...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
เสื้อครุย 2

แบบศิลปะ / สมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๕ วัสดุ (ชนิด) ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ขนาด ยาว ๑๑๒ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา เป็นเสื้อของเจ้าแก้วนวรัฐ มอบให้เจ้าเจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เสื้อครุยของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๕๔ – ๒๔๘๒) เสื้อครุยเป็นเครื่องประกอบยศของพระมหากษัตริย์และข้าราชการ แต่จะเริ่มใช้เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน เสื้อครุยทองนี้ถือว่าเป็นของสำคัญเพราะสร้างจาก “ผ้ากรองทอง” แล้วปักดิ้นทองเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง พร้อมสำรดข้างตัวเสื้อ เป็นรูปแบบของเสื้อครุยพระราชวงศ์ลำดับหม่อมเจ้าขึ้นไป

เสลี่ยง

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๔ วัสดุ (ชนิด) ไม้ลงรักปิดทอง และงาช้าง ประดับกระจก ขนาด กว้าง ๖๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๘๗ เซนติเมตร สูง ๕๕ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พระมหาธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เสลี่ยง ลักษณะเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองล่องชาด ทรงสี่เหลี่ยม ฐานล่างแกะลายลูกฟักสลับกับลายก้ามปู เหนือขึ้นไปทำลายแข้งสิงห์และนมสิงห์ จากนั้นจึงเป็นชั้นฐานบัว ที่ท้องไม้ประดับกระจก ด้านล่างสุดมีห่วงกลมสำหรับสอดไม้คานหามอยู่สี่ที่ พนักพิงและเท้าแขนทำจากงาช้าง

ถ้ำมอง

แบบศิลปะ / สมัย สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ วัสดุ (ชนิด) ไม้ โลหะ กระจก ขนาด กว้าง ๑๘ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเพื่อไว้ดูระหว่างการเดินทางกลับนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีกราบถวายบังคมลากลับไปเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงส่งสิ่งของจำนวนมากไปพระราชทานแด่พระราชชายาขณะเดินทาง “ถ้ำมอง” นี้ ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ ดังนี้ “... ด้วยดิลกว่าจะขึ้นไปส่ง เผอิญพออ้ายฝรั่งให้เอารูปถ้ำมองมาขาย จึงนึกว่าไปตามทางจะเปล่าเต็มที อ่านหนังสือตาลาย เผื่อจะหยุดดูรูปเล่นเปนการแก้รำคาญ แต่เสียดายเวลา ไม่พอที่จะได้จดชื่อตำบนลงเปนหนังสือไทย นอกจากเมืองจีนแลญี่ปุ่น เปนที่ซึ่งเคยไปเที่ยวแล้วโดยมาก ที่เล่าถึงในหนังสือไกลบ้านก็มีมากตำบล ยังมีสวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม แลฮอลแลนด์ที่ได้ไป แต่เห็นว่าที่ส่งมาถึง ๗๙๘ มากเต็มทีอยู่แล้วไม่มีที่จะเอาไป แต่เท่านี้ก็หนักพออยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่าจะชอบฤาไม่ เพราะมันหนักเรือกีดที่เต็มที แต่ถ้ามีเรือเป็นขั้วสมุดจะเรียกแทนก็ได้ ดุ๊ก และเจ้าชายว่าคงจะชอบจึงได้ส่งขึ้นมา แต่ถ้าพรุงพรังนักส่งให้ดิลกคืนมาเสียก็ได้ มันยังมีช่องที่จะส่งถึงได้ ก็ส่งไปด้วยความคิดถึงเท่านั้น ...”

สัปคับพระที่นั่ง

แบบศิลปะ / สมัย สมัยรัตนโกสินทร์ วัสดุ (ชนิด) ไม้จำหลัก งาช้าง หวาย ลงรักปิดทอง ขนาด กว้าง ๗๙ เซนติเมตร ยาว ๑๘๑ เซนติเมตร สูง ๘๗ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา เดิมเป็นสมบัติของเจ้าราชภาคินัย และเจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ พุทธสถาน เชียงใหม่ มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในมณฑลฝ่ายเหนือ (พิษณุโลก) และมณฑลพายัพ (แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา และเชียงใหม่) ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยรถไฟพระที่นั่งถึงนครเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ และเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ มีพระราชกรณียกิจและประทับที่นครเชียงใหม่ เป็นเวลา ๑๕ วัน ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนครเชียงใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า คหบดีนครเชียงใหม่ ได้จัดกระบวนแห่รับเสด็จเข้าเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับบนหลังช้างพระที่นั่งองค์ละช้าง ช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช้างทรงของพลตรีเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ช้างพระที่นั่งนั้นมีปกกระพองห้อยพู่จามรีห้อยข้างซองหาง ผูกกูบทองโถง เครื่องประดับช้างทั้งหมดทำด้วยเงิน ควาญหัวคือนายพันตำรวจเอกเจ้าชัยสงคราม ท้ายช้าง รองอำมาตย์เอก เจ้าประพันธุ์พงศ์ สัปคับ หรือ แหย่งช้าง หลังนี้สร้างด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ส่วนฐานเป็นแบบโปร่ง ตรงกลางใต้ช่องที่นั่งทำเป็นแป้นนูน ด้านหน้าสลักเป็นภาพขุนกระบี่ (ลิง) ติดในกรอบริมหยักแกะสลักลายก้านขด ด้านหลังเป็นภาพยักษ์ถือกระบอง พนักโดยรอบเป็นไม้แกะสลักฉลุเป็นลายก้านขดลงรักปิดทอง ประดับด้วยซี่กรงซึ่งทำด้วยงาช้างกลึงอย่างประณีต ส่วนของพื้นที่นั่งทำด้วยหวายเส้นขนาดเล็ก ลงรัก ทาชาด มีพนักพิงด้านหลัง ลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปกลีบบัวลงรักทาชาดทางด้านหน้า ส่วนด้านหลังแกะลายกนกก้านขด ลงรักปิดทอง ด้านหน้าของสัปคับมีห่วงเหล็ก ๒ ห่วง สันนิษฐานว่าน่าจะใช้สำหรับเป็นที่ร้อยเชือกสำหรับตรึงสัปคับเข้ากับตัวช้างให้แน่นหนายิ่งขึ้น

เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด

เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาถูกประดับอยู่ที่บริเวณผนังของวิหารวัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1998 สมัยพระเจ้าติโลกมหาราช โดยโปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากวิหารมหาโพธิ์ ตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยย่อส่วนให้เหลือประมาณ 1 ใน 3 ส่วนเท่านั้น ส่วนลวดลายปูนปั้นที่ผนังนอกวิหารใช้การประดับเป็นรูปเทวดาแทนตำแหน่งพระพุทธรูป ซึ่งแตกต่างจากต้นแบบ .ลักษณะของเทวดาที่ประดับเรียงรายอยู่ในแต่ละช่องที่คั่นด้วยเสามี 2 ชั้น แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 1. เทวดานั่งพนมมือ ท่าทางเหมือนลอยหรือเหาะอยู่กลางอากาศ ประดับที่ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ 2. เทวดายืนพนมมือ อยู่บนฐานบัว ประดับที่มุมจากการยกเก็จด้านหลังของวิหารพื้นหลังของเทวดาตกแต่งโปรยปรายด้วยลายดอกไม้ร่วง จากลักษณะดังกล่าวนี้เอง การประดับเทวดาในที่นี้น่าจะหมายถึง เหล่าเทวดาลงมาชุมนุม ร่วมแสดงความยินดีในคราวที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ เนื่องจากเหล่าเทวดามีหันพระพักตร์ไปทางด้านหลังของวิหารวัดเจ็ดยอด ซึ่งมีต้นโพธิ์อันเป็นสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ภาพเหล่าเทวดาหรือเทพชุมนุมเช่นนี้มักพบอยู่ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ที่วัดเจ็ดยอดนี้เป็นงานปูนปั้นด้านนอกของวิหาร.รูปแบบของเทวดาทั้งกลุ่มนั่งและยืน มีพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรง แย้มพระโอษฐ์ พระวรกายเพรียวบาง บั้นพระองค์เล็ก เครื่องประดับ ทรงสวมมงกุฎกรวยสูง (กรัณฑมงกุฎ) กุณฑล กรองศอ สายอุทรพันธะ พาหุรัด ข้อพระกร ข้อพระบาท การแต่งกาย ทรงสวมผ้านุ่งยาวและชักชายผ้าออกมาโดยทำให้มีลักษณะพลิ้วไหวปลายสะบัดขึ้น ทำให้เหมือนว่าเทวดากำลังล่องลอยอยู่กลางอากาศพื้นหลังมีลายดอกไม้ร่วง โดยทำเป็นลายดอกโบตั๋น ผสมใบและลายกนกก้านขด ลายก้อนเมฆ ลายจำปาดะที่คล้ายดอกจำปีหรือจำปา แต่มีขนาดใหญ่กว่า.เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอดถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการกำหนดอายุงานศิลปกรรมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ของล้านนาได้ จากรูปแบบข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะหลายแหล่งที่เป็นนิยมในช่วงนั้น เช่น การทำพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรมองตรง พระวรกายบาง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ได้ปรากฏในกลุ่มพระพุทธรูปด้วย การสวมเครื่องประดับ เช่น กรัณฑมงกุฎ การนุ่งผ้า และลายดอกจำปาดะ ก็แสดงให้เห็นถึงกระแสศิลปะลังกา ที่ในสมัยพระเจ้าติโลกมหาราช มีกลุ่มพระภิกษุนิกายวัดป่าแดงได้ไปศึกษาศาสนาที่ลังกาและอาจนำกลับมาก็เป็นได้ ส่วนลายดอกโบตั๋น แสดงให้เห็นถึงความนิยมในลวดลายประดับแบบศิลปะจีนที่พบเจอทั้งในงานประติมากรรม งานจิตรกรรม และเครื่องถ้วยในสมัยนี้-------------------------------------------อ้างอิง- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 121 - 123.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 323 – 325.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า .ที่มารูปภาพ- ภาพถ่ายเก่าวัดเจ็ดยอด จาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่