...

ด้านความรู้อื่นๆ
วันสังขานต์ล่อง

--- วันสังขานต์ล่อง --- . วันสังขานต์ล่อง หรือ วันสังขารล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่เมือง (ในปี 2564 นี้ วันสังขานต์ล่องตรงกับวันที่ 14 เม.ย. ) . "สังขานต์" คือ คำเดียวกับ "สงกรานต์" ในภาษาสันสกฤต แปลว่า "ก้าวล่วงแล้ว" วันสังขานต์ล่องในภาษาล้านนา ตรงกับภาคกลาง คือ วันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า . ในวันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับ “ปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์” ซึ่งจะแบกรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาด บ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใส . วันนี้ในเมืองเชียงใหม่จะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เสด็จขึ้นบุษบกในช่วงเช้า และช่วงบ่ายอัญเชิญแห่ รอบเมืองเชียงใหม่ ให้ประชาชนได้ทำการสรงน้ำ และมีขบวนพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ เข้าร่วมแห่ ในขบวน การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปสำคัญเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประเพณีปีใหม่เมืองจะทำให้ เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว """"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) e-mail : cm_museum@hotmail.com สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308 For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+

เหมี้ยง

สวัสดีทุกท่านค่ะ เนื่องในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ตรงกับวันพืชมงคล ทางเพจของเราจึงขอนำเสนอ #องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพืชที่มีความผูกพันกับคนล้านนามานานอย่าง "เหมี้ยง" ให้ทุกท่านติดตามกันว่าเหมี้ยงมาจากที่ไหน การอมเหมี้ยงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ วิธีการผลิตเหมี้ยงเป็นอย่างไร และสถานะของเหมี้ยงในปัจจุบันจะเป็นแบบไหนต่อไปในอนาคต จากบทความนี้ได้เลยค่ะ . . "เหมี้ยง : จากชาป่าสู่อาหารว่างคนล้านนาที่ใกล้สูญหาย" . . เมื่อพูดถึง “เมี่ยง” หลายๆ คนคุ้นเคยกันดีว่าเป็นอาหารว่าง หรือในยุคสมัยนี้ เรามักจะนึกถึงลักษณะอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบชะพลูหรือแผ่นแป้งเวียดนามห่อเครื่องจำพวกผัก สมุนไพร หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์ ราดน้ำเมี่ยงแล้วกินเป็นคำๆ เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู หรือเมี่ยงปลาเผา เป็นต้น แต่สำหรับคนทางภาคเหนือหรือคนเมืองนั้น เมี่ยง หรือ เหมี้ยง ยังหมายถึงใบชาหมักรสเปรี้ยว ฝาด บางครั้งก็มีการเติมน้ำตาลให้มีรสหวาน คนเมืองนิยมรับประทานกันหลังมื้ออาหารคล้ายกับเป็นของล้างปากหลังมื้ออาหารคาวหรือกินเป็นของว่าง เรียกว่าการ “อมเหมี้ยง” . . เหมี้ยง แท้จริงแล้วคือใบชาอัสสัมป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Camellia sinensis Seem. ในวงศ์ Theaceae เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ใบเล็กยาว มีรสเปรี้ยวอมฝาด ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกส้ม มักขึ้นตามหุบเขา หรือป่าดิบเชิงเขาทางภาคเหนือ เช่นที่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน ในใบเหมี้ยงหรือชา มีคาเฟอีน 3 - 4% แทนนิน 7 - 15% และน้ำมันหอมระเหย ด้วยเหตุนี้เองคนเมืองจึงนิยมอมเหมี้ยงในเวลากลางวันไว้เป็นของ “แก้ง่วง” นั่นเอง . . แล้ววัฒนธรรมการอมเหมี้ยงนี้มาจากไหน? . . จากการศึกษาความเป็นมาของเหมี้ยงของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง พบว่าวัฒนธรรมการอมเหมี้ยงเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ปรากฏมาอย่างช้านานแล้วในกลุ่มไตและชาติพันธุ์บางกลุ่มในรัฐฉาน ลาวเหนือ และไทยวนในล้านนา หลักฐานที่เก่าที่สุดในขญะนี้ที่กล่าวถึงเหมี้ยง คือ ศิลาจารึกวัดพระธาตุหริภุญไชย เมื่อ พ.ศ.2053 กล่าวถึงพระเมืองแก้ว ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้มีพระราชศรัทธาสร้างหอมณเฑียรธรรมและพระคัมภีร์ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงถวายเครื่องบูชา และเงิน 1,100 เพื่อให้เอาดอกเป็นค่าหมากเหมี้ยงบูชาพระธรรม และปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ผูกที่ 9 ที่แต่งขึ้นใน พ.ศ. 2060 ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งจะไปเกิดในเมืองหงสาวดี และจะมีอาชีพเป็นพ่อค้าเหมี้ยง นอกจากนี้ หลักฐานในช่วง 200 ปีที่ผ่านมายังพบ “อูปเหมี้ยงทองคำ” ที่กษัตริย์พม่ามอบเป็นเครื่องยศให้กับเจ้าฟ้าหัวเมืองเชียงแสน และปรากฏคำว่า “หมากเหมี้ยง” ในบริบทอื่นๆ อาทิ บทสวดพิธีกรรมต่างๆ เช่น คำสู่ขวัญข้าว คำสู่ขวัญควาย เป็นต้น เป็นค่าปรับไหม และปรากฏในคร่าว (บทกวี) เล่าเรื่องเมืองเชียงแสนแตก และมีการถวายหมากเหมี้ยง กินหมากพลูอมเหมี้ยง เป็นต้น . . จากหลักฐานเหล่านี้อาจพออนุมานได้ว่า คนเมืองมีความผูกพันกับเมี่ยงมาตั้งแต่สมัยล้านนาแล้ว ในยุคที่การบริโภคเหมี้ยงเฟื่องฟู ราวศตวรรษที่ 19 มีนักสำรวจชาวยุโรปได้ระบุว่า ป่าเหมี้ยงได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ตั้งแต่แม่ริมจรดฝาง และเหมี้ยงถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคเหนือ เป็นรองแต่เพียงข้าวและไม้สักเท่านั้น จนเป็นที่มาของ “พ่อเลี้ยงเหมี้ยง” หรือพ่อค้าคนกลางผู้รับซื้อเหมี้ยงและดูแลกิจการป่าเหมี้ยงซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์สำคัญของยุคนั้นเลยก็ว่าได้ . . การอมเหมี้ยงไม่เพียงแต่จะเป็นการบริโภคเฉพาะในแต่ละครัวเรือนเท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวเชื่อมโยงทางสังคมให้แต่ละบ้านได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น โดยการนำเหมี้ยงมาสู่ (แบ่งปัน) ให้กับแขกที่มาเยือนบ้าน หรือเตรียมไว้ให้ผู้ที่มาช่วยงานต่างๆ ทั้งงานบุญ งานแต่ง และงานศพ เป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ จากเจ้าบ้านมอบให้กับผู้มาเยือนได้ผ่อนคลายกับของว่างที่มีอยู่เพียงไม่กี่อย่างในสมัยนั้น . . การหมักเหมี้ยงทำอย่างไร? . . กรรมวิธีการผลิตเหมี้ยงนั้นไม่ได้ยุ่งยาก เริ่มจากการเก็บใบเหมี้ยงสดจากป่าเหมี้ยง โดยเลือกเก็บเอาแต่ใบกลางแก่กลางอ่อนแล้วนำมานึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้วจึงนำมาหมักในน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ แต่ในบางพื้นที่ เช่น จ.แพร่ จะนำใบเหมี้ยงนึ่งสุกแล้วไปหมักในตะกร้าก่อนให้เกิดเชื้อราแล้วค่อยนำไปหมักน้ำ เรียกว่าเมี่ยงแหลบ การหมักนั้นยิ่งใช้เวลาน้อยวันเท่าไหร่ เหมี้ยงก็จะคงความฝาดมากเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะนิยมหมักตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปจนถึงเป็นปี เพื่อให้ความฝาดลดน้อยลงและมีรสเปรี้ยว เหมี้ยงที่มีรสฝาดจะเรียกว่า “เหมี้ยงฝาด” เหมี้ยงที่รสเปรี้ยว เรียกว่า “เหมี้ยงส้ม” และเหมี้ยงที่มีรสหวานจากการเติมน้ำตาลเรียกว่า “เหมี้ยงหวาน” แต่เหมี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นเหมี้ยงส้ม วิธีกิน คือ นำใบเหมี้ยงมาแผ่บางๆ แล้วใส่เกลือเม็ดลงไป 1 – 2 เม็ด จากนั้นห่อเหมี้ยงให้เป็นคำแล้วเคี้ยวหรืออมไว้ในปาก พร้อมกับสูบบุรีขี้โย (บุหรี่ใบตองห่อยาเส้น) เท่านี้ก็นับเป็นความสุขเล็กๆ สำหรับคนเมืองในสมัยก่อนแล้ว . . นอกเหนือจากการบริโภคเหมี้ยงหมักที่ได้รับความนิยมกันทั่วไปอยู่แล้ว น้ำที่เหลือจากการนึ่งเหมี้ยงยังสามารถนำมาประกอบอาหารต่อได้อีก โดยนำมาเคี่ยวในกระทะจนข้นแล้วใส่ข้าวคั่ว โรยกระเทียมเจียว แคบหมูชิ้นเล็ก ขิงซอย และพริกทอด เรียกว่า “น้ำเหมี้ยง” หรือการนำใบเหมี้ยงสดมายำกับปลาปิ้งหรือปลาแห้งแล้วใส่ผักสมุนไพรต่างๆ เช่น หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู ตะไคร้ ขิง เรียกว่า “ส้าเหมี้ยง” ก็ถือเป็นเมนูจากเหมี้ยงที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การอมเหมี้ยงเลยทีเดียว . . ในปัจจุบัน ความนิยมบริโภคเหมี้ยงเริ่มลดน้อยลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย แม้เราจะยังคงพบเห็นการผลิตและค้าขายเหมี้ยงอยู่ในตลาดทั่วภาคเหนือแต่ก็หาได้ยากแล้ว ขณะเดียวกัน ป่าเหมี้ยงที่ถือได้ว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของระบบนิเวศน์มากที่สุดแห่งหนึ่งก็เริ่มลดน้อยลง จากการแผ้วถางพื้นที่ไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนอย่างกาแฟ หรือแปรสภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เห็นถึงปัญหานี้ จึงได้วิจัย พัฒนา และต่อยอด “เหมี้ยง” แบบเดิมๆ ให้กลายเป็นเหมี้ยงที่ทันสมัยรองรับกับตลาดยุคใหม่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการผลิตให้มีมาตรฐานความสะอาด หรือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากเหมี้ยง เช่น ชาเชียวเหมี้ยง ชาเหมี้ยงหมัก ลูกอมหรือกัมมี่เหมี้ยง หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเหมี้ยง เช่น แชมพู สบู่ และน้ำยาบ้วนปาก ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็พยายามตีตลาดออนไลน์ให้เหมี้ยงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น เหล่านี้จึงเป็นความหวังให้กับเหมี้ยงว่าจะสามารถกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจอีกครั้งในอนาคต . . . ที่มา ธเนศวร์ เจริญเมือง. เหมี้ยง : ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนทางแยก. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : ทรีโอ แอดเวอร์ไทซิ่ง มีเดีย จำกัด, 2562. https://www.agro.cmu.ac.th/lanna/sinnensis.htm https://www.matichon.co.th/.../prachachuen.../news_1158315 https://www.matichonweekly.com/column/article_172905 https://www.youtube.com/watch?v=MP4pjBVoRys https://www.youtube.com/watch?v=oGIvY1gYTk0&t=1101s

ประเทศเมียนมาฉลองวันวิสาขบูชา

ประเทศเมียนมา ข้ามฟากมาที่ประเทศเมียนมาหรือพม่ากันบ้างค่ะ ในวันวิสาขบูชาของชาวเมียนมานั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 2 ตามปฏิทินของเมียนมา โดยชาวเมียนมาเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วันกะโส่ง - ละ - ปญี่” หรือแปลว่าวันเพ็ญเดือนกะโส่ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคมค่ะ . วัตรปฏิบัติโดยทั่วไปของชาวเมียนมานั้นคล้ายกับที่บ้านเรา คือ การเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ธรรม และปล่อยนกปล่อยปลาให้ทานแก่สัตว์ แต่ที่แตกต่างออกไป คือ ชาวเมียนมาจะไม่เวียนเทียนเช่นเดียวกับบ้านเรา แต่นิยมการรดน้ำต้นโพธิ์แทน โดยชาวเมียนมาจะนำน้ำสะอาดหรือน้ำที่ผสมน้ำอบน้ำหอมใส่ในหม้อดินเผาที่ปักด้วยใบหว้า แล้วรดไปที่โคนต้นโพธิ์พร้อมถวายดอกไม้นานาชนิด ทั้งนี้คนพม่าเชื่อกันว่าต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหรือพุทธิปัญญา (ต้นโพธิ์เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) ผู้ใดได้ทำแล้วจะขึ้นสวรรค์ ซึ่งการรดน้ำต้นโพธิ์นี้ยังเป็นกุศโลบายในการดูแลรักษาต้นโพธิ์ให้อยู่รอดในช่วงหน้าแล้งด้วยค่ะย

ประเทศไทยฉลองวันวิสาขบูชา

ประเทศไทย เริ่มต้นกันที่ประเทศไทยก่อนเป็นที่แรก โดยปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 (เนื่องจากปีนี้มีเดือน 8 สองหน จึงต้องเลื่อนไปเป็นเดือน 7 แทน) หรือวันที่ 26 พฤษภาคม โดยทั่วไป รัฐบาลจะประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา โดยในช่วงเช้าประชาชนจะนิยมเข้าวัด ทำบุญตักบาตร และฟังธรรมเทศนา และช่วงค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถ วิหาร หรือเจดีย์ บางครั้งทางวัดหรือหน่วยงานต่างๆ อาจมีการบวชพระสงฆ์และสามเณร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยค่ะ . ในภาคท้องถิ่นแต่ละจังหวัดอาจมีกิจกรรมที่พิเศษนอกเหนือจากการเข้าวัดทำบุญ และเวียนเทียนทั่วไป อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัด “ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ” ชาวเชียงใหม่จะเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพกันตั้งแต่ช่วงค่ำในคืนก่อนหน้าวันวิสาขบูชา โดยจะมีการตั้งขบวนแห่น้ำสรงพระธาตุ มีขบวนฟ้อนรำนำหน้าไปตามถนนทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าของวันวิสาขบูชาประชาชนก็จะไปการนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ และทำบุญตักบาตรก่อนเดินทางกลับ การเดินเท้าขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพนี้ ชาวเชียงใหม่เชื่อกันว่าเป็นบุญกุศลมากและเป็นกิจกรรมที่ “ควรทำ” อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต

สวัสดีปี๋ใหม่เมืองเจ้า

. สวัสดีปี๋ใหม่เมืองเจ้า... . กลับมาพบกันอีกครั้งกับสาระความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่อีกเช่นเคยค่ะ เพื่อให้เข้ากับบรรยายกาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ มีเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆมามอบให้กับแฟนเพจทุกๆท่านค่ะ โดยวันนี้เราขอเสนอองค์ความรู้ เรื่อง “ป๋าเวณีปีใหม่เมือง : ประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา” ค่ะ . ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือ ประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ . ทำไมต้องปีใหม่เมือง?? . อย่างที่เรารู้กันค่ะว่า “วันขึ้นปีใหม่” ตามสากลคือ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ส่วนคำว่า “ปีใหม่ไทย” มีที่มาจาก ในอดีตวันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ค่ะ . คนภาคเหนือตามภาษาถิ่นจะเรียกแทนตัวเองว่า “คนเมือง” ฉะนั้นในส่วนของคนเหนือหรือคนเมืองแล้ว จะไม่ได้พูดคำว่า “สงกรานต์” เลย แต่จะเรียกกันว่า “ปี๋ใหม่เมือง” มากกว่าค่ะ และเรียกวันขึ้นต้นปี 1 มกราคมว่า “ปี๋ใหม่ไทย” แทน . ช่วงปีใหม่เมืองนี้ ชาวเหนือจะมีพิธีกรรมต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศาสนาหรือชุมชน ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆได้ลดความสำคัญจากวันปีใหม่ไทย(ช่วงวันสงกรานต์) ให้เป็นเพียงเทศกาลสงกรานต์ มีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามปกติทั่วไป แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่ากับคนภาคเหนือค่ะ . เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ปีนี้รัฐบาลสั่งงดการเล่นน้ำและการจัดขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปสำคัญ ที่ทุกปีจะมีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำ โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสมโภชพระพุทธสิหิงค์ โดยอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานด้านหน้าวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำแทนค่ะ . ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพและมีความสุขในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวนี้นะคะ ไว้พบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้าค่ะ """""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) e-mail : cm_museum@hotmail.com สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308 For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+