ส่งเสริมการปลูกยางในจังหวัดจันทบุรี ปี ๒๔๘๓
จดหมายเหตุ : เล่าอดีต
ส่งเสริมการปลูกยางในจังหวัดจันทบุรี ปี ๒๔๘๓
.
บุคคลแรกที่ริเริ่มนำยางพาราเข้ามาปลูกในจังหวัดจันทบุรี ก่อนจะแพร่ขยายจนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออก ได้แก่ หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) ซึ่งได้นำยางพารามาปลูกที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เนื่องจากมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตและภาคใต้ หลวงราชไมตรีมีความประสงค์ อยากนำยางพารามาปลูกบริเวณเชิงเขาสระบาป ตำบลพลิ้ว อำเภอเมืองจันทบุรี เพราะมีสภาพอากาศคล้ายทางภาคใต้ ท่านจึงสั่งพันธุ์ยางจากประเทศมลายูมาปลูกจำนวน ๒ ลัง ในพื้นที่ ๖๐ ไร่
.
ยางพาราของหลวงราชไมตรียุคแรกๆ อาจจะเป็นป่ายางพารา แต่ต่อมามีการจัดการอย่างถูกวิธี จนกลายเป็นสวนยางพารา คนแถบถิ่นใกล้ๆ ได้ตามอย่างปลูกเป็นอาชีพ จากอำเภอเมืองขยายไปยังอำเภอขลุง จากจันทบุรี ขยายไปยังระยองและตราดในที่สุด ด้วยคุณูปการนี้เอง คนทั่วไปจึงถือว่าท่านเป็น “บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก”
.
ทั้งนี้มีเอกสารราชการในอดีต แสดงให้เห็นถึงนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการปลูกยางในจังหวัดจันทบุรี ความว่า วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๓ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ มีหนังสือราชการถึงเลขานุการนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าด้วยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงเกษตราธิการเร่งส่งเสริมการทำสวนยางในจังหวัดจันทบุรีให้เจริญยิ่งขึ้น เพราะส่งออกจำหน่ายทางภาคตะวันออกได้สะดวก ทางกระทรวงเกษตราธิการขอแจ้งว่า กรมป่าไม้ได้ทำการส่งเสริมการทำสวนยางในจังหวัดจันทบุรีอยู่แล้ว โดยจังหวัดจันทบุรีได้รับสิทธิปลูกยางใหม่ จำนวน ๑,๑๗๗ ราย เป็นเนื้อที่ ๑๐,๐๑๙ ไร่ เท่ากับร้อยละ ๑๓ ของสิทธิปลูกยางใหม่ที่ประเทศไทยได้รับมาตามข้อตกลงควบคุมยางระหว่างประเทศ
.
ต่อมาในปี ๒๔๙๒ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงคณะกรมการจังหวัดจันทบุรีให้สำรวจสวนยางที่ต้องทิ้งร้างเพราะขาดแรงงานกรรมกรว่ามีจำนวนเท่าใด และต้องการกรรมกรเท่าใด คณะกรมการจังหวัดจันทบุรีได้แจ้งว่า ในพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี ต้องการกรรมกร ๔๙ คน และอำเภอแหลมสิงห์ ต้องการกรรมกร ๘ คน โดยคิดอัตราค่าจ้างให้วันละ ๕ บาท
.
ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th/
ผู้เรียบเรียง
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๑.๑.๔/๑๔๓ เรื่องนายกรัฐมนตรีให้ทำการส่งเสริมการทำสวนยางจังหวัดจันทบุรีให้เจริญยิ่งขึ้น (๒๘ สิงหาคม – ๒๕ กันยายน ๒๔๘๓).
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๑.๑.๑๐/๓๙ เรื่องขอทราบจำนวนความต้องการของกรรมกรที่ใช้แรงงานเกี่ยวกับเกษตรกรรมและสวนยางที่จังหวัดจันทบุรี (๓๐ พฤษภาคม – ๖ กรกฎาคม ๒๔๙๒).
บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี. ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ จาก http://www.baanluangrajamaitri.com/history.

(จำนวนผู้เข้าชม 1154 ครั้ง)