สาระน่ารู้เรื่องโกลน
สวัสดีค่ะ วันนี้อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม นำสาระน่ารู้เรื่องโกลน ไปชมกันได้เลยค่ะ
โกลน หมายถึง การนำวัสดุ เช่น ไม้ ดิน อิฐ หิน ปูน ศิลาแลง มา ถาก เกลา หรือปั้นอย่างคร่าวๆ ก่อนนำไปตกแต่งให้สมบูรณ์ต่อไป เช่น โกลนเสา โกลนพระพุทธรูปหิน โกลนธรรมจักร หรือโกลนเทวรูปต่างๆ ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโกลน เช่น นำหินมาโกลนทำรูปเคารพ รวมถึงเครื่องใช้ต่างๆ ในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12- 16)ที่แหล่งตัดหินเขาพระ จังหวัดเพชรบุรี และพบร่องรอยการตัดหิน และโกลนให้เป็นรูปร่างก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างปราสาท ในวัฒนธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ 15 - 18)ที่แหล่งตัดหินสีคิ้ว ในจังหวัดนครราชสีมา และแหล่งตัดหินเขานางซอ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นแหล่งตัดหินในการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม พบร่องรอยการสกัดหินรูปครึ่งวงกลมและนำตัวหินที่โกลนไว้แล้วไปใช้ประโยชน์
โกลนหินที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม
บริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธมพบหลักฐานของโกลนหินบริเวณทางเข้าหลักทางทิศตะวันออกของปราสาทสด๊กก๊อกธมโดยเป็นโกลนหินของเสานางเรียงจำนวน ๑ ต้น ที่ยังแกะสลักไม่เสร็จอยู่ร่วมกับเสานางเรียงต้นอื่นๆ สันนิษฐานว่าคนสมัยโบราณนำหินมาโกลนให้ได้รูปร่าง จากนั้นจึงนำมาปักไว้บริเวณที่ต้องการแล้วจึงค่อยสลักลวดลายอย่างละเอียดภายหลัง
รู้หรือไม่
การบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธมด้วยวิธีการอนัสติโลซิสโดยการนำหินดั้งเดิมกลับมาเรียงใหม่ในจุดเดิม และนำหินก้อนใหม่มาเรียงทดแทนหินดั้งเดิมที่สูญหาย หรือพังทลายลงไปนั้น สำหรับหินก้อนใหม่ที่นำมาเรียงจะถูกโกลนให้ได้รูปร่างคร่าวๆ และสลักลวดลายอย่างหยาบๆเพื่อให้สามารถจำแนกระหว่างหินดั้งเดิมและหินใหม่ที่ถูกนำไปเรียงทดแทนได้
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. สำนักโบราณคดี. (2550). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร : หน้า 49.
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2545. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตสถาน, 2556 : หน้า 160.
- ธนินทร นิธิอาชากุล, การตรวจสอบความสัมพันธ์ของโกลนหินสมัยทวารวดีระหว่างแหล่งผลิตเขาพระ จังหวัดเพชรบุรีกับเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม โดยวิธีศิลาวรรณนา(วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี ภาควิชาภาคโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555) หน้า 11.
- วสุ โปษยะนันทน์, อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน้า 142.
- สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี (2551). เขาพระ. เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/.../ONak0jSJIaxo1uwyyqkuDlUoeD...
- ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. แหล่งตัดหินสีคิ้ว. เข้าถึงเมื่อ 21 ธันวาคม 2565เข้าถึงได้จากhttps://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/175
ที่มาภาพ
ภาพที่ 1 โกลนพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ภาพที่ 2-3 โกลนหินธรรมจักร พบที่เชิงเขาพระ จังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 4 แหล่งตัดหินสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พบร่องรอยหินที่ได้รับการตัดและโกลนให้เป็นรูปร่างเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างปราสาทในวัฒนธรรมเขมร(ที่มา: https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/175)
(จำนวนผู้เข้าชม 1189 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน