...

"กระแสการทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างแดนกับทับหลังปราสาทหนองหงส์"

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา อยู่ที่ ปราสาทหนองหงส์

25 เมษายน 2020  · Ban Som Poi  · 

"กระแสการทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างแดนกับทับหลังปราสาทหนองหงส์"

.

#ทับบหลังปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ กลับมามีกระแสอีกครั้ง เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยมีรมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน โดยทับหลังของปราสาทด้านทิศใต้ เป็นโบราณวัตถุ 1 ใน 124 รายการ ที่กระทรวงวัฒนธรรมตั้งเป้าทวงคืนโบราณวัตถุของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในต่างแดน ให้ได้ภายใน 6 เดือน (ตามไปอ่านได้ที่ ... https://siamrath.co.th/n/125757) ก่อนหน้านี้ทับหลังปราสาทหนองหงส์ เคยเกิดกระแสจากภาคประชาชนในท้องถิ่นเรียกร้องให้ทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่ปี 2559

.

#ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่บนพื้นราบสูงแอ่งโคราช ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเทือกเขาพนมดงรัก ระยะห่างประมาณ 12 กิโลเมตร ด้านทิศใต้ของปราสาทหนองหงส์เป็นเขื่อนลำนางรอง ระยะห่างประมาณ 300 เมตร

ปราสาททั้ง 3 หลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกันนั้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม โดยปราสาทองค์กลางซึ่งเป็นปราสาทประธานมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทสองหลังที่ขนาบกันอยู่ ด้านหน้าปราสาทประธาน (องค์กลาง) มีทางเดินยาวยื่นออกมามีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองนอกจากนี้ยังมีวิหาร (บรรณาลัย) หันหน้าเข้าหาปราสาทด้านทิศใต้อีก 1 หลัง ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบ จากการศึกษารูปแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและรูปแบบทางศิลปกรรมของปราสาทหนองหงส์ ตรงกับศิลปะเขมรโบราณ สมัยบาปวน มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 (ราวปี 1545–1593) – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรไปแล้วเมื่อปี 2545

ปราสาทหนองหงส์ประกอบด้วย ปราสาทก่อด้วยอิฐ 3 หลัง สภาพปัจจุบันส่วนเรือนยอดเสียหายทั้ง 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียว หันตามแนวแกนทิศทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก โดยทางเข้าปราสาทอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นๆ ก่อเป็นประตูหลอก

.

สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ คือ ทับหลังด้านทิศตะวันออกของปราสาทด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปพระยมทรงกระบือ มือหน้ากาลยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง (ปัจจุบันอยู่ที่ Asian Art Museum of San Francisco -Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่ทราบว่าเป็นทับหลังจากปราสาทหนองหงส์นั้น เพราะเปรียบเทียบจากภาพถ่ายเก่าขาว-ดำ เมื่อคราวนายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ในขณะนั้น ได้ถ่ายไว้ขณะสำรวจพบปราสาทหนองหงส์ระหว่าง ปี 2503-2504

.

นอกจากนี้ที่ปราสาทหนองหงส์ยังพบทับหลังสำคัญ อีก 2 หลัง ซึ่งปัจจุบันหายไปแล้วเช่นเดียวกัน แต่ศึกษาได้จากภาพถ่ายเก่าขาว-ดำ ของนายมานิต วัลลิโภดม เช่นเดียวกันได้แก่

.

1. #ทับหลังด้านทิศตะวันออก ปราสาทประธาน สลักเป็นรูปสลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับยืนบนหลังช้างเอราวัณ 3 เศียร เหนือหน้ากาล มือหน้ากาลยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง ทั้งนี้พบทับหลังสลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับยืนบนหลังช้างเอราวัณ 3 เศียร

2. #ทับหลังด้านทิศตะวันออก ปราสาทด้านทิศเหนือ สลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล มือหน้ากาลยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง

.

โดยโบราณวัตถุทั้ง 3 ชิ้น ที่กล่าวมานี้ หายไปช่วงใด ยังตอบได้ไม่ชัดเจน

.

โบราณสถานปราสาทหนองหงส์ได้รับการ #ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 และได้รับการกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ตามความในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 99 ตอนที่ 155 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2525 มีเนื้อที่รวมประมาณ 7 ไร่ – งาน 68 ตารางวา

.

ในฐานประชาชนคนไทย ก็หวังใจว่า โบราณวัตถุที่พบในไทย เป็นสาธารณสมบัติของชาติไทย แต่มีลักลอบส่งออกไปขายในต่างแดน จะหวนกลับมาสู่อ้อมกอดชาวไทยอีกครั้งโดยเร็ววัน เป็นกำลังใจให้กับคณะกรรมการต่อไป

.

เอกสารอ้างอิง

-ทนงศักดิ์ หาญวงษ์. รายงานการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์. นครราชสีมา: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา. 2545.

-สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา. การอนุรักษ์โบราณสถานปราสาทหนองหงส์. สมุทรสาคร: บางกอกอินเฮ้าท์. 2553.

- ภาพถ่ายทับหลังนำมาจาก FB: คุณทนงศักดิ์ หาญวงศ์

.

เรียบเรียงโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

 

(จำนวนผู้เข้าชม 546 ครั้ง)


Messenger