ประวัติการก่อตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
ก่อตั้งขึ้นตามประกาศกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งหน่วยงานจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2533 ลงนามในคำสั่งโดย นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น จากเนื้อหาสาระของประกาศดังกล่าวให้มีการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติสาขาขึ้น 12 สาขา ซึ่งเป็นการจัดตั้งสาขาให้เป็นไปตามการแบ่งเขตการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ออกเป็น 12 เขตการศึกษา หน่วยจดหมายเหตุแห่งชาติที่ 12 จันทบุรี จึงจัดตั้งขึ้นที่จันทบุรี ผู้อำนวยการกองจดหมายเหตุในสมัยนั้นคือ นายศักรินทร์ วิเศษะพันธ์ เป็นผู้ดำเนินการของบประมาณในการจัดตั้งหน่วยงานขึ้น โดยมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่หลายฝ่าย ในขณะที่ดำเนินการเรื่องที่ดินและงบประมาณในการจัดสร้าง ก็ได้ขอใช้ห้องประชุมเล็กของหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี เป็นสำนักงานชั่วคราว ในคราวเดียวกันก็ได้แต่งตั้ง นายโกสุม กองกูต หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี มาช่วยปฏิบัติราชการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจดหมายเหตุแห่งชาติที่ 12 จันทบุรี อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ในขณะเดียวกันส่วนของกรมศิลปากรเองก็ได้ดำเนินการเร่งของบประมาณในการจัดตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถของบประมาณดำเนินการสร้างอาคารสำหรับงานจดหมายเหตุได้ จึงได้ใช้ห้องประชุมเล็กดังกล่าวเป็นที่ทำการชั่วคราว แต่เอกสารที่รับมอบจาก 8 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องหาอาคารชั่วคราวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับปริมาณเอกสารที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในเวลาต่อมาได้ดำเนินการขอใช้อาคารของฝ่ายทรัพยากรธรณี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ที่ปิดว่างอยู่ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทรัพยากรธรณีเป็นอย่างดี หน่วยจดมายเหตุแห่งชาติที่ 12 จันทบุรี จึงได้ย้ายสำนักงานชั่วคราวจากห้องประชุมเล็ก หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี มายังอาคารดังกล่าวใน วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 แต่เนื่องจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี นอกจากจะปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดเก็บการทำลายเอกสารตามระเบียบงานสารบรรณแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาค้นคว้า วิจัยเอกสารของส่วนราชการในภูมิภาคและการบริหารเอกสารจดหมายเหตุ พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานจดหมายเหตุทั้งในรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ การจัดนิทรรศการให้ความรู้ รวมทั้งจัดฉายภาพยนตร์เก่าและสารคดีต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และพัฒนาการท้องถิ่นอื่นๆ อีกมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอาคารที่เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากได้ จึงจำเป็นต้องขอใช้ศาลากลางจังหวัดจันทบุรีหลังเดิม ซึ่งว่างอยู่เป็นสำนักงานถาวร ได้ดำเนินการของบประมาณในการซ่อมแซมโบราณสถานแห่งนี้และพื้นที่โดยรอบให้สอดคล้องกับงานจดหมายเหตุ และได้ย้ายหน่วยงานมายังอาคารศาลากลางจังหวัดจันทบุรีหลังเดิม ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
ปัจจุบันบริหารงานโดย นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
หน้าที่ความรับผิดชอบ
โดยเป็นผู้ประสานงานไปยังกรมให้กับหน่วยงานต่างๆ 8 จังหวัด รับผิดอบตามระเบียบงานสารบรรณ ข้อ 69.2 ดำเนินการรับมอบเอกสารของส่วนราชการต่างๆ ตรวจสอบและติดตามทวงถาม วิเคราะห์และประเมินคุณค่าเอกสารที่ได้รับมอบจากส่วนราชการต่างๆ ตรวจสอบเนื้อหาเอกสารว่าเอกสารส่วนใดควรเปิดเผยหรือควรปกปิด ควบคุมการทำลายเอกสารที่ผ่านการประเมินคุณค่าแล้ว พิจารณารับฝากเอกสารจากส่วนราชการต่างๆ ตามระเบียบงานสารบรรณ ข้อ 60 (ยกเว้นเอกสารการเงิน) ติดตามและรับมอบเอกสารที่มีอายุเกิน 20 ปี หรือเอกสารที่พ้นกระแสการใช้งานแล้ว บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติและประเพณีสำคัญของท้องถิ่นที่รับผิดชอบ เก็บรวบรวม แสวงหา รวมทั้งให้การอนุรักษ์เอกสารลายลักษณ์ และเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ
หน้าที่ความรับผิดชอบของหอจดหมายเหตุสาขา
1.ศึกษา ค้นคว้าวิชาการจดหมายเหตุเพื่อการพัฒนางานด้านจดหมายเหตุในพื้นที่รับผิดชอบ
2. การพิจารณา ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานด้านเอกสารของส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ
3. รับมอบ ติดตาม ประเมินคุณค่าและเก็บรักษาเอกสารจากหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการจัดเก็บเอกสารตามระบบเอกสาร
4. จัดหมวดหมู่ และจัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า ตลอดจนอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
5. ดำเนินการรวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญ เพื่อการจัดทำจดหมายเหตุในภูมิภาคในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
6. ให้บริการเอกสารจดหมายเหตุเพื่อการค้นคว้าวิจัย และจัดกิจกรรมจดหมายเหตุ
7. ติดตามการดำเนินงานด้านเอกสารของหน่วยงานของรัฐตามกฏหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ กฏหมายว่าด้วยจดหมายเหตุแห่งชาติ และกฏหมายหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
8. ส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งหอจดหมายเหตุประจำท้องถิ่น
9. ดำเนินงานเกี่ยวกับเครือข่ายเพื่อการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
10. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย
(จำนวนผู้เข้าชม 272 ครั้ง)
(จำนวนผู้เข้าชม 279 ครั้ง)