...

ฟ้อนม่านมุยเชียงตา
ฟ้อนม่านมุยเชียงตา
         ฟ้อนม่านมุยเชียงตา การฟ้อนแบบหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าถ่ายทอดผ่านท่ารำ การแต่งกาย ดนตรี บทร้อง ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นในช่วงสมัยของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผสมผสานท่วงทำนองดนตรีพม่า และเพลงไทยเดิม อาทิ เพลงโยดายา เว่นซัยนันดา กลุ่มเพลงที่พม่าได้รับอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุง มีเนื้อร้องเป็นภาษาแปลงให้คล้ายกับสำเนียงพม่า ในปัจุบันไม่สามารถแปลความหมายได้
         เมื่อครั้งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จกลับมาประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงนำเพลงและรูปแบบการแสดงด้านนาฏศิลป์ จากกรุงเทพฯ มาผสมผสานกับการฟ้อนพื้นเมือง เกิดเป็นการฟ้อนรูปแบบใหม่ กำหนดให้เป็นมาตรฐานหลากหลายชุดการแสดง อาทิ ฟ้อนม่านมุยเชียงตาฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนกำเบ้อ (ผีเสื้อ) ฟ้อนม่านแม่เล้ ระบำซอ ฟ้อนโยค เป็นต้น
         จากบทความเรื่องฟ้อนม่าน ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๒ เล่ม ๑ มิถุนายน ๒๔๙๑ ความว่า “ข้าพเจ้าได้ดูฟ้อนม่านครั้งแรกเมื่อตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นไปเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เนื่องแต่ประเพณีทางเหนือ มีการทำขวัญแก่ผู้ที่ได้ไปถึงเมืองครั้งแรก พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ จึงทรงทำขวัญประทานข้าพเจ้าและน้อง ๆ ซึ่งขึ้นไปถึงเชียงใหม่เป็นครั้งแรก และมีฟ้อนในเวลากลางคืน เราได้ดูฟ้อนเมือง (เชียงใหม่) ของพระราชชายาที่ ๆ พักในคืนแรก และดูฟ้อนม่านของเจ้าหลวงที่คุ้มในคืนรุ่งขึ้น ผู้ฟ้อนเป็นหญิงสาวแต่งตัวแบบพะม่า นุ่งซิ่นยาวถึงพื้น ใส่เสื้อเอวสั้น มีลวดอ่อนงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อยและแขนเสื้อยาวถึงข้อมือ มีแพรห่มสีต่าง ๆ คล้องคอทิ้งยาวลงมาถึงเข่า เกล้ามวยบนกลางหัวและปล่อยชายผมลงมาข้าง ๆ บนบ่า มีดอกไม้สดใส่รอบมวยเป็นพวงมาลัย และอุบะยาวห้อยลงมากับชายผม ในเวลากราบลง ๓ หน พร้อมกับคำร้องว่า - สู่เค สู่ - เค สู่ – เค นั้น งามอ่อนหวานจับหูจับตาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทำนองเพลงและท่าฟ้อนรำเห็นได้ว่า คือเพลงช้าและเพลงเร็วนั้นเอง”
 ฟ้อนม่านมุยเชียงตานี้ นับว่าเป็นการแสดงที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ผสมผสานท่วงท่า ท่วงทำนอง การแต่งกาย อันเป็นเอกลักษณ์ของพม่าและล้านนาเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ล้านนาอันงดงาม และมีการนำออกแสดงหลายครั้งในวาระสำคัญต่าง ๆ อาทิ การรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พุทธศักราช ๒๔๖๙ เมื่อครั้งเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ จวบจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงได้รับการสืบทอด และนำออกแสดงในวาระสำคัญต่าง ๆ ซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบนาฏศิลป์ล้านนาที่ได้รับการผสมผสานศิลปะการแสดงของพม่าอันงดงาม ติตตราตรึงใจผู้ที่ได้ชมเสมอมา
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อ้างอิง
๑. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๕๘. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิร เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
๒. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เจ้าดารารัศมี. ๒๕๕๗. กรุงเทพฯ : บริษัท วินอินดีไซน์ จำกัด
๓. พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ๒๔๙๑  “ฟ้อนม่าน หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล.”  วารสารศิลปากร, ๒(๑), ๒๒-๒๕.





(จำนวนผู้เข้าชม 3056 ครั้ง)


Messenger