...

กล้อง 3 มิติ
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
ในสมัยก่อนมีสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ให้ความบันเทิงและเป็นที่นิยมของผู้คนในช่วงคริสตวรรษที่ 19 คือ “กล้อง 3 มิติ” (Stereoscope) หรือมีอีกชื่อคือ กล้องถ้ำมอง
.
กล้อง 3 มิติแรกถูกคิดค้นและประดิษฐ์โดย ‘Sir Charles Wheatstone’ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี 1832 เป็นกล้องแบบกระจกสะท้อน โดยใช้กระจก 2 บาน วางทำมุม 45 องศา เพื่อให้สายตาคนดูมองเห็นภาพสะท้อนในแต่ละด้าน และได้ถูกปรับปรุงโดย ‘David Brewster’ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี 1849 ให้เป็นแบบกล้อง 2 เลนส์ที่ใช้ส่องและมองเห็นภาพ โดยเขาเรียกว่า “lenticular stereo scope” จนกลายเป็นกล้อง 3 มิติแรกที่สามารถพกพาได้ ต่อมา ‘Oliver Wendell Holmes’ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันได้พัฒนารูปแบบกล้องให้เพรียวบาง สามารถพกพาถือด้วยมือได้ง่ายขึ้น แถมราคาประหยัด จนกลายเป็นความบันเทิงชิ้นโปรดประจำบ้านและห้องเรียนในยุคนั้น
.
การใช้งานกล้อง 3 มิติ เราจะใช้แผ่นภาพคู่ 2 มิติ (ภาพหนึ่งสำหรับดวงตาข้างซ้าย และอีกภาพสำหรับดวงตาข้างขวา) ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากสถานที่หรือสิ่งเดียวกัน แต่ถูกถ่ายโดยองศาที่ต่างกันเล็กน้อย เมื่อนำมาวางด้านหน้าเลนส์ มองผ่านกล้อง 3 มิติ และเลื่อนปรับระดับระยะห่างให้โฟกัสอย่างเหมาะสมแล้ว สมองจะรวมภาพคู่ 2 มิตินั้นให้เป็นภาพเดียวจนเกิดมิติความลึกเป็นภาพ 3 มิติขึ้นมา
.
กล้อง 3 มิติและแผ่นภาพคู่ ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นของยี่ห้อ Underwood & Underwood ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นภาพ 3 มิติที่ได้รับความนิยม ก่อตั้งบริษัทในปี 1882 โดยสองพี่น้องชาวอเมริกัน ชื่อ Elmer และ Bert Elias Underwood และได้เติบโตขยับขยายสาขาไปในหลายเมือง ทั้งใน อเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร
กล้องยี่ห้อนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของกล้อง 3 มิติ โดยเป็นกล้องแบบ Holmes (Holmes type stereoscope) ที่ใช้มือถือได้ แต่พวกเขาได้เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงดีไซน์ให้ดูทันสมัย โดยทำเป็นดีไซน์อลูมิเนียม ความโดดเด่นนี้ส่งผลให้โรงงานผลิตอื่น ๆ เริ่มทำตามแบบในไม่ช้า
.
ลักษณะกล้อง 3 มิติที่จัดแสดงนี้ มีลักษณะดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของยี่ห้อ Underwood & Underwood คือเป็นแบบกล้อง 2 เลนส์ที่ทำที่ครอบลูกตาห่อหุ้มด้วยอลูมิเนียม ประดับลวดลายใบไม้อย่างฝรั่ง พร้อมสลักชื่อยี่ห้อการค้า “Sun Sculpture U&U Trademark” ด้านหน้าเลนส์กล้อง ทำเป็นไม้ยื่นยาวออกไป เพื่อใช้เลื่อนขึ้น-ลงปรับระดับโฟกัสในการมอง พร้อมกับแท่นวางแผ่นภาพคู่ มีด้ามไม้จับ 1 ด้ามไว้สำหรับถือ ข้างใต้กล้องใกล้ด้ามจับมีข้อความสลักไว้ว่า “Man'f'd by Underwood & Underwood New York Patented June 11.1901 Foreign Patents Applied For”
ส่วนแผ่นภาพคู่ 2 มิติ โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่ายสถานที่และผู้คน บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษที่สันกล่องทำคล้ายปกหนังสือ ระบุชื่อสถานที่ของภาพถ่ายและยี่ห้อไว้
.
โดยกล้อง 3 มิติพร้อมแผ่นภาพตัวนี้ มี 'ความสำคัญ' คือ เป็นของที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงซื้อมาจากพ่อค้าชาวยุโรป และพระราชทานแก่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เมื่อครั้งกราบบังคมลากลับไปเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2451 เนื่องจากทรงเกรงว่าระหว่างทาง หากพระราชชายาอ่านหนังสือจนตาลาย เผื่อจะใช้กล้อง 3 มิติส่องดูเล่นไปได้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/chiangmai.../posts/2626660764234660)
.
>> หากผู้อ่านทุกท่านสนใจ สามารถเข้ามาย้อนเวลา ร่วมสัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงของผู้คนในอดีต ส่องผ่านกล้อง 3 มิติได้ที่อาคารจัดแสดงชั้น 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
>> พร้อมสามารถเข้าชม นิทรรศการพิเศษ “คน (เริง) เมือง ย้อนมองเมืองเชียงใหม่ยุคโมเดิร์นไนซ์ ผ่านสถานที่ ผู้คน และวัตถุเริงรมย์” ที่จัดแสดงอยู่บริเวณใกล้กันได้เช่นกันค่ะ
>> เปิดทำการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09:00 – 16:00 น.
(หมายเหตุ: ขณะนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ งดเว้นค่าเข้าชม เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงห้องจัดแสดงนิทรรศการบางส่วน ทำให้ไม่สามารถจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญบางชิ้นได้ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)
---------------------------------------------------------------------
แหล่งอ้างอิง
- John Plunkett. (2008). “Selling stereoscopy, 1890–1915: Penny arcades, automatic machines and American salesmen”, Early Popular Visual Culture Vol. 6, No. 3, November 2008, p.239–242.
- Kansas Historical Society. “Stereoscopic photographs and marketing of photographs”. [Online].  เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2565, จาก: https://www.kshs.org/kansa.../elmer-and-bert-underwood/12227
- The Guardian. “Stereographic New York: animated 3D images from the 1850s to the 1930s”. [Online]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565, จาก : https://www.theguardian.com/.../stereographic-new-york...
- Museum of Teaching and Learning. “Stereoscope”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2565, จาก: https://www.motal.org/stereoscope.html
- Britannica. “Development of stereoscopic photography”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2565, จาก: https://www.britannica.com/.../Development-of...
- Cove. “Wheatstone invents mirror stereoscope”. [Online]. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2565, จาก: https://editions.covecollective.org/.../wheatstone...
ที่มารูปภาพ
- Wheatstone Stereoscope ที่มา : https://commons.wikimedia.org/.../File:Charles_Wheatstone...
- Brewster Stereoscope ที่มา : https://commons.wikimedia.org/.../File:PSM_V21_D055_The...
- Holmes Stereoscope ที่มา : https://www.flickr.com/photos/zcopley/91299034





(จำนวนผู้เข้าชม 846 ครั้ง)


Messenger