...

โบราณสถานในเขตสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
   
   


          วั
ดมหาธาต เป็นปูชนียสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรีทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง เขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๒๕ ไร่ สันนิษฐานกันว่าเดิมคงสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕๑๖) ต่อมาเมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงมีการก่อสร้างปราสาทแบบขอมขึ้นซ้อนทับศาสนสถานสมัยทวารวดี และสร้างกำแพงศิลาแลงขึ้นล้อมรอบ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของเขมร ต่อมาปราสาทแบบขอมคงจะชำรุดหักพังลง ดังนั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐๒๑) จึงได้มีการก่อสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้นซ้อนทับ ประกอบด้วย ปรางค์ประธาน และปรางค์บริวารขนาดย่อมจำนวน ๓ องค์ แผนผังของพระปรางค์มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระปรางค์ของวัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี และพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในคูหาปรางค์ประธานมีภาพจิตรกรรมเขียนบนผนังที่ฉาบด้วยดินดิบ เป็นรูปพระอดีตพุทธเจ้าและพุทธประวัติ ศิลปกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าอาจจะได้รับการซ่อมแซมพร้อมกับองค์ปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนกลาง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒) 
          หลักฐานโบราณสถานและศิลปะโบราณวัตถุภายในวัดมหาธาตุ แสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปกรรมของแต่ละยุคสมัย อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดมหาธาตุในการเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นต้นว่า
           กำแพงศิลาแลงล้อมรอบพระปรางค์ มีทับหลังกำแพงสกัดจากหินทรายสีชมพูเป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิอยู่ในซุ้มเรือนแก้วใบระกา อันเป็นลักษณะที่นิยมสร้างกันในศิลปะเขมรแบบบายน (ประมาณพุทธศักราช ๑๗๒๐๑๗๖๐)
          วิหารหลวง อาคารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อสร้างขึ้นซ้อนทับฐานอาคารศิลาแลงบริเวณด้านหน้าพระปรางค์ภายนอกระเบียงคต เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่จำนวน ๒ องค์ แสดงปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น
          พระมณฑป อาคารก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้ยี่สิบ ผนังด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ ตอน เสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนมารผจญ ภายในพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสลักจากหินทรายแดง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
          พระพุทธรูปสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในระเบียงคตรอบองค์ปรางค์ และภายในพระอุโบสถ
          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และเล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๘๘ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖


โบราณสถานบนเขางู จังหวัดราชบุรี

  

 

          เขางู ตั้งอยู่ในเขตตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ห่างออกจากตัวเมืองราชบุรีออกไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร ปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดีอยู่ภายในถ้ำ ๔ แห่ง คือ ถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ ลักษณะเป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๓) และมีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓๒๔) ในแต่ละแห่งมีรายละเอียด ดังนี้
          ถ้ำฤาษี บนผนังถ้ำมีภาพจำหลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาแสดงปางแสดงธรรมเทศนา พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ศิลปะแบบทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๓) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย สมัยหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๓) ระหว่างข้อพระบาทมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน ๑ บรรทัด มีอักษรทั้งหมด ๑๒ ตัว เป็นรูปแบบอักษรที่นิยมใช้ในประเทศอินเดียตอนใต้ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๒ อ่านได้ว่า ปุญกรมชระ ศรีสมาธิคุปต(ะ)” แปลว่า “พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ” ลักษณะของพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทนี้คล้ายกับพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทในถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย ส่วนผนังถ้ำฤาษีทางด้านตะวันตกปรากฏภาพจำหลักรูปพระพุทธรูปประทับยืน แสดงปางประทานอภัย บริเวณโดยรอบพระเศียรมีร่องรอยสีแดงติดอยู่จึงสันนิษฐานได้ว่าแต่เดิมคงจะมีการทาสีแดงที่องค์พระพุทธรูปด้วย และภายในพระอุโบสถ 
          ถ้ำฝาโถ บนผนังถ้ำทางด้านทิศใต้มีภาพจำหลักรูปพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่หันพระเศียรไปทางปากถ้ำ มีประภามณฑลหลังพระเศียร เหนือขึ้นไปเป็นภาพปูนปั้นรูปเทพชุมนุม และต้นไม้มีการตกแต่งด้วยริ้วผ้าและเครื่องประดับ ส่วนผนังถ้ำทางด้านทิศเหนือมีภาพพระสาวกจำนวน ๔ องค์ บางองค์ยืนพนมมือ บางองค์ยืนเอียงตนอยู่ในท่าตริภังค์ ลักษณะการสลักภาพลงบนผนังถ้ำนี้มีรูปแบบใกล้เคียงกับภาพสลักบนผนังถ้ำอชันตาในประเทศอินเดีย ที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คูหาถ้ำฝาโถด้านในพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงเป็นจำนวนมาก ส่วนบริเวณปากถ้ำมีร่องรอยของโครงหลังคามุงกระเบื้องดินเผาและแนวกำแพงก่ออิฐถือปูนซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา 
          ถ้ำจีน ภายในถ้ำมีภาพจำหลักพระพุทธรูปปูนปั้นปรากฏอยู่บนผนังสององค์ โดยองค์ด้านในเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางแสดงธรรมเทศนา องค์ด้านนอกเหลือเพียงครึ่งองค์ลักษณะคล้ายกับองค์แรก สันนิษฐานว่าเดิมคงจะสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒๑๓) ต่อมาถูกดัดแปลงโดยพอกทับด้วยปูนปั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา 
          ถ้ำจาม ภายในถ้ำมีภาพจำหลักบนผนังทุกด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพตอนยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ประกอบ ด้วยภาพพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ และปางแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางต้นมะม่วงที่มีผลอยู่เต็มต้น ซึ่งนิยมทำกันในสมัยทวารวดีดังปรากฏในภาพสลักหินและพระพิมพ์ การสร้างภาพตอนยมกปาฏิหาริย์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องพุทธประวัติในอรรถกถาภาษาบาลี ลัทธิหินยาน ส่วนผนังถ้ำทางด้านใต้ และด้านตะวันออกเป็นภาพปูนปั้นรูปบุคคลขี่คอซ้อนกันขึ้นไป และรูปพังพานพญานาคของพระพุทธรูปปางนาคปรก ผนังด้านตะวันตกเป็นภาพพระพุทธรูปไสยาสน์ แสดงปางปรินิพพาน 
          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนถ้ำฤาษี เป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศขึ้นทะเบียนถ้ำฝาโถ พระพุทธบาท ถ้ำจีน ถ้ำจาม เป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๗๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๗

แหล่งศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  
 

          แหล่งศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตำบลไร่เก่า กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำรวจพบครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๓๙ โดย Dean Smart นักวิจัยถ้ำชาวอังกฤษ ต่อมากลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี ได้ทำการสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๔๕ พบว่าจุดที่ปรากฏภาพเขียนสีอยู่ที่เพิงผาของถ้ำภาพเขียนซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสามร้อยยอดตอนเหนือ มีพื้นที่ขนาดประมาณ ๔๐.๒ ตารางเมตร ภาพเขียนปรากฏอยู่ทั้งในระดับต่ำที่สามารถยืนเขียนภาพได้ง่ายๆ ความสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตรจากพื้น และระดับความสูงที่จะต้องทำนั่งร้าน ใช้บันไดหรือพะองพาดขึ้นไปเขียนภาพความสูงประมาณ ๖ เมตร ซึ่งในระดับนี้จะพบภาพเขียนเป็นจำนวนมาก รูปลักษณ์ของศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอดมี ๒ รูปแบบ คือ ภาพแบบสัจนิยม และแบบคตินิยม พบจำนวนทั้งหมด ๑๐๖ ภาพ มีสภาพความสมบูรณ์ประมาณร้อยละ ๗๕๘๐ เนื้อหาและรูปแบบของภาพเป็นเรื่องราวของวิถีชีวิต และพิธีกรรมของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในสังคมกสิกรรม ประกอบด้วย ภาพการไล่ต้อนล่าฝูงวัว มีภาพบุคคลที่มีลักษณะการแต่งกายเป็นพิเศษด้วยการสวมหัวหรือเขาสัตว์บนศีรษะ ภาพหน้ากาก และภาพสัญลักษณ์ลายเส้นต่างๆ สันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ราบโดยรอบเทือกเขาสามร้อยยอดมีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว


พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  

          พระที่นั่งคูหาคฤหาสน ตั้งอยู่ภายในถ้ำพระยานคร บนไหล่เขาลูกหนึ่งของทิวเขาสามร้อยยอดในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มาของชื่อ ถ้ำพระยานคร” กล่าวกันว่าเนื่องจากพระยานครผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ค้นพบ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นพระยานครท่านใด ระหว่างพระยานครซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙๒๒๓๑) พระยานครผู้นี้ได้สั่งประหารศรีปราชญ์ที่ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต ในระหว่างเดินทางไปเข้าเฝ้าได้แวะพักหลบคลื่นลมและหนีพระราชอาญาไปอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้แต่สุดท้ายก็ถูกจับประหารชีวิต ส่วนพระยานครอีกท่านหนึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไทยมีสงครามกับพม่า(ตรงกับสมัยพระเจ้าปดุง)พระยานครถูกพม่าหลอกว่าตีเมืองแตกจึงหลบหนีไป ต่อมาเมื่อสอบสวนได้ความจริงแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ระหว่างเดินทางเกิดคลื่นลมจัดจึงหลบขึ้นไปบนเขา ทำให้พบถ้ำแห่งนี้ 
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เสด็จประพาสยังถ้ำพระยานครเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ ซึ่งในคราวนี้ได้มีการสร้าง “ ศาลาบ่อน้ำ ” ขึ้นที่บริเวณอ่าวชายทะเล ลักษณะเป็นศาลาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ขนาดความกว้าง ๑๐ ศอก มีทั้งหมด ๓ ห้อง พื้นศาลาทั้งหมดโบกปูน ห้องกลางของศาลามีบ่อน้ำจืด ๑ บ่อ ลักษณะเป็นบ่อขุดทรงกลม ขนาดความกว้างประมาณ ๔ ศอก ลึก ๖ ศอก ก่ออิฐเป็นขอบโดยรอบตั้งแต่ท้องบ่อขึ้นมา และทางเดินเรียงด้วยก้อนศิลาระยะทางประมาณ ๑๐ เส้นเป็นทางขึ้นเขา บ่อน้ำที่ชายทะเลนี้แต่เดิมเรียกกันว่า “ บ่อพระยานคร ”
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จถ้ำพระยานคร ในคราวเสด็จประพาสแหลมมลายูเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาที่ประทับ ลักษณะเป็นพลับพลาทรงจตุมุข ความกว้าง ๒.๕๕ เมตร ความยาว ๘ เมตร และความสูง ๒.๕๕ เมตร เดิมยกพื้นใต้ถุนสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หลังคามุงกระเบื้อง ประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ทำด้วยไม้สลักลายประดับกระจกที่มุขทุกด้านประดับกระจกเป็นลวดลายไทย ฝ้าเพดานภายในเขียนลายดาว โปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ จัดทำขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยแล้วส่งไปก่อสร้างในถ้ำ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๓ ได้เสด็จไปยกช่อฟ้าพลับพลาที่ประทับ และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน” ในการนี้ได้ลงพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร.ไว้ที่ผนังถ้ำด้านเหนือของพลับพลาด้วย
          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) กล่าวกันว่าเคยเสด็จที่ถ้ำพระยานครครั้งหนึ่งแต่ไม่ระบุว่าปีใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙ และได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำด้านตะวันตกของพลับพลา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๑ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๙๕

โบราณสถานทุ่งเศรษฐี จังหวัดเพชรบุรี

  

  

          โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาจอมปราสาททางด้านทิศตะวันออกในเขตบ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  แต่เดิมเป็นเนินโบราณสถานที่มีดินและต้นไม้ขึ้นปกคลุม ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ได้มีการลักลอบขุดทำลายเพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติ ทำให้โบราณสถานทุ่งเศรษฐีเริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการโดยทั่วไป กรมศิลปากรสำรวจพบว่าโบราณสถานทุ่งเศรษฐีมีสภาพเป็นซากของฐานเจดีย์ก่ออิฐ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านขุดพบ ได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นรูปพระโพธิสัตว์ บุคคล คนแคระ มกร และลวดลายประดับสถาปัตยกรรมการขุดแต่งโบราณสถานทุ่งเศรษฐีในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ทำให้ทราบลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานทุ่งเศรษฐีว่าเป็นสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ก่ออิฐสอดินฉาบปูน เหลือเฉพาะส่วนฐานซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดความกว้าง ๒๕x๒๕ เมตร และความสูง ๕ เมตร ประกอบด้วย ฐานประทักษิณซึ่งมีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รองรับฐานเจดีย์ที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จบริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง ชั้นล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนกันสองชั้น รองรับฐานบัววลัย มีส่วนของท้องไม้ขยายสูง มีลวดบัวตรงกึ่งกลางจำนวน ๓ แนว แถวบนและล่างก่อเรียบ ส่วนแถวกลางก่ออิฐยื่นสลับกันบริเวณที่อิฐนูนขึ้นมาฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปาดมุม ทำให้เกิดช่องว่างสลับกับปุ่มนูนโดยรอบ ถัดจากท้องไม้ขึ้นไปเป็นหน้ากระดานมีการประดับเสาติดผนังและแบ่งเป็นช่องๆ ช่องละประมาณ ๘๐ เซนติเมตร เพื่อประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระแบก เหนือขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐมีเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายส่วนแรก แต่มีขนาดความกว้างและความสูงมากกว่า ถัดจากผนังส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนบนขององค์เจดีย์ซึ่งมีสภาพชำรุดพังทลายลงมาเกือบหมด จากหลักฐานชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่พบ สันนิษฐานได้ว่ารูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทุ่งเศรษฐีส่วนบนน่าจะเป็นทรงกลมมีเจดีย์บริวารทรงกลมขนาดเล็กที่มุมทั้งสี่ บริเวณส่วนยอดเป็นปล้องไฉนประดับด้วยอมลกะ ดังลักษณะของสถูปเจดีย์จำลองและยอดสถูปที่พบจากเมืองอู่ทอง
                หลักฐานที่พบจากโบราณสถานทุ่งเศรษฐีนั้นแสดงถึงความเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา แบบมหายาน อันเป็น สถานที่ประกอบพิธีกรรมของชุมชนชายฝั่งทะเลที่เจริญขึ้น เนื่องจากการเป็นจุดแวะพักในการเดินทางที่สำคัญทั้งทางบกและทางทะเล ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๖ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับเจดีย์หมายเลข ๘ และ ๓๑ ของเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี


วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

   

   

          วัดใหญ่สุวรรณาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี แต่เดิมเรียกกันว่า วัดน้อยปากใต้วัดน้อยปักษ์ใต้ หรือ วัดนอกปากใต้” เนื่องจากวัดตั้งอยู่ทางด้านใต้ของแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งแนวเดิมของแม่น้ำเพชรบุรีได้ไหลผ่านทางตอนเหนือของวัดก่อนที่จะไปออกปากอ่าวบ้านแหลม อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้คล้องจองกับ วัดในไก่เตี้ย” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันทางทิศใต้ ปัจจุบันมีสภาพเป็นวัดร้าง ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่า วัดใหญ่ ” คงเป็นเพราะมีบริเวณกว้างขวางใหญ่โต ต่อมาเมื่อพระสุวรรณมุนี (ทอง) ได้มาปฏิสังขรณ์วัดนี้แล้วคงมีการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ตามสมณศักดิ์ของท่านว่า “วัดสุวรรณาราม” แต่ชาวบ้านยังคงเรียกวัดใหญ่อยู่จึงเรียกรวมกันว่า “วัดใหญ่สุวรรณารามหลักฐาน โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัดแสดงถึงความเก่าแก่ที่น่าจะมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๑) โดยพระสุวรรณมุนี (สังฆราชแตงโม) ชาวเพชรบุรีซึ่งเคยมาอยู่อาศัยในวัดนี้และบรรพชาเป็นสามเณรก่อนจะขี้นไปอยู่กรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดใหญ่สุวรรณารามขึ้นเป็นพระอารามหลวง และเสด็จทอดพระเนตรหลายครั้งพร้อมทั้งพระราชทานเงินสำหรับการปฏิสังขรณ์วัดด้วย แสดงถึงความสำคัญของวัดใหญ่สุวรรณารามที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดใหญ่สุวรรณารามนั้นทรงคุณค่าทางด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมโบราณที่งดงามสมัยกรุงศรีอยุธยา อันประกอบด้วย 
          พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนที่มีฐานปัทม์อ่อนโค้งแบบฐานสำเภาภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น ภาพพุทธประวัติ และเทพชุมนุม เสาและเพดานมีการตกแต่งด้วยลายทองบนพื้นแดงอย่างวิจิตร ตัวพระอุโบสถมีวิหารคตที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ล้อมรอบ 
          ศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นเรือนไทยขนาดใหญ่ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช สันนิษฐานว่าเป็นพระตำหนักเจ้าพระขวัญในสมเด็จพระเพทราชา ที่สมเด็จพระเจ้าเสือได้พระราชทานให้พระสุวรรณมุนีมาปลูกเป็นศาลาการเปรียญ ลักษณะเด่น คือ ฝาผนังเป็นไม้แบบฝาปะกนด้านนอกเดิมเขียนลายทอง มีพรึงเป็นรูปกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ประดับโดยรอบอาคาร ทางด้านทิศเหนือมีหน้าต่างรูปแบบพิเศษ ๒ ช่อง โดยมีกรอบเช็ดหน้าประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วปิดทอง ประตูทางเข้าศาลาการเปรียญด้านทิศตะวันออกมี ๓ บาน ตั้งอยู่ในกรอบเช็ดหน้าทำเป็นรูปซุ้มเรือนแก้ว เน้นเป็นพิเศษที่ประตูกลางซึ่งบานประตูเป็นไม้มีการจำหลักลายก้านขดหางโต ปลายก้านลายเป็นรูปหงส์ คชสีห์ ราชสีห์สอดแทรกด้วยพันธุ์ไม้ และสัตว์จำพวก ลิง กระรอก และนกจับตามก้านลาย อกเลาแกะเป็นลายรักร้อยตลอดไม่มีนม เชิงประตูเป็นภาพธรรมชาติและรูปสัตว์ ส่วนฝาผนังภายในศาลาการเปรียญมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวเขียนเป็นภาพเทพชุมนุม ทวารบาล และภาพสัตว์ชนิดต่างๆ สภาพลบเลือนมาก เสาศาลาการเปรียญเขียนเป็นลายรดน้ำแตกต่างกันในแต่ละคู่
           หอไตร ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยชั้นเดียวมีเสาไม้ ๓ เสาตามแนวยาวกลางอาคารซึ่งเป็นรูปแบบพิเศษ ฝาไม้ปะกน หลังคาทรงจั่วยอดแหลม มุงกระเบื้องเกล็ดเต่า
          นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายอย่างภายในวัดใหญ่สุวรรณาราม เช่น หมู่กุฏิสงฆ์ศาลาโถง หอระฆัง หอไตรหลังใหม่ พระปรางค์ เจดีย์ ถาน เป็นต้น ซึ่งมีรูปแบบศิลปกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ พิเศษ ๘๗ ง เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๔

วัดบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม


 

          วัดบางกุ้ง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปีพ.ศ.๒๓๐๘ กองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้หัวเมืองปากใต้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง” กองทัพพม่าซึ่งยกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองและบุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง” ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ ๘ เดือน กองทัพพม่านำโดยเจ้าเมืองทวายยกทัพบกและทัพเรือลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ ทหารจีนที่รักษาค่ายบางกุ้งสู้รบอย่างเต็มที่แต่มีกำลังน้อยกว่าเกือบจะเสียค่ายแก่พม่า กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีหนังสือกราบทูลไปยังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบจึงยกกองทัพมาตีทัพพม่าแตกพ่ายไป และต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพเรือนำทหารไปออกศึกที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ในระหว่างการเดินทางได้หยุดกองทัพพักพลเสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง
          หลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนปัจจุบันถูกต้นไทรขึ้นปกคลุมทั้งหลังหน้าบันของพระอุโบสถ มีปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับด้วยเครื่องถ้วยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย สลักจากหินทรายแดง แสดงปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ฝาผนังของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระอดีตพุทธเจ้า และภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้างประมาณ ๕ เมตร ความยาว ๗ เมตร ที่ขอบสระมีกำแพงเตี้ยกั้น และกรุด้วยอิฐถือปูนลักษณะสอบลงไป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบางกุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๐ ง เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๙

วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม




          วัดอัมพวันเจติยาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติกล่าวว่าพื้นที่ตั้งวัดในปัจจุบันเป็นนิวาสสถานเดิมขององค์ปฐมวงศ์ทางราชินิกุลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้เสด็จพระราชสมภพ ณ สถานที่แห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงอุทิศบริเวณวาสถานให้เป็นที่สร้างวัดถวายแด่พระมารดาสมเด็จพระรูปสิริโสภาภาคย์มหานาคนารี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงปฏิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยารามใหม ่โปรดเกล้าฯให้สร้างพระปรางค์และอัญเชิญพระสรีรังคารของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาบรรจุไว้ในพระปรางค์ และในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงเสด็จประพาสต้น ณ วัดอัมพวันเจติยารามแห่งนี้ โบราณสถานสำคัญของวัดอัมพวันเจติยาราม ได้แก่

          พระปรางค์ ลักษณะเป็นปรางค์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้ยี่สิบมีวิหารคตล้อมรอบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
          พระอุโบสถ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นใหม่ในช่วงปี
พ.ศ.๒๕๔๐๒๕๔๒ เป็นภาพแสดงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
          พระที่นั่งทรงธรรม สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ลักษณะเป็นวิหารก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีชายคาปีกนกคลุมทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หลวงพ่อทรงธรรม หรือ หลวงพ่อดำ” และรอยพระพุทธบาทจำลอง อาคารหลังนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี พ.ศ.๒๕๓๘ โดยสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ 
          พระตำหนักไม้ เดิมเป็นของเก่าปลูกสร้างอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชจึงได้ย้ายพระตำหนักไม้หลังนี้มาสร้างไว้ที่วัดอัมพวันเจติยาราม ลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงไทยขนาดใหญ่ ยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีลวดลายกระจกประดับ ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ไม้ประดับกระจกอย่างงดงาม ฝาพระตำหนักเป็นฝาไม้ปะกน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดอัมพวันเจติยารามเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม๗๔ ตอนที่๙๖ เมื่อวันที่๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๐


วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร

   

          วัดโคกขาม เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ตามประวัติคำบอกเล่ากล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา(พ.ศ.๒๒๓๑–๒๒๔๖) ผู้สร้าง คือ พระยารามเดโช ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งในปีพ.ศ.๒๒๓๙ ได้ร่วมกับนายสังข์ยมราช เจ้าเมืองนครราชสีมาแข็งเมือง สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดให้พระยาสุรสงครามและพระยาราชวังสันยกกองทัพไปปราบ พระยารามเดโชสู้ไม่ได้จึงหลบหนีขึ้นมาทางเรือพร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์หนึ่งขึ้นมาด้วย เมื่อถึงเมืองสาครบุรีได้ขึ้นบกที่บ้านโคกขาม และอุปสมบทเป็นพระพร้อมกับสร้างวัดโคกขามขึ้น หลักฐานโบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน ๒ องค์ ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน ส่วนโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ หลวงพ่อสัมฤทธิ์” พระพุทธรูปแบบสกุลช่างนครศรีธรรมราช หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า แบบขนมต้ม” ที่ฐานมีจารึกใจความว่า พุทธศักราช ๒๒๓๒ พระสา กับเดือน ๑ กับ ๒๕ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย โทศก พระยาเมชัยก็ได้สถาปนาพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นทอง ๓๗ ชั่งจงเป็นปัจจัยแก่นิพพานฯ" และธรรมาสน์บุษบกไม้ซึ่งมีลักษณะฝีมือช่างแบบอยุธยา

วัดใหญ่บ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร

   


          วัดใหญ่บ้านบ่อ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของคลองสุนัขหอนในเขตตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หนังสือประวัติวัดในเขตจังหวัดสมุทรสาครจัดพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าสร้างขึ้นในราวปีพ.ศ.๒๒๖๙ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดขนาดใหญ่ประจำชุมชนตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมทางน้ำสำคัญที่ใช้เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองสมุทรสาคร เมืองสมุทรสงคราม และเมืองราชบุรีมาแต่ครั้งโบราณ ตำบลบ้านบ่อสถานที่ตั้งวัดน่าจะเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคนอยู่อาศัยค่อนข้างมากและเป็นจุดแวะพักสำคัญจุดหนึ่ง ดังปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณหลายเรื่อง เช่น นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง แต่งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๓๒๙ นิราศนรินทร์ ของนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) มหาดเล็กหุ้มแพรที่แต่งไว้ในราวปี พ.ศ.๒๓๕๒ เป็นต้น จากการที่วัดใหญ่บ้านบ่อเป็นวัดสำคัญประจำชุมชนจึงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นเพิ่มเติมเรื่อยมา และน่าจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในช่วงประมาณปพ.ศ.๒๔๗๒ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐
          โบราณสถานสิ่งก่อสร้างสำคัญของวัด คือ พระอุโบสถที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ พระวิหาร และกลุ่มอาคารซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๖-๘ ได้แก่ หอไตร พระมณฑป ศาลาท่าน้ำแบบขนมปังขิง และอาคารเรียนปริยัติธรรมซึ่งเป็นเรือนปั้นหยาสองชั้น กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดใหญ่บ้านบ่อเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๗ ง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

  


          พระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในเขตตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามประวัติกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองจัดสร้างป้อมปราการจำนวน ๖ ป้อม ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด ๓ ปีจึงแล้วเสร็จ เมื่อสร้างป้อมเสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้อำนวยการสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่เกาะหาดทรายท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ เพื่อปกป้องประเทศชาติและพระศาสนา โดยโปรดฯ ให้กรมพระราชวังสถานมงคลมหาศักดิพลเสพ กับพระยาราชสงครามเขียนแบบแผนผังรูปพระเจดีย์ถวาย แล้วทรงเฉลิมพระนามว่า “ พระสมุทรเจดีย์ ” แต่ยังมิได้ทันก่อสร้างก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีธรรมราชกับเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองจัดสร้างต่อการก่อสร้างเริ่มเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ (ตรงกับวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๐) แล้วเสร็จเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (ตรงกับวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๗๑) ลักษณะขององค์พระสมุทรเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ต่อมาได้มีผู้ร้ายลักลอบขุดองค์ระฆังลักเอาพระบรมธาตุที่บรรจุอยู่ภายในไป
          สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์ที่กรุงศรีอยุธยามาจัดการก่อสร้างสวมทับพระเจดีย์รูปเดิมไว้ โดยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมวัดจากฐานล่างจนถึงยอดสูงสุด ๑๙ วา จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ๑๒ องค์ จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้แทนของเดิมที่สูญหายไป ในการนี้ได้โปรดฯให้สร้างศาลาเก๋งจีน หอเทียน หอระฆัง พระวิหารพร้อมด้วยพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร กับหลักผูกเรือริมน้ำรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ฯลฯ สิ้นพระราชทรัพย์ในการก่อสร้าง ๕๘๘ ชั่งเศษ และในรัชกาลต่อมาก็ได้มีการทำนุบำรุง และบูรณะปฏิสังขรณ์พระสมุทรเจดีย์มาโดยตลอด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระสมุทรเจดีย์เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๘๗ และเล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๘๖ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๖       

วัดโปรดเกศเชษฐาราม จังหวัดสมุทรปราการ



         
          วัดโปรดเกศเชษฐาราม
ตั้งอยู่ปากคลองลัดหลวงทางด้านทิศตะวันออกในเขตตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดปากคลอง” ประวัติการสร้างวัดปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ระบุว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้จัดสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการสำหรับป้องกันข้าศึกทางทะเลขึ้นนั้นมีพระราชดำริว่าการสร้างป้อมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ยังค้างอยู่จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กอง และพระยาเพชรพิไชย (เกษ)เป็นนายงานสร้างเมืองเขื่อนขันธ์และป้อมเพชหึงต่อจากที่ค้างไว้ในการนี้ทรงขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ไปทะลุออกคลองตาลาว เรียกว่า “คลองลัดหลวง” มีขนาดความกว้าง ๖ วา ลึก ๕ ศอก ยาว ๕๐ เส้น เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสร้างวัดขึ้นทางด้านฝั่งตะวันตกของคลองลัดหลวงพระราชทานนามว่า “ วัดไพชยนต์พลเสพ ” ส่วนพระยาเพชรพิไชย (เกษ) ผู้เป็นต้นสกุล “เกตุทัต” นายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งคลองแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๕ พระอารามแห่งนี้ได้รับพระราชทานนามภายหลังว่า “วัดโปรดเกศเชษฐาราม
          สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัดมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่๓ ได้แก่ พระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคางานผสมไม้มุงกระเบื้อง มีรูปแบบผสมผสานระหว่างทรงหลังคาแบบไทยและจีนหน้าบันและคอสองก่ออิฐถือปูนมีชายคาปีกนกโดยรอบ ลักษณะเด่น คือหน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับด้วยปูนปั้นรูปดอกไม้แบบลายก้านแย่งตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบด้านในพระอุโบสถที่ผนังเหนือแนวช่องหน้าต่างมีช่องซุ้มเรือนแก้วตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระสาวกหรือประติมากรรมนูนสูงระบายสีเป็นภาพพระสาวกยืนพนมมือส่วนเครื่องบนและเพดานพระอุโบสถด้านในเขียนลายรดน้ำ ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระวิหารตั้งอยู่คู่กับพระอุโบสถทางด้านทิศเหนือลักษณะรูปแบบโดยรวมคล้ายกับพระอุโบสถภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดความยาว ๖ วา๒ ศอก นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัด เช่น พระมณฑปเจดีย์ทรงกลม เป็นต้น

   

(จำนวนผู้เข้าชม 3477 ครั้ง)