พบจากการขุดค้นที่ถ้ำเบื้องแบบ หมู่ ๓ บ้านเบื้องแบบ ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในโครงการโบราณคดีเชี่ยวหลาน ขุดค้นโดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๖ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง รับมาเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
เป็นเครื่องมือหินที่มีการขูดผิวหินหรือบากร่องให้เป็นลายเส้นตาราง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับทุบเปลือกไม้ เพื่อนำมาทำเส้นใยสำหรับทอผ้า โดยเครื่องมือประเภทนี้พบทั่วไปในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบครั้งแรกที่หลวงพระบาง ประเทศลาว โดยได้มีการจดบันทึกโดย ม.ปาวี (Mission Pavie) ชาวฝรั่งเศส
จากงานวิจัยของ A.C. Kruyt เมื่อปี.พ.ศ. ๒๔๘๑ เกี่ยวกับชนเผ่า Toradjas ในเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย ได้ค้นพบว่าที่ชนเผ่ายังมีการใช้งานเครื่องมือชนิดนี้ โดยงานทุบเปลือกไม้เป็นงานเฉพาะของผู้หญิง นอกจากนี้ชาวชนบทลาวบริเวณหลวงพระบาง ยังมีการใช้งานเครื่องมือลักษณะเดียวกันนี้แต่ทำด้วยไม้
หินทุบเปลือกไม้ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท
๑. แบบหัวเรียบ เป็นแท่งสี่เหลี่ยม ส่วนหัวกว้างกว่าด้าม ด้านใช้งานค่อนข้างเรียบ มีรอยบากน้อย
๒. แบบแท่งเรียบ มีการบากร่องที่หัวในแนวยาว หรือเป็นลายตาราง ด้ามถือเล็กกว่าหัว มีลักษณะเป็นแท่งยาว
๓. แบบแท่งสั้น มีเฉพาะส่วนหัวซึ่งทำการบากร่อง ต้องต่อเข้ากับด้ามไม้เพื่อใช้งาน
๔. แบบแท่งยาว ส่วนหัวมีการบากร่อง ด้านหลังเป็นเงี่ยงออกมา เพื่อให้จับได้กระชับกับส่วนด้าม
๕. แบบแท่งสั้น มีเฉพาะหัว คล้ายแบบที่ ๓ แต่ด้านตรงข้ามด้านหัวที่มีรอยบาก จะมีเงี่ยงยื่นออกมา ต้องนำไปต่อกับด้ามไม้เพื่อใช้งาน
หินทุบเปลือกไม้ที่พบในไทยเป็นแบบที่ ๒ ทั้งสิ้น พบทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก
ที่มาข้อมูล
กรมศิลปากร. คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1078 ครั้ง)