ปี ๒๔๗๔ “สตางค์” เปลี่ยนอักษรย่อจาก ส.ต. เป็น สต.
ปี ๒๔๗๔ “สตางค์” เปลี่ยนอักษรย่อจาก ส.ต. เป็น สต.
.
เอกสารจดหมายเหตุชุดมณฑลจันทบุรี ระบุว่า พ.ศ.๒๔๗๔ กรมพลำภัง กระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบันคือกรมการปกครอง) แจ้งเรื่องการเขียนย่อคำว่า “สตางค์” ด้วยในการประชุมเสนาบดี กรมราชเลขาธิการ ที่ประชุมได้มีมติเรื่องเขียนย่อคำ “สตางค์” ว่าควรใช้ “สต.” (ไม่ใช้ “ส.ต.”) ส่วนอักษรฝรั่งใช้ “st.” (ไม่ใช่ “stg.”) จึงแจ้งมณฑลจันทบุรีมาให้ทราบ เพื่อใช้เป็นระเบียบเดียวกัน
.
วิวัฒนาการเงินตรา “สตางค์” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๗
สมัยรัชกาลที่ ๕
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ พระองค์มีพระราชดำริว่า มาตราของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงใหม่ โดยใช้หน่วยเป็นบาท และสตางค์ คือ ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๑ อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน
.
จากหนังสือเรื่อง ตำนานเงินตรา (พ.ศ.๒๔๗๔) ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ ระบุถึง “สตางค์” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้ว่า “...ถึงปีจอ พ.ศ.๒๔๔๑ รัฐบาลคิดเห็นกันว่า ลักษณการทำบัญชีเงินแต่เดิมนั้นมีช่องบอกว่า ชั่ง บาท อัฐ เมื่อพ้นชั่งขึ้นไปจึงนับเป็นเรือนร้อยเรือนพัน บัญชีมักไขว้กันไม่สะดวก จึงคิดทำเหรียญทองขาวขึ้นใช้เรียกว่า สตางค์ (ส่วนของร้อย) คือ ๑๐๐ สตางค์เป็น ๑ บาท เพื่อง่ายแก่การบัญชี มีช่องแต่เพียงบาทกับสตางค์เท่านั้น เงินจะมากน้อยเท่าใดก็ต่อตัวเลขขึ้นไปเป็นสิบเป็นร้อย ไม่ต้องหักต้องทอน เป็นการง่ายรวดเร็วกว่าของเดิม สตางค์ที่สร้างขึ้นคราวนี้สร้างด้วยทองขาวเป็น ๔ ขนาด ด้านหนึ่งมีรูปช้าง ๓ เศียร มีอักษรว่า "สยามราชอาณาจักร" เหมือนกันทั้ง ๔ ขนาด ๆ ที่ ๑ ด้านหนึ่งมีตัวอักษรว่า ยี่สิบสตางค์ และมีเลข ๒๐ ตัวใหญ่อยู่ตรงกลาง เป็นราคา ๒๐ สตางค์ ใช้ ๕ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๒ มีตัวอักษรว่า สิบสตางค์ มีเลข ๑๐ ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๑๐ สตางค์ ใช้ ๑๐ อันเป็นหนึ่งบาท ขนาดที่ ๓ มีตัวอักษรว่า ห้าสตางค์ มีเลข ๕ ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๕ สตางค์ ใช้ ๒๐ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๔ มีตัวอักษรว่า สองสตางค์กึ่ง มีเลข ๒ ๑/๒ ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๒ สตางค์กึ่ง ใช้ ๔๐ อันเป็น ๑ บาท…”
.
สมัยรัชกาลที่ ๖
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีราคาไม่สูงนัก คือ ๑ บาท, ๕๐ สตางค์, ๒๕ สตางค์, ๑๐ สตางค์, ๕ สตางค์, และ ๑ สตางค์ โดยในช่วงต้นรัชกาลยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญเงินหนึ่งบาทประจำรัชกาล เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต
.
สมัยรัชกาลที่ ๗
ในรัชกาลนี้มีการผลิตเหรียญหมุนเวียนออกใช้ไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหรียญประจำรัชกาลที่นำออกใช้เป็นเหรียญชนิดราคา ๕๐ และ ๒๕ สตางค์ ตราพระบรมรูป-ช้างทรงเครื่อง
.
ในปัจจุบันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้อธิบายคำว่า “สตางค์” คือเหรียญกระษาปณ์ปลีกย่อย ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท ใช้อักษรย่อว่า สต. นอกจากนี้คำบางคำยังนำมาใช้ในความหมายอื่น เช่น สตางค์ใช้ในความหมายโดยปริยาย หมายถึงเงินที่ใช้สอย เช่น วันนี้ไม่มีสตางค์ติดตัวมาเลย, เขาเป็นคนมีสตางค์
**คำว่า “กษาปณ์” และ “กระษาปณ์” สามารถเขียนได้ทั้งคู่ โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ลงท้ายบทนิยามคำว่า “กระษาปณ์” ไว้ว่า “กษาปณ์ ก็ใช้”
.
ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th
ผู้เรียบเรียง
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
อ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (๑๓)มท ๒.๒.๑/๕๙ เรื่องกรมพลำพังแจ้งระเบียบการเขียนย่อคำว่า “สตางค์” เป็น “สต.” มาให้ทราบเพื่อใช้เป็นระเบียบเดียวกัน (๗ พ.ค. - ๑๐ ส.ค. ๒๔๗๔).
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ๒๔๐๕-๒๔๘๖ (๒๔๗๔). ตำนานเงินตรา. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
ไขปัญหาภาษาไทย จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน. เข้าถึงได้จาก https://www.orst.go.th/.../DATA0000/00000152.FLP/html/8/... สืบค้นเมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕.
เงินตรา กองกษาปณ์. เข้าถึงได้จาก http://www.royalthaimint.net/.../mint_web/ewt_news.php... สืบค้นเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕.
มาตราเงิน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เข้าถึงได้จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=มาตราเงิน-๓-พฤศจิกายน-๒๕ สืบค้นเมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 1916 ครั้ง)