...

ม้าขี่ปู๊เมีย: บทบาทของ LGBT ในพื้นที่พิธีกรรมล้านนา
สวัสดีค่ะทุกท่าน เนื่องด้วยเดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month เราจะเห็นชาว LGBTQ+ ออกมาถือธงสีรุ้ง เดินขบวนเฉลิมฉลอง หรือเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศกันตลอดทั้งเดือนนี้ แต่หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า ในพิธีกรรมดั้งเดิมของวัฒนธรรมล้านนา ชาว LGBTQ+ ก็มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดพิธีกรรมนี้ให้คงอยู่ต่อไปได้ วันนี้ พิพิธภัณฑ์ของเราก็ขอตามกระแสนี้ นำเสนอ #องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เรื่อง "ม้าขี่ปู๊เมีย: บทบาทของ LGBT ในพื้นที่พิธีกรรมล้านนา" ขอเชิญทุกท่านมาร่วมอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยค่าา
******************************************************
ความเชื่อเรื่องผี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เป็นความเชื่อพื้นฐานโบราณของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนการเข้ามาของศาสนาต่างๆ จากภายนอก อย่างศาสนาฮินดู พุทธ หรืออิสลาม ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุลให้คำจำกัดความว่า ผี คือวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นที่มีอิทธิฤทธิ์พิเศษ และเชื่อว่าการเกิดขึ้นเป็นไปของปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ เกิดขึ้นจากฝีมือของผี โดยผีจะกระจายอยู่ทั่วไปในที่ต่างๆ ตั้งแต่ในบ้านเรือน ชุมชน เมือง หรือในสิ่งแวดล้อมที่มีความลี้ลับอย่างป่า ภูเขา แม่น้ำ ฉะนั้นเพื่อให้สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขจึงเกิดพิธีกรรมการนับถือผีขึ้น เพื่อสักการะ บูชา หรือแม้แต่เซ่นสังเวยให้ผีพึงพอใจ ขณะเดียวกัน คนก็ต้องมีหลักในการปฏิบัติตนให้ถูกทำนองคลองธรรม ไม่ทำให้ผีโกรธ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อครอบครัวหรือชุมชนจนอาจถึงแก่ชีวิตได้
สังคมล้านนาเป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีการนับถือผีอย่างเข้มข้นผสมผสานกับการนับถือพุทธศาสนา คนล้านนาจะแบ่งผีออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ผีดี และผีร้าย โดยในกลุ่มผีดีนั้น จะเป็นกลุ่มผีที่คอยปกปักรักษา คุ้มครองคนให้อยู่อย่างเป็นสุข อาทิ ผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) ผีเฮือน (ผีบ้านผีเรือน) ผีเสื้อบ้าน เสื้อเมือง (ผีอารักษ์) ผีเจ้านาย (ผีที่เคยเป็นกษัตริย์หรือราชวงศ์ที่เคยปกครองเมืองหรือแว่นแคว้นใดๆ มาก่อน แล้วเสียชีวิตไปจึงกลายเป็นผี คอยคุ้มครองผู้คนที่ทำความเคารพนับถือ) ส่วนผีร้าย คือ ผีที่ทำร้ายผู้คนให้เจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิต การเลี้ยงผีดีเพื่อคุ้มครองตนจากผีร้ายจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนาที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะพบเห็นไม่มากนักในเขตเมืองใหญ่ แต่ยังสามารถพบเห็นการนับถือผีได้ในเขตชนบทนอกตัวเมืองอยู่
ทำไมการสืบสายผีของล้านนาจะสืบจากเพศหญิงมากกว่าเพศชาย?
เนื่องจากคนล้านนาให้ความเคารพผีมากพอๆกับพระพุทธศาสนา การสืบสายผีโดยเฉพาะผีปู่ย่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกบ้านให้ความสำคัญ เนื่องจากผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษนั้นช่วยคุ้มครองไม่ให้สมาชิกในบ้านประสพภัยอันตรายหรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่การสืบสายผีปู่ย่านั้นมักจะสืบทอดกันแต่เฉพาะสมาชิกครอบครัวเพศหญิงเท่านั้น วิถี พานิชพันธ์ อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อสังเกตว่า สังคมล้านนาในอดีตเพศหญิงจะเป็นใหญ่กว่าเพศชาย โดยผู้หญิงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบ้านเรือน อบรมสั่งสอนบุตรหลาน ตลอดจนทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงมีความตระหนักในการรับผิดชอบครอบครัวมากกว่าผู้ชาย ที่ถูกอบรมเลี้ยงดูอย่างเป็นอิสระมากกว่า โดยบทบาทของผู้ชายล้านนาในอดีต มักจะทำงานนอกบ้านเป็นหลัก เช่น ทำไร่ ไถนา เข้าป่าล่าสัตว์ เด็กผู้ชายจะบวชเรียนตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเติบใหญ่สึกออกมาแล้วก็จะเรียนรู้การเกี้ยวผู้หญิง เล่นดนตรี หรือบางส่วนก็ออกไปแสวงโชคต่างบ้านต่างเมือง เมื่อผู้ชายและผู้หญิงแต่งงานกัน ฝ่ายชายจะเข้ามาอาศัยในบ้านฝ่ายหญิง ฉะนั้นการมอบหมายหน้าที่ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายดูแลผีบรรพบุรุษของตนน่าจะมาจากการที่ผู้หญิงถูกผูกติดให้อยู่กับบ้านมากกว่าผู้ชาย จึงมีแนวโน้มว่าสายผีจะมีผู้ดูแลสืบทอดอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ลำดับขั้นตอนการสืบสายผีของคนล้านนานั้นไม่ได้ยุ่งยาก โดยอาจจะเริ่มจากผู้เป็นแม่เป็นเก๊าผี (ต้นสาย) ที่จะส่งมอบความรับผิดชอบในการดูแลหิ้งปู่ย่า (หิ้งสำหรับตั้งของเซ่นไหว้ผีในบ้าน) หรือ หอปู่ย่า (ศาลตายายนอกบ้าน) ให้กับบุตรสาวคนโตเป็นหลัก หากบุตรสาวคนโตไม่สามารถดูแลผีปู่ย่าได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จะส่งมอบให้บุตรสาวคนเล็กเป็นผู้สืบทอดแทน
ม้าขี่ คือ อะไร?
ม้าขี่ คือ ร่างทรงของผีปู่ย่า ผีเจ้านาย หรือผีอารักษ์ตามคำเรียกของคนล้านนา มีลักษณะแบบเดียวกันกับคนทรงเจ้าในภูมิภาคอื่นของไทย และนัตกะด่อ ซึ่งเป็นร่างทรงของนัตในวัฒนธรรมพม่า จุดประสงค์ของการเป็นม้าขี่ คือ เป็นตัวกลางในการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างผีกับคนธรรมดาเข้าด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ผู้คนนิยมเข้ามาปรึกษาม้าขี่เมื่อมีปัญหาชีวิต ทรัพย์สิน ญาติพี่น้องสูญหาย หรือเจ็บป่วย ผีก็จะให้คำแนะนำผ่านม้าขี่ที่ได้ลงย่ำ (เข้าทรง)
ในประวัติศาสตร์ล้านนายังเคยมีการใช้ม้าขี่และผีเจ้านายเป็นข้อต่อรองเงื่อนไขทางการค้า โดยปรากฏเรื่องเล่าว่า ในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416 – 2440) มีกลุ่มชาวจีนรวมตัวกันผูกขาดการต้มเหล้าในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าของกลุ่มเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ได้ เจ้าอุบลวรรณา พระขนิษฐาของแม่เจ้าทิพเกสร พระชายาของเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทำพิธีเป็นม้าขี่ให้ผีเจ้าพ่อ หรือ เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 ลงย่ำ เพื่อขู่เตือนมิให้ชาวจีนผูกขาดการต้มเหล้าเป็นอันขาด มิฉะนั้นบุคคลผู้นั้นจะได้รับความเจ็บป่วย รวมถึงอาการป่วยของแม่เจ้าทิพเกสรที่เป็นอยู่เดิมก็จะหนักลงไปอีก ด้วยเหตุนี้ เจ้าอินทวิชยานนท์จึงออกคำสั่งยกเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไปโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าความเชื่อเรื่องม้าขี่และผีมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนล้านนาในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะม้าขี่และผีเป็นเสมือนผู้ชี้นำทิศทางการใช้ชีวิตของบุคคลนั้นๆ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหรือเชื่อฟังคำแนะนำอาจจะมีอันเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ตัวม้าขี่ซึ่งเป็นตัวแทนของผีที่ผู้คนให้ความเคารพบูชาก็ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน โดยมีหลักปฏิบัติตนของม้าขี่ที่พึงกระทำ เช่น การไม่สวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีเข้มไปงานพิธีต่างๆ การไม่ร่วมรับประทานอาหารหรือร่วมพิธีในงานศพหรืองานอวมงคล การไม่รับประทานผัก ผลไม้ที่เป็นเครือเถา เช่น พืชกลุ่มแตง ฟัก บวบ ผักปลัง ยอดมะพร้าวอ่อน เป็นต้น และม้าขี่ควรเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เข้าวัดทำบุญ ถือศีล 5 อยู่เสมอ หลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นเสมือนข้อบังคับให้ม้าขี่ทุกเพศ ทุกวัยต้องกระทำเช่นเดียวกันหมด นี่จึงเป็นกุศโลบายหนึ่งที่นอกจากจะทำให้ตัวม้าขี่มีความพิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความน่าเลื่อมใสให้กับตัวม้าขี่เองด้วย
ม้าขี่ปู๊เมีย คือ อะไร และเริ่มมีบทบาทตอนไหน?
คำว่า “ปู๊เมีย” หรือ “ปู๊แม่” ในความหมายของคนล้านนา หมายถึง กะเทย หรือ บุคคลที่มีสองเพศ แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงผู้ชายที่มีจริตออกสาวมากกว่าผู้หญิงที่จริตเป็นชาย หรือที่เรียกตามภาษาปากว่า ทอม ในประเด็นเพศภาพของม้าขี่นั้น ในอดีตม้าขี่ส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง เนื่องด้วยเพศหญิงได้ผูกขาดการสืบสายผี จึงสามารถติดต่อกับผีบรรพบุรุษของตนเองได้ สำหรับม้าขี่เพศชาย และม้าขี่ปู๊เมียเข้ามามีบทบาทในการเป็นม้าขี่ของผีเจ้านายมากขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะม้าขี่ปู๊เมียที่เพศกำเนิดเป็นชายแต่มีเพศสภาพเป็นหญิง หรือเป็นชายรักชาย เริ่มมีสัดส่วนมากกว่าเพศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากงานวิจัยของสุระ อินตามูล เรื่อง พิธีกรรมทรงผีเจ้านาย: พื้นที่เปิดทางเพศภาวะในล้านนา และบทความของกิ่งแก้ว ทิศตึง เรื่อง ร่างทรง และพื้นที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ ได้สัมภาษณ์ม้าขี่ปู๊เมียตั้งแต่รุ่นอาวุโส วัยกลางคน จนถึงคนรุ่นใหม่ในวัยนักศึกษา ม้าขี่ผู้ให้สัมภาษณ์มีความเห็นตรงกันว่าม้าขี่ปู๊เมียมีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งเมื่อเทียบกับม้าขี่เพศหญิง เทียบได้ว่า หากมีม้าขี่ในผาม (ปะรำพิธี) จำนวน 10 คน จะเป็นม้าขี่ปู๊เมียประมาณ 5 คน ม้าขี่หญิงชรา 4 คน และม้าขี่ชาย 1 คน เป็นต้น อย่างไรก็ดี สุระ อินตามูล ได้กล่าวว่าแม้สัดส่วนม้าขี่ปู๊เมียจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ม้าขี่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นม้าขี่ของผีเจ้านายเป็นหลัก เนื่องจากการถูกเลือกให้เป็นม้าขี่จากผีเจ้านายมีความเปิดกว้างมากกว่าการเป็นม้าขี่ของผีปู่ย่าที่ยังคงเน้นที่เพศหญิงหรือบุคคลที่มาจากสายตระกูลนั้นๆ อยู่
ทำไมม้าขี่ปู๊เมียจึงถูกเลือกจากผีเจ้านายมากกว่าม้าขี่เพศอื่นๆ?
จากการสัมภาษณ์ม้าขี่ปู๊เมียจำนวน 5 คน ในงานวิจัยของสุระ อินตามูล มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ผีเจ้านายเคยเลือกลงย่ำสมาชิกในสายตระกูลเพศหญิงของตนมาก่อน เช่น ยายทวด ย่า ยาย ซึ่งเมื่อม้าขี่เหล่านี้แก่ตัวลงหรือตายไป ผีเจ้านายจึงเลือกมาลงย่ำที่ตนแทนญาติเพศหญิงคนอื่นๆ โดยม้าขี่ทั้งห้าให้ความเห็นว่า การที่ผีเจ้านายเลือกลงย่ำเกย์หรือกะเทย  เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องประจำเดือน สามารถดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หอผี ให้สวยงาม สะอาด เรียบร้อยได้เหมือนเพศหญิง มีปัญหาการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ในชีวิตประจำวัน อันเป็นการปฏิบัติตนที่ดูไม่เหมาะสมกับการเป็นม้าขี่น้อยกว่าเพศชาย อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์ของกิ่งแก้ว ทิศตึง มีม้าขี่ปู๊เมียจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่า แม้ตนจะได้รับความเคารพนับถือจากลูกเลี้ยง (ลูกศิษย์) แต่ตนกลับรู้สึกว่าลูกเลี้ยงให้ความเคารพผีเจ้านายที่ลงย่ำอยู่มากกว่าเคารพตนในฐานะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศคนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า แม้ภายนอกม้าขี่ปู๊เมียจะได้รับความเคารพนับถือในสังคมแบบอนุรักษ์นิยมของล้านนา แต่โดยลึกแล้ว ยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับเพศสภาพที่แท้จริงของตัวม้าขี่ได้
การดำรงอยู่ของการเป็นม้าขี่ปู๊เมียเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางเพศสภาพที่หลากหลาย ที่อาจพบเห็นได้ไม่ง่ายนักในสังคมอนุรักษ์นิยม แม้เกย์และกะเทยจะมีส่วนร่วมในพิธีกรรม งานบุญตามประเพณีล้านนามานานแล้ว เช่น การจัดดอกไม้ ทำพานพุ่มบายศรี หรือเป็นแม่งานในขบวนแห่ช่างฟ้อน แต่สถานภาพของม้าขี่ปู๊เมียนั้นแตกต่างออกไป ผู้ที่เป็นม้าขี่ คือ ผู้ที่ถูกคัดเลือกจากผีเจ้านาย ซึ่งมีความพิเศษกว่าปุถุชนทั่วไป มีลูกศิษย์ทุกเพศทุกวัยที่ศรัทธาในตัวผีเจ้านายตนนั้นๆ ให้ความเคารพนับถือ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มขึ้นของม้าขี่ปู๊เมียในผามพิธีกรรม เป็นการเปิดประตูให้เพศที่สามเข้ามามีบทบาทในวิถีความเชื่อแบบโบราณนี้ได้แนบเนียนและไม่สร้างความตะขิดตะขวงใจต่อผู้นับถือ
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ บทบาทของม้าขี่ในวัฒนธรรมภาคเหนือมีความคล้ายคลึงกับนัตกะด่อ หรือ คนทรงนัต ในวัฒนธรรมพม่าเป็นอย่างมาก นัตในความหมายของคนพม่า คือ วิญญาณครึ่งผีครึ่งเทพเจ้า นัตในวัฒนธรรมพม่าก็มีการแบ่งคล้ายๆ กับผีในวัฒนธรรมล้านนา ได้แก่ นัตเรือน หรือมีงมหาคีรีนัต คือนัตที่ประจำอยู่ในบ้านเรือน ลักษณะเดียวกับผีปู่ย่าหรือผีบ้านผีเรือน นัตพุทธ คือ นัตที่ถูกหลอมรวมเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้ว มีจำนวน 37 ตน นัตใน เป็นนัตที่อยู่ในเขตกำแพงเจดีย์ชเวซิโข่ง มีจำนวน 37 ตนเช่นกัน และนัตนอก เป็นนัตที่อยู่นอกกำแพงเจดีย์ชเวซิโข่ง และเป็นนัตจะเข้าทรงในตัวของนัตกะด่อ คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านในงานเทศกาลบูชานัต ที่จะจัดขึ้นสามครั้งต่อปี โดยในช่วงขึ้น 10 -  15 ค่ำของเดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงเทศกาลบูชานัตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี
เพศภาพของนัตกะด่อในพม่ามีแนวโน้มเป็นเพศที่สามมากขึ้นเช่นเดียวกับม้าขี่ปู๊เมียในภาคเหนือของไทย โดยในพม่า หลายๆคนเรียกเทศกาลบูชานัตนี้ว่า เทศกาลเกย์ เนื่องจากเหล่านัตกะด่อเพศที่สามและลูกศิษย์ที่มักจะเป็นเพศที่สามเช่นเดียวกัน จะมารวมตัวกันในพิธีนี้ ชาวพม่าที่เป็นเพศที่สามกล่าวว่า พื้นที่การเป็นนัตกะด่อและเทศกาลบูชานัต เป็นพื้นที่เดียวที่พวกเขาสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเสร็จสิ้นเทศกาล พวกเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และยังคงถูกเหยียดเพศสภาพจากคนทั่วไปในสังคมตามเดิม คำถามที่ต่อมา คือ หากวิถีความเชื่อแบบโบราณอย่างผีและนัต เปิดกว้างให้กลุ่มเพศทางเลือกเข้ามามีบทบาทสำคัญในพิธีกรรม แต่เหตุใดสังคมสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ ยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศจากกลุ่มคนบางกลุ่มอยู่
****************************************************
แหล่งอ้างอิง
1). กิ่งแก้ว ทิศตึง. (2559).  “ร่างทรง และพื้นที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ.”  ลีลาชายขอบ วารศาสตร์สังคมศาสตร์  28, 1 (มกราคม – มิถุนายน): 87 – 108.
2). ประวัติศาสตร์นอกตำรา.  (2564).  “นัต 37 ตน บนพื้นที่แห่งความศรัทธาในสังคมชาวพม่า”.  [วีดิทัศน์ออนไลน์]. เผยแพร่ทาง https://www.youtube.com/watch?v=yT5YGtysUY4. 4 สิงหาคม.
3). เพ็ญสุภา สุขคตะ.  (2559).  ปริศนาโบราณคดี : ‘เจ้าอุบลวรรณา’ Working Woman แห่งล้านนา เมื่อคิดจะรัก ต้องกล้าหักด่านฐานันดร.  เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/culture/article_16910
4). ยศธร ไตรยศ.  (2560).  นัต: พลังศรัทธาของมวลชน.  เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2565.  เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/cultures/604/the-faith-of-myanmar-people/
5). สุระ อินตามูล. (2555).  พิธีกรรมทรงผีเจ้านาย: พื้นที่เปิดทางเพศภาวะในสังคมล้านนา (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
















(จำนวนผู้เข้าชม 3187 ครั้ง)