธานลับไป เมื่อพระองค์ตื่นบรรทมปรากฏว่า มีเหตุการณ์ตามที่ได้สุบินดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นศุภนิมิตหมายอันสำคัญ ประกอบกับพระองค์จะย้ายเมืองมายังที่ตั้งจังหวัดน่านปัจจุบันด้วย พระองค์จึงให้ก่อกำแพงเมืองทอดตามรอยมูลโคอุสุภราชที่ถ่ายไว้ และจึงใช้โคอุสุภราชเป็นตราประจำเมือง
----คำว่า อุสุภ มีความหมายถึง วัวตัวผู้ คำว่า อุสุภราช มีความหมายถึง พญาวัว หรือราชาแห่งโคทั้งปวง (เป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถของบุรุษผู้นักรบ) ซึ่งทำให้โคอุสุภราชถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งแทนในความหมายต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไป
-----โคอุสุภราช ปรากฏในตำราวัวความว่า มีกายสีดำทั้งตัว มีส่วนด่าง ๗ ตำแหน่ง ได้แก่ หน้า หนอก หาง และเท้าทั้ง ๔ วัวที่มีลักษณะดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นยอดของวัวทั้งปวง หรือพญาของวัวทั้งปวง เป็นตระกูลใหญ่เหนือวัวในตระกูลอื่น
-----คำว่าอุสุภราชปรากฏใน ในตำนาน หรือเทวปกรณ์ต่างๆ ดังเช่น กล่าวถึงโคอุศุภราช เป็นชื่อของพญาวัวที่เป็นพาหนะของพระศิวะ หรือพระอิศวร และยังเป็นพาหนะของพระศุกร์ ในตำนานเทวกำเนิดพระศุกร์เองเกิดจากโคอุสุภราช
-----บนดวงตราสัญลักษณ์รูปโคอุสุภราชถูกนำไปใช้ด้วย กล่าวคือ ดวงตราพระยาพลเทพ (เกษตราธิการ) ซึ่งเป็นดวงตราพระโคอุศุภราช หรือตราไพศุภราช ใช้ในการพระราชทานที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างที่พระมหากษัตริย์พระราชทานอุทิศผลประโยชน์แก่วัด หรือศาสนา (กัลปนา) (สำหรับใช้ไปด้วยพระราชทานที่กัลปนา) และตรากรมปศุสัตว์ เป็นรูปวงกลม ล้อมรอบกึ่งกลางมีรูปโคอสุภราช (เผือกคู่) มีนามว่า พระนนทิ ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จตุบาท และม้าฉันท์ เป็นม้าขาวคู่บารมีของพระพุทธเจ้า
-----นอกจากนี้ยังปรากฏในงานวรรณกรรม วรรณคดี เช่น พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น ทั้งนี้ยังปรากฏในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอีกด้วย
-----โคอุสุภราชปรากฏในลายมงคล ๑๐๘ ประการบนรอยพระพุทธบาท ชื่อ อุสภราช ซึ่งเป็นพระยาในหมู่โคจำนวนร้อย โดยคุณสมบัติของโคอุสุภราชเปรียบดังโลกุตรธรรม ๙
-----โคอุสุภราชกับสระอโนดาต ในวรรณกรรมกลุ่มโลกศาสตร์มีการกล่าวถึงสระอโนดาต ถือเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ประจำชมพูทวีป เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสำคัญผ่านทางมุขปากสัตว์ทั้งสี่ คือ ช้าง สิงห์ โค (อุสุภมุข) และม้า
-----โคอุสุภราชใน “อัฏฐพิธมงคล” หรือมงคล ๘ ประการ ได้แก่ ๑. อุณหิส หรือ กรอบหน้า ๒. คทา หรือ กระบอง ๓. สังข์ ๔. จักร ๕. ธงชัย ๖. อังกุศ หรือ ขอช้าง ๗. โคอุสภ ๘. กุมภ์ หรือ หม้อน้ำ สัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการนี้เป็นความเชื่อที่คนไทยแต่โบราณได้รับคติมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยสิ่งที่เป็นมงคลทั้งแปดนี้ มีความสัมพันธ์เนื่องในพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
-----รูปโคอุสุภราช ที่ปรากฏบนตราประทับงาช้างที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ใช้เป็นตราเมืองสำหรับประทับในหนังสือราชการงานเมืองต่างๆ นั้นสันนิษฐานว่ามาจากประวัติ หรือตำนานเมือง ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับปฐมเหตุของการสร้างบ้านแปงเมืองน่าน ซึ่งรูปโคอุสุภราชนั้นยังปรากฏที่หน้าบันหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครน่าน ทั้งนี้เมื่อมีการออกแบบดวงตราประจำจังหวัดน่านรูปโคอุสุภราชยังถูกนำไปใช้เป็น สัญลักษณ์ หรือสิ่งที่แสดงถึงความเป็นจังหวัดน่านอีกด้วย
-----คำว่าอุสุภราช มีความหมายถึงพญาวัว หรือราชาแห่งโคทั้งปวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นศิริมงคล หรือสัตว์มงคล จากหลักฐานทาประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่า วัวเป็นสัตว์ที่มนุษย์ใช้แรงงานทั้งภาคเกษตรกรรม เป็นพาหนะ เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อ และนม นอกจากนี้ยังเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และการแข่งขันในเกมกีฬา นอกจากนี้วัวยังมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา และพิธีกรรม ซึ่งยังปรากฏในงานวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน บทละคร การแสดง นาฏศิลป์ การเปรียบเทียบในสำนวนสุภาษิต รวมทั้งสร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมอันหลากหลาย ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัวมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
-----เอกสารอ้างอิง
จตุพร บุญประเสริฐ. การวิเคราะห์ตำราวัว. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๖.
ผาสุก อินทราวุธ, ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพ : โรงพิมพ์อักษรสมัย. ๒๕๔๒.
วรรณกวี โพธะ.“รอยพระพุทธบาทในศิลปะร่วมสมัยไทย : กรณีศึกษาพิชัย นิรันต์ และพัดยศ พุทธเจริญ”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๖.
ศิลปากร, กรม. ตราประจำจังหวัด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๔๒.
สุพร ประเสริฐราชกิจ. รวมประวัติสัญลักษณ์จังหวัดของประเทศและตราประจำสถาบันต่างๆ ที่น่ารู้. กรุงเทพฯ : บำรุงสาสน์. ๒๕๓๒.
อิสรกุล คงธนะ. อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่ปรากฏบนตราลัญจกร สมัยอยุธยาถึงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๕.
เอกสารออนไลน์
สาคร พิพวนนอก. ตราประจำจังหวัด. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เข้าถึงได้โดย https://www.nat.go.th/.../-1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-11-12-13...
(จำนวนผู้เข้าชม 11465 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน