จดหมายเหตุ : เล่าอดีต ฟื้นฟูประเพณีวันตรุษสงกรานต์ ณ ศาลากลางจันทบุรี พ.ศ.๒๔๙๒
จดหมายเหตุ : เล่าอดีต
ฟื้นฟูประเพณีวันตรุษสงกรานต์ ณ ศาลากลางจันทบุรี พ.ศ.๒๔๙๒
.
“ตรุษ” แปลว่า ตัดหรือขาด คือตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี หมายถึงวันสิ้นปีที่ผ่านไปแล้ว “สงกรานต์” แปลว่า การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ จากหนังสือพิธีกรรม (พ.ศ.๒๔๙๒) โดยแปลก สนธิรักษ์ ได้กล่าวถึงตำนานความเป็นมาและกิจกรรมของพิธีตรุษสงกรานต์ในอดีตว่า ก่อนจะถึงวันตรุษสงกรานต์ ผู้คนจะเตรียมหาเครื่องแต่งตัวไว้แต่งประกวดประชันกัน ใครมีเครื่องประดับอะไรก็เอามาแต่งกันจนหมดสิ้นในวันนั้น นอกจากนี้ก็เตรียมหาของทำบุญ บางพวกก็ประชุมรื่นเริงร้องรำกันไปตามถนัด
“ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์
พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน
ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์
ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส
อภิวาทพุทธรูปในวิหาร
ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์
ดูสคราญเพริดพริ้งทั้งหญิงชาย”
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑ กระทรวงมหาดไทยเห็นควรให้ฟื้นฟูประเพณีการทำบุญและการรื่นเริงในวันตรุษสงกรานต์ เพื่อก่อให้เกิดสามัคคีธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยให้ทุกจังหวัดรายงานว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ที่เคยปฏิบัติกันมาในท้องถิ่น ปฏิบัติกันอย่างไรบ้าง และมีพิธีใดบ้างที่เสื่อมสูญไป ซึ่งในส่วนของอำเภอมะขามได้รายงานว่าคงเหลือการเล่นสะบ้าดีด และที่เลิกไปแล้วคือ การเล่นสะบ้าทอย, การเล่นโยนหลุม และการเล่นปากอง
.
จังหวัดจันทบุรี ได้จัดงานฟื้นฟูประเพณีฉลองวันตรุษสงกรานต์ พ.ศ.๒๔๙๒ มีกำหนดจัดงานในวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน รวม ๓ วัน ดังนี้วันที่ ๑๓ เมษายน เชิญพระพุทธรูปประจำจังหวัดออกประดิษฐานยังหน้ามุขศาลากลางจังหวัด และพระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงบ่าย มีการละเล่นต่างๆ เช่น สะบ้าล้อ, สะบ้าทอย, ตะกร้อลอดตาข่าย และวิ่งวัวคน ช่วงกลางคืน มีมหรสพ
วันที่ ๑๔ เมษายน ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๕๐ รูป หน้าศาลากลางจังหวัด ช่วงบ่าย มีการละเล่นพื้นเมือง และช่วงกลางคืน มีมหรสพ
วันที่ ๑๕ เมษายน ช่วงบ่าย มีการรื่นเริงและพบปะคารวะระหว่างครอบครัว ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเงินช่วยเหลือการจัดงานมาให้จังหวัดละ ๑,๐๐๐ บาท
.
ผู้เขียน
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๑.๑.๔/๓๗๔ เรื่องงานฟื้นฟูประเพณีฉลองวันตรุษสงกรานต์ พ.ศ.๒๔๙๒ (๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๑ – ๒ สิงหาคม ๒๔๙๒).
แปลก สนธิรักษ์. ๒๔๙๒. พิธีกรรม ว่าด้วยประเพณีและพิธีต่างๆ ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบัน. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
(จำนวนผู้เข้าชม 1563 ครั้ง)