...

องก์ที่ ๕ อนุรักษ์พัฒนาผืนผ้าไทย
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง ๙๐ วัสสา ผืนป่าห่มหล้า ผืนผ้าห่มเมือง
องก์ที่ ๕ อนุรักษ์พัฒนาผืนผ้าไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จแต่งตัวด้วยผ้าพื้นเมืองที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ควรแก่การอนุรักษ์ จึงมีพระราชดำริว่า คนเหล่านี้แม้ยากจนแต่มีความรู้และฝีมือในการทำงานศิลปหัตถกรรม เช่น การทอผ้าไหม การปักผ้า การสานกระเป๋า เป็นต้น จึงทรงส่งเสริมให้ราษฎรได้ทำงานฝีมือที่คุ้นเคยเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ถือเป็นการช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว     
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ     
     มูลนิธิก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นผู้พระราชทานกำเนิดมูลนิธิและทรงเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและราษฎรผู้มีรายได้น้อย ทั้งยังช่วยอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน จนสามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสรรค์งานฝีมือชิ้นเยี่ยมไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย
สถาบันสิริกิติ์
     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง “โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ เพื่อให้ราษฎรที่ยากจนมาฝึกอบรมงานศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ สำหรับเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และสืบสานงานศิลปะชั้นสูงของไทยด้วย ต่อมา รัฐบาลประกาศยกสถานะโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ขึ้นเป็น “สถาบันสิริกิติ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)
     จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)” มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมา เปลี่ยนเป็น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน รวมทั้งขยายผลงานศิลปาชีพในระยะยาวให้กว้างขวางและเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเป็นศูนย์การค้าด้านผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพที่สมบูรณ์ในตัว
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
     จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทยประเภทต่าง ๆ ที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ และจัดแสดงประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย รวมถึงจัดแสดงฉลองพระองค์ชุดไทยเมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก      
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
อ้างอิง :
๑.  สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.  ๒๕๖๐.  ๘๔ พรรษา ราชินีศรีแผ่นดิน.  กรุงเทพฯ: กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล.
๒. คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือไม้ดอกและไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติ. ๒๕๓๖. ไม้ดอกและไม้ประดับ. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.
๓. กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๖๑. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙. กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์.
๔. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ๒๕๔๘. ประมวลพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
๕. กรมการศาสนา. ๒๕๕๗. พระราโชวาทและพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
๖. กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงวัฒนธรรม, และ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์. ๒๕๕๐. ถักร้อยดวงใจมหกรรมทอผ้าไทย เทิดไท้พระบรมราชินีนาถ. กรุงเทพมหานคร: ศรีสยามการพิมพ์.  
๗. สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน). ม.ป.ป. ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ (Online). https://www.sacict.or.th/th/listitem/10223 , สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔.
๘. อรุณวรรณ ตั้งจันทร, เกษร ธิตะจารี, และ นิรัช สุดสังข์. ๒๕๕๖. “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอจากผ้าปักชาวเขาเผ่าม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์.” วารสารวิชาการ ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ๔ (๒): ๕๕-๖๗.  
๙. กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๕๘. อัคราภิรักษศิลปิน. กรุงเทพมหานคร: มปท.
๑๐. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม. ๒๕๖๔. ครูช่างทอ ผู้ได้ชื่อว่า “๔ ทหารเสือราชินี” แห่งวงการผ้าไหมไทย (Online). https://www.silpa-mag.com/culture/article_67780 , สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔.
๑๑. กรมการพัฒนาชุมชน. ม.ป.ป. สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

(จำนวนผู้เข้าชม 241 ครั้ง)


Messenger