สมุดข่อย : ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ประทับบุษบกเทียบท่าราชวรดิษฐ์ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
สมุดข่อย : ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ประทับบุษบกเทียบท่าราชวรดิษฐ์ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
เทคนิค : สีฝุ่นบนสมุดข่อย
ศิลปิน : นายวิสูตร ศรีนุกูล ตำแหน่ง : นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงาน
กลุ่มงาน : กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ขนาด : กว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๒๐ เซนติเมตร
ผลงานศิลปกรรมออกแบบและจัดสร้างโดย กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)
การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยเทคนิคการเขียนสีฝุ่นบนสมุดข่อยชิ้นนี้ จิตรกรได้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ กองทัพเรือเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบก ออกจากอู่หมายเลข ๑ อู่ทหารเรือ ธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ไปจอดเทียบท่าราชวรดิฐ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เพื่อเป็นการถวายเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี
หากจะกล่าวถึง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบก ได้มีการสันนิษฐานว่าบุษบกของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นคราวเดียวกับการสร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบกใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบกอันเป็นเรือพระที่นั่งทรง ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
จวบจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการฟื้นฟูและสืบสานพระราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมเรือพระราชพิธีครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการรักษาสมบัติอันมีค่าของชาติให้ดำรงอยู่ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศและประชาชนชาวไทย พร้อมทั้งยังช่วยบำรุงขวัญและก่อให้เกิดความภูมิใจแก่คนไทย ที่สำคัญเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างประเทศทั่วโลก
ซึ่งเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบกได้ถูกใช้ในวาระสำคัญต่าง ๆ กระทั่งหลังจากปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ จึงว่างเว้นจากการใช้งานเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบก แต่ได้เชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพระที่นั่งทรง ในการจัดงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลวาระต่าง ๆ เรื่อยมาจนตลอดรัชกาล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโบราณราชประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนัก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระราชยานเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบุษบก เทียบท่าราชวรดิฐ
อ้างอิง
------------
กระทรวงวัฒนธรรม, ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, (นครปฐม: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๖๒.
ณัฏฐภัทร จันทวิช, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในมหาวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐.
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงวัฒนธรรม, นิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒.
----------
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมสื่อวีดิทัศน์ : ขั้นตอนการเขียนสีฝุ่นบนสมุดข่อย ได้จากระบบศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ ทางลิ้งค์ด้านล่าง
-------------------------------------
https://datasipmu.finearts.go.th/knowledge/26
-------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 557 ครั้ง)