...

ด้านความรู้อื่นๆ
สมเด็จย่ากับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

-- สมเด็จย่ากับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม -- ๐ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่เอื้อคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างมหาศาลอีกประการหนึ่งคืองานเกี่ยวกับการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนสิ่งแวดล้อมให้ฟื้นคืนกลับมามีสภาพที่ดีดังเดิม ซึ่งหนึ่งในหลายๆ งานในด้านนี้ของพระองค์ได้แก่โครงการพัฒนาดอยตุง ดังพระราชดำริที่ว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” พระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุงพระราชดำรินี้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอกเปรมติณ สูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นจึงได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ๐ ปัจจุบันนี้ สภาพป่าบนดอยตุงสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเชื่อว่า เมื่อหลายปีก่อนเคยเป็นภูเขาที่แห้งแล้งไม่มีต้นไม้อยู่เลยด้วย พระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการปลูกป่าและพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุงนี้เอง ทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ ได้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนหมดสภาพ ความเป็นป่าได้เกิดชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับราชการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเป็นระบบ ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตามเดิม

สมเด็จย่ากับการศึกษาของเยาวชนในชนบทไทย

-- สมเด็จย่ากับการศึกษาของเยาวชนในชนบทไทย -- ๐ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของเยาวชนในเขตชนบทเป็นอย่างมากด้วยทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เยาวชนในชนบท มีความรู้ความคิดและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดอันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชนบท แต่จากการ เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกลับทรงพบกับสภาพความขาดแคลน โรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ด้วยในเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการยังขยายเขตการศึกษาไปไม่ถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ห่างไกล ประกอบกับการสื่อสารโทรคมนาคมก็มิได้เจริญเฉกเช่นในปัจจุบัน ทั้งในเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการแทรกซึมของเหล่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวางทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเพิ่มความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแทรกซึม ซึ่งบางแห่งมิได้พูดภาษาไทยกัน ด้วยซ้ำจะเกิดความไม่แน่ชัดว่าตนคือคนไทยด้วยหรือไม่ ๐ ดังนั้นเมื่อความทราบใต้ฝ่าพระบาทว่ากองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ได้กำหนดโครงการที่จะจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาขึ้นในเขตพื้นที่ตามแนวชายแดนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนจำนวน ๒๙ แห่งภายหลังผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้า ถวายเงินสมทบในการจัดสร้างได้อีกกว่า ๑๘๕ แห่ง ๐ ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้ทรงรับเอาโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์ ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกือบ ๔๐๐ โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในส่วนงานการประถมศึกษา ส่วนที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดนมีเพียง ๑๗๐ โรงเรียน และเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง พระองค์ได้ทรงฝากให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงช่วยดูแลแทนดังพระราชพระแสที่ว่า “...ย่าแก่แล้ว ไปไหนไม่ค่อยไหว ถ้าสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ก็ให้เยี่ยมแทนย่าด้วย...” ๐ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเยาวชนในท้องถิ่นชนบทห่างไกลเป็นล้นพ้น

สมเด็จย่ากับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข

-- สมเด็จย่ากับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข -- ๐ นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ อันเป็นปีที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่งสร้างเสร็จได้ราวปีเศษ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้อัญเชิญสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ พระตำหนักแห่งใหม่นี้ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงพระดำเนินไปตามป่าเขาและแวะเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ในละแวกนั้น ทำให้ได้ทรงพบเห็นราษฎรหลังจากนั้นเป็นต้นมา ๐ ทุกครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องที่ห่างไกลก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง ทุกครั้งอย่างไรก็ตามในแต่ละแห่งที่เสด็จเยี่ยมทรงใช้เวลาราว ๓-๔ ชั่วโมง ทำให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯ เพียง ๑ - ๒ ท่าน ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนนับร้อยได้ทัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นก่อนในปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ๐ ดังนั้นในปีถัดมา (พุทธศักราช ๒๕๑๒) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีพระราชปรารภถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรเข้ามาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์นี้และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระ ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล” หรือที่พระราชทานชื่อย่อ “พอ.สว.” ขึ้น ที่นี่หน่วยแพทย์ พอ.สว. จะประกอบไปด้วยแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใดและจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งการออกปฏิบัติดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๒

สมเด็จย่ากับการบริหารราชการแผ่นดิน

ระหว่างพ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงรับพระราชภาระเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ๐ ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระองค์ตลอดเกือบ ๗ เดือน ในการนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณ ได้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์โดยในระหว่างนั้นได้ทรงเสด็จฯเข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรีเป็นประจำเสมอมิได้ขาด กับยังได้ทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมายและประกาศทีสำคัญหลายฉบับ อาทิพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์อิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ.๒๕๐๓ พระราชบัญญัติเรื่องการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๐๓ และประกาศเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แห่งชาติระหว่างเวลา พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙ และประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้น นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังได้ทรงเสด็จฯ ออกรับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งในการมาประจำที่ประเทศไทยตลอด๐ นับได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นผู้สำเร็จราชแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ ๓ นับเนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๙

วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

๐ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓ วันพระราชสมภพ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ของพสกนิกรชาวไทย ๐ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐม รามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ และ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งเป็นพระอัยยิกา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหา วชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ๐ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระราชมารดาที่ประเสริฐสุด โดยทรงอภิบาลอบรมพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ ด้วยพระองค์เองอย่างดีเยี่ยมทั้งด้านพระราชจริยวัตร การศึกษา การอบรมขัดเกลาพระกิริยาอัธยาศัย ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการทุกเรื่องจนพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ ๐ พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ ได้สร้างคุณูปการแผ่ไพศาลต่อแผ่นดินไทยมากมายไม่ว่าจะด้านบริหารราชแผ่นดิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษาของเยาวชนในชนบทไทยและงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๐ ด้วยพระจริยวัตรที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระกรุณาธิคุณ “สมเด็จย่า” จึงทรงเป็นที่รักใคร่เลื่อมใสศรัทธาและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พสกนิกรทั้งแผ่นดิน --------------------------------------------------------------- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. โทรศัพท์ : ๐๕๓-๒๒๑๓๐๘ e-mail : cm_museum@hotmail.com

ประเพณียี่เป็ง

๐ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่ 'ประเพณียี่เป็ง' ของล้านนาแล้วค่ะ (ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของภาคกลาง) สังเกตได้จากการประดับประดาโคม การจุดผางประทีป ตามวัดและบ้านเรือนต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นภาพงดงามซึ่งจะมีโอกาสได้เห็นกันในช่วงประเพณีนี้นั่นเองค่ะ ๐ ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ๐ ตำนานที่กล่าวถึงที่มาของประเพณียี่เป็งมีอยู่หลายตำนาน เช่น หนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไปอยู่ที่เมืองสะเทิม ต่อมาเมื่ออหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองสะเทิม จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน ๐ งานประเพณีจะมีทั้งหมด 3 วัน คือ - วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ ชาวพื้นถิ่นเรียกว่า ‘วันดา’ จะเป็นวันสำหรับการซื้อของตระเตรียมสิ่งต่างๆ ไปทำบุญที่วัด (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ ต.ค. ๒๕๖๓) - วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๐ ต.ค. ๒๕๖๓) - วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ (ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๖๓) ๐ กิจกรรมที่ชาวล้านนานิยมกระทำในประเพณียี่เป็ง คือ การจุดผางประทีปและโคมไฟบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ การปล่อยว่าว จุดบอกไฟชนิดต่างๆ วัด การไปทำบุญที่วัดในวันยี่เป็ง การฟังเทศน์ใหญ่ ที่เรียกว่า เทศมหาชาติ และการทำซุ้มประตูป่า ๐ โดยชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านและประตูวัด ด้วยซุ้มประตูป่า โดยการนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ ดอกไม้ต่างๆ ฯลฯ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า และเชื่อกันว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ภายในบ้านของของเรา จะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมากอีกด้วยค่ะ ๐ เอกสารอ้างอิง : มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์. ศรีเลา เกษพรหม. (๒๕๔๒). ล่องสะเพา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๑, หน้า ๕๘๕๐-๕๘๕๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. สงวน โชติสุขรัตน์. (๒๕๑๑). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.