...

"งานหินๆ ที่หินเหมือนกัน...กว่าจะย้ายได้"

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา

27 เมษายน 2020  · 

"งานหินๆ ที่หินเหมือนกัน...กว่าจะย้ายได้"

ในระหว่างการเคลื่อนย้ายทับหลัง 3 ชิ้น ที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดี ณ ปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2545 ไปไว้ในจุดที่กำหนดไว้ ห่างกันประมาณ 10 เมตร ก่อนจะนำไปเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ต่อไป ซึ่งต้องใช้แรงงานคนถึง 6 คน เพื่อเคลื่อนย้ายทับหลังเหล่านี้ โดยใช้ท่อนเหล็กทรงกลม รองและนำทับหลังมาตั้งไว้ด้านบน ก่อนจะเคลื่อนไปเรื่อยๆ คงคล้ายกับเทคนิคการเคลื่อนย้ายในอดีต ทำให้ผู้เขียนเริ่มตระหนักได้จริงๆถึงกำลังคนที่ต้องใช้ในการสร้างปราสาทจริงๆ ที่หลังหนึ่งคงต้องใช้เวลานานหลายปี และใช้กำลังคนมหาศาล นี่ไม่รวมถึงทรัพยากรสำคัญอย่างหินทราย ที่ต้องนำเข้ามาเพื่อใช้ในการสร้างปราสาทหรือศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยหินทรายที่พบจากปราสาทหนองหงส์นี้ เป็นหินทรายสีเทา แล้วปราสาทหนองหงส์นี้นำเข้าหินทรายมาจากบริเวณกันใดกันนะ ?

.

จากฐานข้อมูลสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พบว่าใกล้กับปราสาทหนองหงส์ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร พบแหล่งตัดหินทรายสีเทาด้วย โดยใช้ชื่อว่าแหล่งตัดหินบ้านโคกขี้เหล็ก โดยตั้งอยู่ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์

.

แหล่งผลิตหินทรายอีกแหล่งหนึ่ง เป็นแหล่งใหญ่ใหญ่ที่ปรากกฏร่องรอยให้เห็น ตั้งห่างจากปราสาทหนองหงส์ไปทางด้านทิศตะวันออก ขนานไปกับเทือกเขาพนมดงรัก ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร นั่นคือ แหล่งตัดหินบ้านกรวด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบร่องรอยการเซาะร่องเป็นแนว กระเทาะ ตัด หินทรายสีเทา กระจายตัวอยู่ในพื้นที่กว่า 810 ไร่ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศและกำหนดขอบเขตโบราณสถานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าแหล่งตัดหินบ้านกรวดนี้คงเป็นแหล่งผลิตหินทรายให้กับการสร้างปราสาทหินในบริเวณใกล้เคียง หลายแหล่ง อาทิ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ

.

สำหรับการเคลื่อนย้ายหินนั้น สันนิษฐานว่าคงเคลื่อนย้ายมาทางบกเท่านั้น เพราะไม่มีเส้นทางน้ำเชื่อมโยงถึงกัน

.

ในอนาคตหากมีการนำตัวอย่างหินไปหาองค์ประกอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างวิธีศิลาวรรณาแล้ว คงจะช่วยเพิ่มเติมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทแห่งนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

.

- ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร www.gis.finearts.go.th

ชวนคิดโดย วรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

 

(จำนวนผู้เข้าชม 656 ครั้ง)


Messenger