ลูกปัดรูปแบบนี้นิยมเรียนว่า “ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค (Indo-Pacific Beads)”หรือ “ลูกปัดลมสินค้า” (Trade winds beads) เนื่องจากได้มีการค้นพบลูกปัดรูปแบบนี้กระจายตัวอยู่ในบริเวณมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค โดยพบตามเมืองท่าโบราณต่างๆ ทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกปัดแก้วเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่มากับเรือเดินสมุทรซึ่งต้องอาศัยลมมรสุมในการเดินทางอันเป็นที่มาของชื่อ “ลูกปัดลมสินค้า”
ลูกปัดแก้วขนาดเล็กเหล่านี้ทำด้วยวิธีการนำแก้วมาหลอมโดยใช้ความร้อน จากนั้นจึงนำมาดึงยืดเป็นเส้นและตัดทีละลูกจึงทำให้ลูกปัดมีขนาดที่ต่างกัน
ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิคมีแหล่งกำเนิดและแหล่งผลิตหลักในประเทศอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ และได้แพร่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งในเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก สำหรับในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ พบที่ประเทศอินโดนีเซียที่เกาะสุมาตรา ประเทศไทยพบในเมืองท่าโบราณของภาคใต้ และในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๖ พบในมาเลเซียและเวียดนาม
ในประเทศไทยมีการพบลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค ในหลายพื้นที่ทั้งในภาคกลางและภาคใต้ โดยพบในแหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ อาทิ แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด (คลองท่อม) จังหวัดกระบี่ เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ และแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๙ แหล่งโบราณคดีเหล่านี้เป็นแหล่งผลิตลูกปัดแก้วของภาคใต้ ดังได้พบลูกปัดแก้วที่อยู่ในขั้นตอนการผลิต เช่น ลูกปัดแก้วที่หลอมติดกัน และก้อนแก้วสีต่างๆ จึงกล่าวได้ว่าลูกปัดแก้วเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของภาคใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙
ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค ที่พบในแหล่งโบราณคดีคลองท่อม และแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการผลิตลูกปัดแก้วในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ความนิยมของผู้คนในสมัยนั้น และยังแสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างอินเดียและดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเมืองท่าโบราณต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย
ที่มาข้อมูล
ผุสดี รอดเจริญ, “การวิเคราะห์ลูกปัดแก้วจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี ในภาคกลางของประเทศไทย.” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.
มยุรี วีระประเสริฐ. “คลองท่อม : แหล่งอุตสาหกรรมทำลูกปัดและสถานีขนถ่ายสินค้าสมัยโบราณบนชายฝั่งทะเลอันดามัน,”สารัตถะโบราณคดี บทความคัดสรรของ ๔ อาจารย์โบราณคดี.กรุงเทพ : สมาพันธ์, ๒๕๕๓: ๘๑-๑๐๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 5658 ครั้ง)