ประเพณียี่เป็ง
๐ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่ 'ประเพณียี่เป็ง' ของล้านนาแล้วค่ะ (ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของภาคกลาง) สังเกตได้จากการประดับประดาโคม การจุดผางประทีป ตามวัดและบ้านเรือนต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นภาพงดงามซึ่งจะมีโอกาสได้เห็นกันในช่วงประเพณีนี้นั่นเองค่ะ
๐ ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา
๐ ตำนานที่กล่าวถึงที่มาของประเพณียี่เป็งมีอยู่หลายตำนาน เช่น หนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไปอยู่ที่เมืองสะเทิม ต่อมาเมื่ออหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองสะเทิม จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน
๐ งานประเพณีจะมีทั้งหมด 3 วัน คือ
- วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ ชาวพื้นถิ่นเรียกว่า ‘วันดา’ จะเป็นวันสำหรับการซื้อของตระเตรียมสิ่งต่างๆ ไปทำบุญที่วัด (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ ต.ค. ๒๕๖๓)
- วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๐ ต.ค. ๒๕๖๓)
- วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๖๓)
๐ กิจกรรมที่ชาวล้านนานิยมกระทำในประเพณียี่เป็ง คือ การจุดผางประทีปและโคมไฟบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ การปล่อยว่าว จุดบอกไฟชนิดต่างๆ วัด การไปทำบุญที่วัดในวันยี่เป็ง การฟังเทศน์ใหญ่ ที่เรียกว่า เทศมหาชาติ และการทำซุ้มประตูป่า
๐ โดยชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านและประตูวัด ด้วยซุ้มประตูป่า โดยการนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ ดอกไม้ต่างๆ ฯลฯ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า และเชื่อกันว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ภายในบ้านของของเรา จะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมากอีกด้วยค่ะ
๐ เอกสารอ้างอิง :
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.
ศรีเลา เกษพรหม. (๒๕๔๒). ล่องสะเพา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๑, หน้า ๕๘๕๐-๕๘๕๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สงวน โชติสุขรัตน์. (๒๕๑๑). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.
(จำนวนผู้เข้าชม 138803 ครั้ง)