...

เรือหางแมงป่อง
#ภาพเก่าเล่าเรื่อง
ตอน เรือหางแมงป่อง
 เรือหางแมงป่องหรือเรือแม่ปะ คนเชียงใหม่เรียกเรือสีดอ เป็นเรือแบบชนิดเรือขุด คือเรือที่มนุษย์สร้างขึ้นจากไม้ขนาดใหญ่และสามารถลอยน้ำได้ เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียน แล้วใช้แรงงานคนขุดด้วยเครื่องมือจำกัด เช่น ขวาน ผึ่ง ค้อน สิ่ว ในการตัดและขุดเรือมาใช้งาน
 ลักษณะของเรือหางแมงป่อง คือ ลำเรือขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ ๑๖–๑๘ เมตร ด้านหน้าเรือกว้างกว่าท้ายเรือ โขนเรือด้านหลังต่อให้แบนและโค้งงอนขึ้นจนคล้ายหางของแมงป่อง ส่วนหัวเรือต่อให้ยาวยื่นออกมา ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร เพื่อให้ลูกเรือขึ้นไปยืนถ่อเรือ (การใช้ไม้ค้ำให้เรือเดินต่อ) มีประทุนค่อนไปด้านหลังสำหรับบรรทุกสินค้า ส่วนท้ายต่อประทุนยกสูง ตัวประทุนใช้ไม้ไผ่สานแบบโค้ง ส่วนหลังคามีหลังคาอีกชั้นเพื่อเลื่อนไปมากันแดดกันฝน ในอดีตชาวล้านนาใช้เป็นเรือสำหรับขนส่งสินค้าจากเชียงใหม่ส่งไปถึงกรุงเทพฯ สินค้าที่สำคัญ คือ น้ำผึ้ง น้ำมันยาง ของป่าอื่น ๆ แล้วขนสินค้าจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขายที่เชียงใหม่ สลับกันไปมา
 อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะของเรือที่เหมาะแก่การใช้ล่องแม่น้ำแม่ปิง นอกจากใช้ในการบรรทุกสินค้าแล้ว ยังพบการใช้เรือหางแมงป่อง เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจากกรุงเทพฯ ไปถึงเมืองกำแพงเพชร ปรากฏในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการเสด็จประพาสในครั้งนั้นว่าใช้เรือแม่ปะ เจ้าของเรือ คือ พระยาสุรสีห์ ตั้งชื่อให้ว่า “สุวรรณวิจิก” เป็นพาหนะในการเดินทาง
 ต่อมาการล่องเรือหางแมงป่อง ได้ถูกแทนที่ด้วยการสร้างทางรถไฟสายเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งได้มีการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้ทำพิธีเปิดสถานีรถไฟเชียงใหม่ การดำเนินชีวิตและวิถีการเดินทางของชาวไทยถิ่นเหนือจึงเปลี่ยนแปลงไป มีความสะดวกมากขึ้นและการค้าทางเรือจึงหมดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะต้นทุนในการขนส่งสินค้าทางบกถูกกว่าทางเรือมาก
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
อ้างอิง :
๑. พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ. ๒๕๕๐. ครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ – ๒๕๔๙.จังหวัดกำแพงเพชร : พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ. (ที่ระลึกพระโสภณคณาภรณ์
(สมจิตต์ อภิจิตฺโต) ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐)
๒. ชูสิทธิ์ ชูชาติ.๒๕๔๙. พ่อค้าเรือหางแมงป่อง นายฮ้อยหลวงลุ่มแม่น้ำปิง (พ.ศ.๑๘๓๙ - ๒๕๐๔). พิมพ์ครั้งที่ ๒. ลานาการพิมพ์: ศูนย์ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น.
๓. เชียงใหม่นิวส์. ๒๕๖๒. “สถานีรถไฟเชียงใหม่ ความเจริญเติบโตทางคมนาคมที่มาสู่การเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ (Online).”. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1066909/, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕.
๔. มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร. ม.ป.ป. “ชนิดของเรือขุด.” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๓๙ (online).
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php..., สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕.








(จำนวนผู้เข้าชม 987 ครั้ง)


Messenger