...

จารึกบันไดขึ้นเขาวัดธรรมามูล ณ วัดธรรมามูลวรวิหาร จังหวัดชัยนาท
จารึกบันไดขึ้นเขาวัดธรรมามูล ณ วัดธรรมามูลวรวิหาร จังหวัดชัยนาท
..
วัดธรรมามูลวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัด มหานิกาย ตั้งอยู่ในบริเวณ หมู่ที่ ๑ ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยนาท สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ด้วยพบใบเสมาที่ล้อมรอบพระอุโบสถ เป็นใบเสมาคู่ที่สร้างจากหินทรายสีแดง ซึ่งเป็นใบเสมาที่นิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในพระอารามประกอบไปด้วยอาคารที่สำคัญเช่น พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ และพระวิหารน้อยที่อยู่เหนือขึ้นไปบนเขาธรรมามูล และยังเป็นพระอารามที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดชัยนาท คือ “หลวงพ่อธรรมจักร” อันเป็นพระพุทธรูปยืน ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวชัยนาทและจังหวัดข้างเคียง
..
ภายในพระอารามแห่งนี้ยังปรากฎโบราณวัตถุที่สำคัญอีกหนึ่งสิ่ง คือ จารึกบันไดขึ้นเขาวัดธรรมามูล จารึกนี้สร้างจากหินอ่อนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดิษฐานอยู่บริเวณซุ้มบันไดชั้นบนด้านข้างพระวิหารหลวงพ่อธรรมจักร อันเป็นจารึกที่บอกเล่าอีกหนึ่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ณ พระอารามแห่งนี้
..
โดยจารึกนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องการสร้างบันไดจากพื้นราบริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปยังเชิงเขาที่ตั้งพระอุโบสถและพระวิหารของวัดธรรมามูลและซ่อมบันไดเก่าชั้นบนที่ชำรุดด้วย อีกทั้งจารึกยังบอกเล่ารายละเอียดขนาดความกว้างและความยาวของบันไดนี้ไปจวบจนงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมไปถึงรายพระนามและรายนามผู้บริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย โดยในจารึกได้มีการระบุวันที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ อันเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) แห่งบรมราชจักรีวงศ์
..
โดยในจารึกบันไดขึ้นเขาวัดธรรมามูล ประกอบไปด้วยเนื้อความพอสังเขปดังนี้ “จารึกบรรใดขึ้นเขาวัดธรรมามูลนี้ โดยกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ ยาว ๒ เส้น ๒ วา ๓ ศอก รวม ๙๓ คั่น จ้างจีนตุ้นก่อเหมาตลอดถึง ซ่อมบรรใดเก่าชั้นบนที่ชำรุดด้วย สิ้นเงิน ๖๒๒ บาท ๒๓ สตางค์ เสร็จเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ศก ๑๓๐ โดยพระกำแพงพลล้านคิดจัดการ ดังมีรายพระนามแลนามผู้บริจาคทรัพย์แจ้งต่อไปนี้
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถพระพันปีหลวง ๒๐๐ บาท
พระนางเจ้าพระราชเทภี ๔๐ บาท
พระกำแหงพลล้าน ผู้ว่าราชการเมือง ๘๐ บาท
หลวงอภัย ข้าหลวงมหาดไทย ๑๐ บาท
หลวงเพ็ชร์สงคราม ยกกระบัตรเมือง ๑๐ บาท
นายพร้อม ยกกระบัตรเมือง ๕ บาท
นายประชุม ผู้ช่วยราชการคลัง ๖ บาท
พระศรีสิทธิ์กรรม์ นายอำเภอมะโนรมย์ ๒๐ บาท
หลวงสรรค์สิทธิ์กิจ นายอำเภอสรรค์ ๑๐ บาท
หลวงวรัยการธารี ผู้พิพากษา ๑๐ บาท
นายจันทร์ พธำมรงค์ ๑๐ บาท ๕ สตางค์
นายใหญ่ รองปลัด ๕ บาท
ว่าที่ร้อยตรีนารถ ผู้ช่วยบังคับกองตำรวจภูธร ๕ บาท
หลวงคลัง ปลัดขวาอำเภอมะโนรมย์ ๖ บาท
นายแต้ม ปลัดซ้ายอำเภอมะโนรมย์ ๕ บาท
นายน้อย สมุหบาญชีอำเภอมะโนรมย์ ๖ บาท
จ่านายสิบโฉม ผู้ช่วยสัสดี ๕ บาท
จีนทังหลัง ยี่กงสุราอำเภอสรรพยา ๑๒ บาท
นายถนอม ยี่กงสุราอำเภอเมือง ๑๒ บาท
นายชม ยี่กงสุราอำเภอพยุหะ ๘ บาท
จีนตังกวย พ่อค้าวัดปลัง ๖ บาท
ผู้ออกเงินไม่เกินกว่า ๔ บาท คือ
ตำบลวัดปลัง ๒๕ ชื่อ ๒๗ บาท ๒๔ สตางค์
ตำบลบ้านกล้วย ๓๗ ชื่อ ๑๔ บาท ๔๐ สตางค์
ตำบลธรรมามูล ๒๖ ชื่อ ๓๗ บาท ๙๗ สตางค์
ตำบลหาดกงสีน ๕ ชื่อ ๕ บาท
ตำบลบ้านเชี่ยน ๑๐ ชื่อ ๖ บาท ๕๐ สตางค์
ตำบลท่าไม้ ๕ ชื่อ ๕ บาท
ตำบลหาดท่าเสา ๙ ชื่อ ๕ บาท ๗๖ สตางค์
ตำบลคุ้งสำเภา ๗ ชื่อ ๑๕ บาท
ตำบลวัดสิงห์ ๑ ชื่อ ๒ บาท
ตำบลวัดงิ้ว ๓๘ ชื่อ ๑๐ บาท ๕๑ สตางค์
ตำบลสรรพยา ๑ ชื่อ ๔ บาท
ตำบลบ้านจีน ๓ ชื่อ ๙ บาท
ตำบลบ้านเชี่ยน ๔ ชื่อ ๕ บาท
ตำบลหันคา ๒๐ ชื่อ ๓ บาท ๘๐ สตางค์
รวมทั้งสิ้น ๖๒๒ บาท ๒๓ สตางค์”
..
คุณค่าของจารึกนี้ ได้บอกเล่าการร่วมบุญในการสร้างบันไดทางขึ้นเขาวัดธรรมามูลเพื่อเป็นสาธรณสมบัติสืบไปในอนาคต โดยเป็นการร่วมบริจาคทั้งชาวบ้านตำบลต่างๆ ในจังหวัดชัยนาท พ่อค้าคหบดี ข้าราชการขุนนางในระดับจังหวัด ไปจนถึงพระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรีที่ได้ร่วมบริจาค เป็นหลักฐานที่สะท้อนประวัติศาสตร์เมืองชัยนาทในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ นั่นเอง

(จำนวนผู้เข้าชม 35 ครั้ง)


Messenger