รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดบ้านโป่ง
สำหรับชนชาติมอญซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ มีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานกระจุกตัวอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่บ้านโป่งถึงบ้านโพธาราม ชาวมอญนั้นเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดมาก จึงสร้างวัดขึ้นในชุมชนของตน ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้วัดมอญส่วนใหญ่จะเริ่มสวดภาษาไทยมากขึ้น แต่พระและชาวบ้านยังคงพูดภาษามอญได้ และมีการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมมอญไว้ วัดในชุมชนมอญทั้งสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยมีข้อสังเกตว่าวัดในช่วงรัตนโกสินทร์มีจำนวนมากสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่มีการอพยพของชาวมอญเข้ามามาก
วัดมอญเหล่านี้ สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี โดยกลุ่มโบราณคดี ได้ดำเนินการสำรวจในช่วงระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๓๙ - ปัจจุบัน พบว่าบางวัดยังคงอัตลักษณ์ของชนชาติมอญไว้อย่างเหนียวแน่นทั้งสถาปัตยกรรมและประเพณีต่างๆ ดังรายละเอียด ดังนี้
วัดบ้านโป่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ประวัติ วัดบ้านโป่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง สร้างขึ้นในต้นสมัยรัตนโกสินทร์โดยพระภิกษุชาวรามัญ นามว่า “ด่าง” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ชื่อของวัดบ้านโป่ง มาจากเดิมบริเวณสถานที่ตั้งวัดเป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์มีพันธุ์ไม้นานาชนิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ และในบริเวณนี้มี “ดินโป่ง” หรือดินที่มีส่วนผสมของเกลือสินเธาว์อยู่ จึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ ซึ่งจะลงมากินเป็นประจำ ต่อมาเมื่อมีชุมชนขึ้นจึงได้เรียกชื่อตามลักษณะของภูมิประเทศที่ตั้งว่า “บ้านโป่ง” และเรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดบ้านโป่ง”
อุโบสถหลังเก่า
อุโบสถหลังเก่า อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดค่อนข้างเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ช่อฟ้าเป็นรูปเศียรนาค ใบระกาเป็นเปลว กรอบหน้าบันเป็นสันตรงรูปสามเหลี่ยม หน้าบันด้านหน้าประดับปูนปั้นทาสีรูปพระพุทธรูปประทับนั่ง ด้านข้างมีตาลปัตรปักอยู่บนแจกันขนาดใหญ่ มีอักษรปูนปั้นคำว่า “อุโบสถ ทายกทั้งหลาย สรางปี ๑๒๙” ส่วนบนมีการตกแต่งด้วยถ้วยเบญจรงค์ ขอบนอกเป็นลายเขียนสีแบบศิลปะจีน
หน้าบันด้านหน้าประดับปูนปั้นทาสีรูปพระพุทธรูปประทับนั่ง
หน้าบันด้านหลังมีลวดลายปูนปั้นรูปมังกรดั้นเมฆ ส่วนบนมีเครื่องถ้วยเบญจรงค์ประดับ ขอบนอกเป็นลวดลายเขียนสีแบบศิลปะจีน มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบ ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๖ องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ด้านนอกโดยรอบอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ภายนอกกำแพงแก้วอุโบสถทั้งด้านหลังและด้านข้าง เป็นที่ตั้งของเจดีย์บรรจุอัฐิก่ออิฐถือปูนทรงปรางค์ และทรงแบบเจดีย์มอญ
เจดีย์ห้ายอด
เจดีย์ห้ายอด ตามประวัติกล่าวว่า หลวงพ่อด่างได้นำพระธาตุจากเมืองร่างกุ้งติดตัวมาด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์และระลึกถึงมาตุภูมิเดิม เมื่อมาสร้างวัดบ้านโป่งจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง ลักษณะเป็นเจดีย์มอญก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมสูง เจดีย์ประธานทรงกลมมีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายเจดีย์ประธานอยู่ทั้ง ๔ มุม ที่ด้านในแต่ละด้านก่อเป็นซุ้ม ด้านหน้าและด้านหลังมีบันไดทางขึ้น ด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆล้อมรอบ บริเวณมุมกำแพงแก้วตกแต่งด้วยเสาหัวเม็ด
เรียบเรียง : นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ
(จำนวนผู้เข้าชม 2830 ครั้ง)