...

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระบวรเศวตฉัตรทรงรับน้ำอภิเษก



        พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระบวรเศวตฉัตรทรงรับน้ำอภิเษก  

        เทคนิค : สีฝุ่นบนเฟรมพื้นไม้   

        ศิลปิน : นายนพพล  งามวงษ์วาน  

        ตำแหน่ง : นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน

        กลุ่มงาน : กลุ่มจิตรกรรม  สำนักช่างสิบหมู่  กรมศิลปากร

        ขนาด : ๗๑ x ๙๒ เซนติเมตร 

        ผลงานศิลปกรรมออกแบบและจัดสร้างโดย  กลุ่มจิตรกรรม  สำนักช่างสิบหมู่  กรมศิลปากร  จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์”  ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖  เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)

        การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยเทคนิคการเขียนสีฝุ่นบนบนเฟรมพื้นไม้ชิ้นนี้  จิตรกรได้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ในวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๓๙ น.  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์  ทรงฉลองพระองค์ครุยสายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์  สายสร้อยจุลจอมเกล้า  เสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานเข้าพระที่นั่งไพศาลทักษิณแล้วประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระบวรเศวตฉัตร  แปรพระพักต์สู่บูรพาทิศเป็นปฐม  เพื่อทรงรับน้ำอภิเษก  

        เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงผลัดฉลองพระองค์เป็นเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์แล้ว เสด็จออกพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระบวรเศวตฉัตร เพื่อทรงรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้งแปด ราชบัณฑิตประจำทิศเข้าไปคุกเข่าถวายบังคมกล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล ถวายแว่นแคว้น ถวายดินแดน ถวายพุทธศาสนา และถวายประชาชน ซึ่งอยู่ในทิศนั้น ๆ ให้ทรงปกป้องคุ้มครองและทำนุบำรุง  แล้วจึงถวายน้ำอภิเษก ทรงรับน้ำอภิเษกด้วยพระหัตถ์แล้วทรงจิบและทรงลูบพระพักตร์ กับทรงรับด้วยพระเต้าเบญจคัพย์  แล้วจึงมีกระแสพระราชดำรัสตอบ เมื่อสิ้นกระแสพระราชดำรัส พราหมณ์เป่าสังข์ พราหมณ์พิธีถวายน้ำพระมหาสังข์ พราหมณ์พฤฒิบาศถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระครอบสัมฤทธิ์ ต่อจากนั้นจึงทรงผันพระองค์ไปโดยทักษิณาวัฏ ทรงปฏิบัติโดยนัยเดียวกับทิศบูรพาจนรอบพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์โดยลำดับ 

        การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๙๓ คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชครูพราหมณ์น้อมเกล้าฯ ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายหลังจากที่ถวายน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์เป็นปฐม ก่อนเสด็จไปประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐเพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชชกกุธภัณฑ์และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศต่อไป ธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวได้ยึดถือเป็นแบบแผนมาถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลปัจจุบัน  อันส่งผลให้พระเศวตฉัตรที่กางกั้นเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐในรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลปัจจุบัน  เปลี่ยนจากพระบวรเศวตฉัตรเป็นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

 

บรรณานุกรม

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.  คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.  

[ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔, จาก 

http://www.phralan.in.th/coronation/vocabdetail.php?id=79

กรมศิลปากร.  เถลิงรัชช์หัตถศิลป์ = Coronation Art. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๖. 

  

ผู้ที่สนใจขั้นตอนการการเขียนสีฝุ่นบนเฟรมพื้นไม้ สามารถเข้าชมวีดิทัศน์ได้ทางลิ้งค์ด้านล่าง

https://datasipmu.finearts.go.th/knowledge/26

 

(จำนวนผู้เข้าชม 240 ครั้ง)


Messenger