...

ขันแก้วทั้งสาม
เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม
ตอน ขันแก้วทั้งสาม
 ขัน ในภาษาล้านนา หมายถึง พาน ในภาษาภาคกลาง ขันเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งของในแง่ของความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ และถูกใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ขันแบ่งออกเป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการใช้งานและวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน
 ขันแก้วทั้งสาม (ขันแก้วตังสาม) หรือ ขันแก้ว คือ พานใส่ดอกไม้ของชาวล้านนาเพื่อบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีใช้ทั่วไปในภาคเหนือ ลักษณะคือ เป็นกระบะทรงสามเหลี่ยม ที่มีขาตั้งสามขา ปากพานเป็นรูปสามเหลี่ยม บ้างเป็นทรงกลม นิยมทาด้วยรักและสีชาด ปิดทองและเขียนด้วยลายรดน้ำให้สวยงาม ลักษณะทรงสูง มักสูงจากพื้นประมาณ ๓๐ นิ้ว
 การทำขันแก้วทั้งสามขึ้นนั้น ในสมัยโบราณชุมชนต้องการให้ชาวบ้านร่วมใจกันนำดอกไม้และธูปเทียนมาถวายรวมกันในที่เดียวกันเพื่อความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยวิธีการใส่ดอกไม้ต้องให้รู้ความหมายและลำดับวิธีใส่จึงจะเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ขั้นตอนแรก เตรียมธูปสามดอกใส่ลงมุมที่สมมติว่าถวายบูชาแก่พระพุทธเจ้าก่อนจะวางธูปลงไปให้กล่าวว่า พุทธคุณัง ปูเชมิ. แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาคุณของพระพุทธเจ้า จากนั้นวางเทียนสองเล่มที่อีกมุมหนึ่ง แทนการบูชาพระธรรมกับพระวินัย และกล่าวว่า ธัมมคุณัง ปูเชมิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม จากนั้น วางดอกไม้ในมุมสุดท้ายเพื่อถวายบูชาคุณพระสงฆ์ และกล่าวว่า สังฆคุณัง ปูเชมิ. แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาคุณพระสงฆ์
 ขันแก้วทั้งสามที่ใช้ประเคนเมื่อถึงเวลาไหว้พระรับศีลหรือสวดมนต์ถวายไทยทานนั้น ผู้รับหน้าที่ของทายิกาคนใดคนหนึ่งจะยกขันแก้วทั้งสามไปไว้หน้าพระพุทธรูปประธาน โดยการประเคนคือ ยกขันแก้วไปบริเวณฐานชุกชีหรือแท่นแก้ว แล้ววางไว้บริเวณนั้น กราบ ๓ หน จึงเสร็จพิธี
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ชุดพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกตการาม
อ้างอิง :
๑. ยุทธภูมิ นามวงศ์. ๒๕๖๒ ต.ค. ๒๘. นักข่าวพลเมือง (คนเหนือ), พบกันเช้าวันใหม่ จันทร์ ๒๘ ต.ค. ๒๕๖๒ – ขันแก้วตังสามของชาวพุทธล้านนา. [ไฟล์วิดิโอบนสื่อออนไลน์]. https://www.youtube.com/watch?v=QMAqUDMCBjQ&ab_channel=ยุทธภูมินามวงศ์.
๒. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. ๒๕๖๑. “เครื่องใช้ในพิธีกรรม...ของคนล้านนา.” เชียงใหม่นิวส์ (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/664587/, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔.
๓. พระครูมหาสิงค์. ๒๕๕๕. เก่าดี. เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์.




(จำนวนผู้เข้าชม 5370 ครั้ง)


Messenger