บทความทางวิชาการ "จิตรกรรมฝาผนังในหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร"
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สำคัญแห่งหนึ่งพบอยู่ภายในหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ประสานขอความร่วมมือกับทางวัดในการจัดระเบียบการจัดวางวัสดุสิ่งของภายในหอไตร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ในการเข้าชมความงามของจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่และหาดูยากในปัจจุบัน และประทับใจในคุณค่าทางศิลปกรรมของฝีมือช่างชั้นครูในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมหอไตรหลังนี้เป็นเรือนประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อคราวดำรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ต่อมา พ.ศ. ๒๓๓๑ พระองค์ทรงมีพระประสงค์ปฏิสังขรณ์เรือนหลังเดิมนี้ให้เป็นหอพระไตรปิฎกแก่วัด ในพ.ศ. ๒๕๑๓ ได้เคลื่อนย้ายหอไตรจากตำแหน่งเดิมซึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำหลังพระอุโบสถนอกกำแพงกั้นเขตพุทธาวาส มายังเขตพุทธาวาสในตำแหน่งปัจจุบัน ลักษณะของหอไตร เป็นเรือนไทยสามหลังแฝด มีชานด้านหน้า ประกอบด้วยหอนั่ง หอกลาง และหอนอน จิตรกรรมภายในหอไตร เป็นฝีมือช่างครูสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน “สาส์นสมเด็จ” ได้กล่าวไว้ว่าภายในหอกลางนั้นจิตรกรรมเขียนเรื่องราวรามเกียรติ์เป็นฝีมือพระอาจารย์นาค ครูช่างผู้มีฝีมือเป็นเลิศในยุคสมัยนั้น และรวมทั้งครูช่างอื่นๆอีกหลายท่าน ที่ได้เขียนจิตรกรรมไว้ภายในหอทั้ง ๓ เรื่องราวจิตรกรรมภายใน"หอกลาง" ผนังด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ผนังด้านทิศใต้ประดับลวดลายทองฉลุลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง จิตรกรรมภายใน"หอนอน" ผนังด้านทิศเหนือ เขียนเรื่องไตรภูมิ เรื่องพระเวสสันดรชาดก เรื่องพระมาลัย เหล่าวิทยาธร เทวดาเหาะถืออาวุธ และท้าวสักกะเทวราช ผนังด้านทิศตะวันออก เขียนเรื่องท้าวสักกะเทวราช ทิศตะวันตกและทิศใต้ เขียนเรื่องเหล่ากองทัพอสูรขี่สัตว์เป็นพาหนะ เรื่องราวจิตรกรรมภายใน"หอนั่ง" ผนังทิศตะวันออก ผนังทิศเหนือและผนังทิศตะวันตกตอนบนเหนือกรอบหน้าต่างเขียนรูปเทพชุมนุม และผนังตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างเขียนรูปพันธ์พฤกษาและสรรพสัตว์ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้ให้ความสนใจหอไตรแห่งนี้ โดยได้คัดลอกลายเส้นจิตรกรรมฝาผนังภายในหอไตรก่อนหน้าที่จะปฏิสังขรณ์อาคาร และต่อมาอาจารย์เฟื้อได้ดำเนินการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังโดยเน้นการรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมของจิตรกรรมไว้ การดำเนินงานแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ปัจจุบัน กองโบราณคดีได้สำรวจสภาพความชำรุดของจิตรกรรมและได้ตั้งของบประมาณในการอนุรักษ์ไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดทำคำบรรยายภาพจิตรกรรมเพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป เรียบเรียงโดย : นางสาวกนกวรรณ สุนทรวิภาต นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงาน

(จำนวนผู้เข้าชม 2455 ครั้ง)