...

ปางพิจารณาชราธรรม
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
>> ปางพิจารณาชราธรรม <<
ลักษณะ : พระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์ซ้ายและขวาวางคว่ำบริเวณพระชานุทั้งสองข้าง
เป็นปางจากพุทธประวัติของเหตุการณ์ในพรรษาที่ 45 พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระพุทธองค์ประทับ ณ บ้านเวฬุวคาม ทรงประชวรหนักเกิดทุกขเวทนา ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยอธิวาสนขันติ และบำบัดขับไล่อาพาธให้สงบระงับด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา
ครั้นหายประชวรเป็นปกติแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า “บัดนี้ เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยเสียแล้ว ชนมายุกาลแห่งเราถึง 80 ปีเข้าแล้วนี่ กายแห่งคถาคตย่อมเป็นประหนึ่งเกวียนชำรุดที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ มิใช่สัมภาระเกวียนฉะนั้น” พระองค์ทรงเปรียบเทียบสังขารว่าเหมือนเกวียนเก่า ซึ่งต้องใช้ไม้ไผ่ผูกดามกระหนาบ
----------------------------------------------------------
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเช่นบูรพกษัติรย์ในสมัยอยุธยาได้เคยปฏิบัติ คือ การสร้างพระพุทธรูปถวายเป็นพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคิดค้นคัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่าง ๆ ตามเรื่องที่มีในพุทธประวัติ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มเติมขึ้น อาทิ ปางทุกรกิริยา ปางรับมธุปายาส ปางลอยถาด ปางรับกำหญ้าคา ฯลฯ โดยมี “ปางพิจารณาชราธรรม” รวมอยู่ด้วย ซึ่งปางนี้ได้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
.
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวนี้เป็นแบบอย่างของพุทธศิลปะแบบแผนสกุลช่างกรุงเทพฯ ที่สำคัญ ปัจจุบันพระพุทธรูปดังกล่าวได้ประดิษฐานในหอราชกรมานุสรณ์ และหอราชพงศานุสรณ์ ทางด้านตะวันตกของพระอุโบสถวัดศรีรัตนศาสดาราม
.
ปางพิจารณาชราธรรมเป็นปางที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการสร้างเหมือนกับปางมารวิชัย หรือ ปางสมาธิที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้มักพบเจอพระพุทธรูปปางนี้ได้ไม่บ่อยนัก
.
ตัวอย่างหนึ่งที่พบในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการสร้างพระพุทธรูป 80 องค์รอบพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นจากศรัทธาบริจาคของพุทธศาสนิกชน โดยมี 66 องค์เป็นปางที่สร้างขึ้นตามเหตุการณ์สำคัญตอนต่าง ๆ ในพุทธประวัติ และหนึ่งในนั้นก็ได้สร้างพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรมนี้ไว้ด้วย
.
และจากเหตุการณ์เจดีย์ถล่มที่วัดศรีสุพรรณ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีการพบพระพุทธรูปที่ถูกบรรจุอยู่ภายในเจดีย์จำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็ได้พบพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรมเช่นกัน ซึ่งแทบไม่เคยพบในพระพุทธรูปล้านนามาก่อน จากประวัติการคิดค้นปางนี้มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา จึงสันนิษฐานได้ว่าพระพุทธรูปปางนี้น่าจะเป็นการบรรจุเพิ่มปะปนรวมกับพระพุทธรูปของเดิมสมัยพระเมืองแก้วกลับเข้าไปในตอนซ่อมเจดีย์ในสมัยหลังก็เป็นได้
--------------------------------------------------------
อ้างอิง
- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2535. หน้า 178-179.
- กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2558. หน้า 12-13, 90.
- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514. หน้า 7-10, 128-129.
- ไขศรี ศรีอรุณ. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสยามประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 6. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2561. หน้า 71.
- ธนากิต. ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2544. หน้า 261-263
.
ที่มาของภาพ
1. ภาพพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม ประดิษฐานภายในหอราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2535.
2. ภาพพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม ประดิษฐานรอบพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์
- กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2558.
3. ภาพลายเส้นพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม - สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514.

(จำนวนผู้เข้าชม 362 ครั้ง)


Messenger