องค์ความรู้ : เครื่องถมนคร
องค์ความรู้ : เครื่องถมนคร
เรียบเรียง/ภาพ : นางสาวจารุพัฒน์ นุกูล นักวิชาการวัฒนธรรม
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
"เครื่องถม" หรือมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถมนคร” เป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงที่คนนครศรีธรรมราชและคนไทยภาคภูมิใจมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตใช้เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์หรือเป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับกษัตริย์ประเทศต่าง ๆ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายคำว่า "ถม" ว่า "เรียกภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางามว่าเครื่องถม เช่น ถมนคร ถมเงิน ถมทอง"
สำหรับความเป็นมาของเครื่องถมนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มผลิตมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือราว พ.ศ. ๒๐๖๑ ส่วนที่มาของการผลิตเครื่องถม ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยได้ ๔ เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด ขณะที่สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ส่วนศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมให้ความเห็นว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับมาจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ คือเกิดที่นครศรีธรรมราช
เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถมในเมืองนครนี้ ปรากฏในเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น ในหนังสือชุด "สาส์นสมเด็จ" ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโต้ตอบปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับศิลปะ วรรณคดี โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องเครื่องถมไว้ ดังความว่า
"....เรื่องเครื่องถม หม่อมฉันพบหลักฐานใหม่อีกแห่ง ๑ ในกฎมณเฑียรบาลว่า ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง “กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม" ดูตรงกับเจียดรัชกาลที่ ๑ ถ้าเป็นแบบมาตั้งแต่กฎมณเฑียรบาลครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๐๐ ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว ๒๐๐ ปี ตำนานที่หม่อมฉันคาดไว้ดังทูลไปก็ผิด แต่นึกว่าจะเพิ่มลงในกฎมณเฑียรบาลเมื่อภายหลังก็เป็นได้..." นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า "...จะทูลบรรเลงต่อไปถึงเรื่องถมเมืองนครฯ การทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่าฝีมือช่างถมเมืองนครฯทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดีมักเรียกกันว่า “ถมนคร” เลยมีคำกล่าวกันว่าช่างถมเดิมมีแต่ที่เมืองนครฯ ชาวกรุงเทพฯไปเอาอย่างมาก็สู้ฝีมือครูไม่ได้..." และ "...เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยลงไปเมืองนครศรีธรรมราชอยากดูการทำเครื่องถม การนั้นพวกช่างก็ทำตามบ้านเรือนของตนอย่างเดียวกับที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ พวกกรมการพาไปดูหลายแห่ง สังเกตดูช่างถมแต่งตัวเป็นแขกมลายูทั้งนั้น ที่เป็นคนไทยหามีไม่ หม่อมฉันประหลาดใจถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครฯ ท่านกล่าวความหลังให้ฟังจึงรู้เรื่องตำนานว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานคร (น้อย) ยังเป็นพระยานครฯ ลงไปตีเมืองไทรได้เฉลยมลายูมามาก จึงเลือกพวกเฉลยให้หัดทำการช่างต่างๆ บรรพบุรุษของพวกนี้ได้หัดเป็นช่างถมสืบกันมาจนทุกวันนี้..."
ความสำคัญของเครื่องถมในแต่ละยุคสมัย มีดังนี้
สมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๐๓๒ - ๒๐๗๒ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น จัดหาช่างถมที่ฝีมือเยี่ยมที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำไม้กางเขนถมส่งไปถวายพระสันตปาปา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และทำเครื่องถมดำลายอรหันไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) การทำเครื่องถมได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีในช่วงสมัยนี้ ถือเป็นของสูงศักดิ์ ใช้เป็นเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชบรรณาการ ได้รับความนิยมอย่างสูงในราชสำนัก จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เจ้าพระยานคร (น้อย) นอกจากจะมีฝีมือทางการรบแล้วยังเป็นช่างทำถมฝีมือดี ได้ทรงทำพระแท่นเสด็จออกขุนนางกับพระเสลี่ยงถวาย
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เจ้าพระยานคร (กลาง) เป็นผู้อุปถัมถ์ช่างถมคนสำคัญในนครศรีธรรมราชและชักชวนช่างถมหลายคนเข้าไปอยู่ในวัง ช่างเหล่านี้ได้ทำเก้าอี้ถมอนุโลมจากพระแท่นและพนักเรือพระที่นั่ง และในโอกาสที่กรุงสยามได้แต่งตั้งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ช่างถมนครจัดทำเครื่องราชบรรณาการส่งไปถวายแด่พระนางเจ้าวิคตอเรีย ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบัคกิ้งแฮม ประเทศอังกฤษ
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เป็นแม่กองให้ช่างถมนครทำพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเป็นศิลปกรรมเครื่องถมชิ้นเอกของประเทศไทย ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะบุคคลถวายพระพรชัยมงคล
สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำหีบบุหรี่ถมทองสำหรับพระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเซนเฮ้าว์ และ ดร.ริสบอร์ นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ และพระราชทานตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลที่โรงพยาบาลในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
กระทั่งถึงยุคสมัยปัจจุบัน ช่างถมนครก็ยังได้รับความไว้วางใจให้สร้างผลงานสู่ราชสำนัก เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสานงานจัดหาช่างถมฝีมือดีในนครศรีธรรมราช จัดทำเครื่องราชูปโภคและเครื่องใช้ในพิธีต่างๆ เพื่อถวายแด่สำนักพระราชวัง เช่น ชุดขันพานตักบาตรถมทอง เป็นต้น
ขั้นตอนการทำเครื่องถม ปัจจุบันการทำเครื่องถมนคร มี ๒ แบบ คือ ถมเงิน และถมทองหรือถมตะทอง โดยนิยมทำตามขั้นตอน ดังนี้
๑. การทำถมเงิน
๑.๑) การทำน้ำยาถม เป็นหัวใจสำคัญในการทำเครื่องถม ลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยาถมของช่างนคร คือ มีลักษณะแข็ง สีดำเป็นนิล ขึ้นเงา ประกอบด้วยโลหะ ๓ ชนิด คือ ตะกั่ว ทองแดง และเงิน ตำราถมโบราณท่านมีไว้ว่า “วัว ๕ ม้า ๖ บริสุทธิ์ ๔ ผสมกันแล้วขัดด้วยกำมะถัน ได้ยาถมแล”
๑.๒) การทำรูปพรรณ หรือ การขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ เช่น สร้อย แหวน กำไล ขัน เป็นต้น วัตถุดิบสำคัญที่ต้องใช้ คือ เนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๒.๕ และทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๙๙
๑.๓) การเขียนและแกะลาย การวาดภาพหรือลวดลายลงบนภาชนะที่ขึ้นรูปเสร็จแล้ว และลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว
๑.๔) การลงยาถม คือการนำยาถม ถมลงในร่องที่แกะลาย ใส่จนเต็มร่อง แล้วเกลี่ยให้เสมอกันทุกส่วน จากนั้นใช้ไฟเป่า หรือเรียกว่าวิธี “เป่าแล่น” ลงบนภาชนะนั้น รอให้เย็นแล้วใช้ตะไบถูบนส่วนที่ไม่ต้องการให้มียาถมนั้นออกไปให้เห็นเนื้อเงินที่พื้น ซี่งเรียกว่า “พื้นขึ้น”
๑.๕) การปรับแต่งรูป ในขั้นตอนลงยาถม จะต้องใช้ไฟด้วยความร้อนสูงเพื่อเผาภาชนะอยู่เป็นเวลานานพอสมควร อาจทำให้ภาชนะบิดเบี้ยว ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นต้องปรับแต่งรูปทรงให้คงสภาพเดิมอีกครั้ง และแต่งผิว/ขัดผิวของภาชนะด้วยกระดาษทรายละเอียด เมื่อผิวเกลี้ยงแลดูเงาสวยแล้วจึงขัดด้วยยาขัดโลหะ จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
๑.๖) การแกะผิวและแกะแร วิธีการแกะผิวแกะแรหรือการเพลาลาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะจะช่วยให้รายละเอียดของลายบนภาชนะมีความโดดเด่นขึ้น ขึ้นเงา ต้องแสงเป็นประกายสวยงาม โดยขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญของช่าง
๑.๗) การขัดเงา เป็นการทำความสะอาด ขัดเงา โดยการเช็ดกับผ้าที่นุ่มๆ ให้สะอาดและขึ้นเงาสวยงาม
๒.การทำถมทอง หรือ ถมตะทอง
การถมทองเป็นการทำให้เครื่องถมมีคุณค่าสูงขึ้นกว่าถมเงินธรรมดา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือช่างที่ชำนาญและมีประสบการณ์อย่างมาก โดยในขั้นตอนที่ ๑ – ๔ ใช้วิธีการเดียวกับการทำถมเงิน แต่เมื่อเสร็จขั้นตอนที่ ๔ คือ ลงยาถมและขัดยาถมส่วนเกินออกแล้ว ในส่วนของการทำถมทองจะเพิ่มวิธีการทาทอง หรือเรียกว่า “การเปียกทอง” เป็นการนำทองคำแผ่นบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ บดจนเป็นผงแล้วเทปรอทบริสุทธิ์ลงไปผสมกับผงทอง บดด้วยครกหินจนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และใช้สำลีชุบทองเปียกถูบนภาชนะ เมื่อทาทองผสมปรอทเสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งหรืออบด้วยความร้อนอ่อนๆบนเตา ประมาณ ๓ – ๔ ครั้ง และครั้งสุดท้ายใช้ความร้อนสูงกว่าเดิม เมื่อปรอทระเหยออกหมด ก็จะเหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นบนภาชนะ นำไปขัดเงาให้ผิวทองเกลี้ยงใสขึ้น ถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนการทาทอง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอน ที่ ๕ – ๗ เช่นเดียวกับการทำถมเงิน
ในปัจจุบันเครื่องถมไม่ได้มีใช้กันเฉพาะชั้นเจ้านายชั้นสูงเหมือนในอดีต แต่มีการปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้นเพื่อให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัย โดยการทำเป็นของชิ้นเล็ก เช่น ต่างหู แหวน ที่ติดผม ล๊อกเกต กำไล จากการทำถมนครสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน การได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ นับเป็นเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี รวมถึงมีการพัฒนาฝีมือการออกแบบลวดลายให้วิจิตรสวยงาม ด้วยลวดลายที่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงถือว่างานเครื่องถมเป็นงานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่คนไทยสืบต่อไป
เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวจารุพัฒน์ นุกูล นักวิชาการวัฒนธรรม
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
อ้างอิง
๑) ไสว สุทธิพิทักษ์. “กระบวนการผลิตเครื่องถมนคร”, สารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๘.
๒) สาส์นสมเด็จ. นิตยสารศิลปากร. ปีที่ ๑๓ เล่ม ๓ กันยายน ๒๕๑๒.
๓) สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (๒๕๒๙). สารานุกรมภาคใต้ เล่ม ๒. กรุงเทพ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๔) สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘. (๒๕๐๕). องค์การค้าคุรุสภา
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถมนคร10.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 1505 ครั้ง)