รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ําแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดคงคาราม
วัดคงคาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประวัติ วัดคงคารามเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยบรรพบุรุษชาวมอญกลุ่มรามัญ ๗ หัวเมืองพากันอพยพย้ายถิ่นโดยล่องตามแม่น้ำมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำ แม่กลองในเขตอำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธาราม ซึ่งต่อมาได้ขยายขนาดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และได้มีการสร้างวัดขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของสงฆ์ แบบรามัญนิกาย และเป็นศูนย์รวมของชาวมอญในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยเจ้าอาวาสของวัดคงคาราม มีตำแหน่งเป็นพระครูรามัญญาธิบดี
ที่มาของวัดคงคาราม เดิมชื่อว่า วัดกลาง ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นวัดคงคาราม ส่วนภาษามอญจะเรียกว่า “เภี้ยโต้” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ วัดคงคารามเจริญขึ้นถึงขั้นสูงสุด กล่าวกันว่าพระครูรามัญญาธิบดีองค์หนึ่ง เป็นที่
เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก แต่หลักฐานเอกสารที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ยังคงเรียกวัดนี้ว่า วัดกลาง เจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ ๔ ได้รับเป็นผู้อุปถัมภ์ให้ความช่วยเหลือในกิจการต่างๆ ของวัด ได้ทูลเกล้าถวายวัดกลางให้เป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดคงคาราม”
สิ่งสำคัญภายในวัดคงคาราม มีดังนี้
อุโบสถ
อุโบสถ อาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทยประเพณีแบบอย่างช่างหลวง (ส่วนประดับเครื่องบน) ผสมผสานลักษณะท้องถิ่น หน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๒ ชั้นซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ มีชายคาปีกนกโดยรอบทั้งสี่ด้านรองรับด้วยเสาปูนทรงกลม ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษา
ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหน้ามีประตูทางเข้า ๒ ประตู บานประตูไม้แกะสลัก ส่วนบนเป็นรูปดอกไม้ส่วนล่างเป็นภาพเล่าเรื่องทั้งสองบาน เหนือกรอบประตูเขียนเป็นรูปซุ้มทรงมณฑป ส่วนบนของซุ้มด้านหนึ่งเป็นภาพเมขลาล่อแก้ว อีกด้านหนึ่งเป็นภาพรามสูรขว้างขวาน ตรงกลางระหว่างซุ้มประตูทั้งสองด้านเป็นภาพพุทธประวัติ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ผนังสกัดด้านหลังทึบ ผนังด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ ๔ บาน กรอบหน้าต่างเขียนลวดลายเป็นรูปซุ้มยอดปราสาท มีภาพเทพนมถือดอกไม้อยู่ข้างซุ้ม ผนังด้านซ้ายของอุโบสถมีประตูทางเข้า ๑ ประตู ฐานอุโบสถเป็นฐานเขียงสูงมีระเบียงโดยรอบ มีบันไดก่ออิฐถือปูนเป็นทางขึ้น ที่เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นประดับ
ภายในอุโบสถ
ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธรูปหินทรายพอกทับด้วยปูนปั้น ประทับนั่งแสดง ปางมารวิชัย ด้านข้างซ้าย – ขวา มีพระอัครสาวกยืนพนมมือ และพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางต่างๆ อีกหลายองค์ ที่ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสกุลกรุงเทพฯสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓ ) ผนังสกัดด้านหน้าตอนบนเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนผจญมาร ผนังด้านหลังพระประธาน ภาพไตรภูมิ แสดงสวรรค์ชั้นต่างๆ ส่วนฝาผนังด้านข้างจะวางรูปแบบในแนวยาวเป็น ๓ แถว คือ
แถวบนสุดเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ แสดงปางมารวิชัย มีพระรัศมีล้อมรอบพระวรกาย ด้านข้างทั้งสองด้านมีพระอัครสาวกนั่งพนมมือ ด้านหลังมีฉัตรรูปดอกไม้ปักอยู่และมีดอกไม้ร่วงลงมาจากด้านบนภาพจะวางเรียงติดต่อกันเป็นแนวยาวในลักษณะที่คล้ายกัน
แถวที่สองอยู่เหนือกรอบหน้าต่างเป็นภาพพุทธประวัติและทศชาติชาดก
แถวที่สามอยู่ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพทศชาติชาดกบนไม้เพดานและชื่อ มีการตกแต่งลวดลายเป็นลายดอกไม้ และดาวเพดานทั้งหมดบนพื้นสีแดง ส่วนที่อยู่เหนือพระพุทธรูปประธานมีฉัตรทรงสี่เหลี่ยม โครงเป็นไม้ตกแต่งขอบด้วยไม้แกะสลักและผ้า พื้นเป็นสังกะสีเขียนลวดลายเป็นรูปท้องฟ้า มีภาพพระอาทิตย์และพระจันทร์กำลังทรงรถ และดวงดาราต่างๆ
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แบบแผนการเขียนจิตรกรรมฝาผนังช่วงบนของผนัง นิยมเป็นภาพเทพชุมนุม แต่การเขียนพระอดีตพุทธเจ้าของวัดคงคารามนี้แสดงถึงคติความเชื่อที่ชาวมอญ-พม่า ได้สืบทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่สมัยเมืองพุกาม
เจดีย์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รายรอบอุโบสถจำนวน ๗ องค์ ลักษณะเป็น
เจดีย์แบบมอญตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม บางองค์มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายกระจัง หรือลายดอกไม้ องค์ระฆังของเจดีย์จะมีลักษณะกลมยาวคล้ายจอมแหมี
การตกแต่งลวดลายที่องค์ระฆัง ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม มีฉัตรโลหะปักอยู่บนยอดสุด
เจดีย์รายรอบอุโบสถนี้ตามประวัติกล่าวว่า หลังจากพระยามอญ ๗ องค์ สร้างอุโบสถแล้วเสร็จได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ขึ้นไว้รอบๆอุโบสถจำนวน ๗ องค์ ซึ่งมีความหมายว่าเมืองหน้าด่านทั้ง ๗ ได้แก่ เมืองสิงห์ (สมิงขะบุรี) เมืองลุ่มสุ่ม เมืองท่าตะกั่ว เมืองท่าขนุน เมืองท่ากระดาน เมืองไทรโยค และเมืองทองผาภูมิ
เสาหงส์ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าด้านหน้าวัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวัดของชาวรามัญเป็นหงส์สำริด ตั้งอยู่บนเสาสูง
กุฏิสงฆ์เจ็ดห้อง อาคารไม้สักทรงไทยยกพื้นสูงขนาดด้านยาว ๗ ห้อง ด้านกว้าง ๑ ห้อง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ชายคามีเสาไม้นางเรียงกลมรองรับ ฝาไม้ประกน หน้าต่างด้านผนังสกัด ๓ ช่อง ด้านข้าง ๗ ช่อง บานหน้าต่างไม้แกะสลักลวดลายประจำยาม เรียงต่อกันเป็นตาข่าย ด้านล่างเป็นภาพเล่าเรื่อง ที่กรอบมีลวดลายเป็นแท่นด้านล่าง
กุฏิสงฆ์เก้าห้อง อาคารไม้สักทรงไทย รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๗x๒๖ เมตร วางด้านยาวขนานกับทิศตะวันออก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ชายคาโดยรอบมีเสานางเรียงไม้กลมรองรับ ช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันแกะสลักเป็นลายก้านแย่งปิดทองประดับกระจกลวดลายนี้คล้ายกับหน้าบันอุโบสถวัดเทพอาวาส ฝาไม้ประกน บานหน้าต่างไม้แกะสลักปิดทองล่องชาด
ซุ้มประตูหมู่กุฏิสงฆ์ ลักษณะเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนทรงประตูยอด กรอบประตูซุ้มทรงสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม ๑ องค์ ด้านหน้าทางขึ้นเป็นเชิงบันไดเตี้ยมีขั้นบันได ๓ ขั้น ด้านข้างซุ้มมีระเบียงเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบ มีการประดับด้วยช่องลมทรงกลมเป็นกระเบื้องเคลือบสีเขียวแบบจีน จากลักษณะของซุ้มประตู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ กรุงรัตนโกสินทร์
หอสวดมนต์ ศาลาไม้ทรงไทยใต้ถุนต่ำเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ชายคามีเสากลมรองรับโดยรอบ มีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก เป็นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ ด้านข้างเป็นลายก้านขดมีเทพพนมแยกออกที่ตัวลาย ผนังโปร่งยกพื้นเป็นชั้นสำหรับพระภิกษุนั่งสวดมนต์ เสาด้านบนมีลวดลายลงรักปิดทองเป็นรูปมังกร ๑ ตัวพันรอบเสา ปัจจุบันเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานมาเป็นหอพระประดิษฐานพระพุทธรูป
เรียบเรียง : นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 6016 ครั้ง)