ชื่อวัตถุ พระพิมพ์
ทะเบียน ๒๗/๑๖๑/๒๕๓๒
อายุสมัย ศรีวิชัย
วัสดุ(ชนิด) ดินเผา
แหล่งที่พบ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ขุดได้จากกรุสวนสราญรมย์ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๗-๑๘และ ๒๓-๒๘พฤศจิกายน ๒๕๐๔ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง รับมาเมื่อวันที่ ๕กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง
“พระพิมพ์”
พระพิมพ์ดินเผาทรงกลม ด้านหน้าตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์ทั้งสองด้าน
พระพิมพ์เป็นรูปเคารพในศาสนาพุทธ ศาสตราจารย์อัลเฟรด ฟูเช่ (Alfred Foucher) ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาศาสนาพุทธ กล่าวว่า การสร้างพระพิมพ์ในช่วงแรกทำขึ้นเพื่อเป็น “ของที่ระลึกในการเดินทางไปยังสังเวชนียสถาน” อันเป็นสถานที่ ๔ แห่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า หากผู้ใดเดินทางมายังสถานที่ทั้งสี่ด้วยใจศรัทธาจะถึงสุคติโลกสวรรค์ ชาวพุทธจึงนิยมเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ สถานที่ทั้ง ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ(เมืองลุมพินี) สถานที่ตรัสรู้(เมืองพุทธคยา) สถานที่แสดงปฐมเทศนา (เมืองสารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน(เมืองกุสินารา) ในสมัยต่อมาได้มีการเพิ่มสถานที่แสวงบุญอีก ๔แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในพุทธประวัติ คือ สถานที่ปราบช้างนาฬาคีรี(เมืองราชคฤห์) สถานที่รับบาตรจากพระยาวานร(เมืองเวสาลี) สถานที่แสดงมหาปาฏิหาริย์หรือยมกปฎิหาริย์(เมืองสาวัตถี) และสถานที่เสด็จลงจากดาวดึงส์ (เมืองสังกัสสะ) ดังนั้น เมื่อพุทธศาสนิกชนได้เดินทางไปยังสังเวชนียสถานแล้ว คงมีผู้คิดทำพระพิมพ์เพื่อเป็นของที่ระลึกถึงการเดินทางมาจาริกแสดงบุญ
ในประเทศไทยได้มีการค้นพบพระพิมพ์ในหลายพื้นที่ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยพบทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งพบในพื้นที่ที่เป็นศาสนสถานโดยฝั่งอยู่ในสถูป เช่น ที่เมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี และพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นถ้ำ เช่น ถ้ำเขาขรมจังหวัดสุราษฎร์-ธานีถ้ำเขานุ้ย จังหวัดตรัง และยังพบพระพิมพ์ที่ชุมชนโบราณตะกัวป่า จังหวัดพังงา อีกด้วย
สำหรับพระพิมพ์ชิ้นนี้พบที่กรุสวนสราญรมณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณคดีควนพุนพิน(ควนสราญรมณ์/ควนท่าข้าม)พระพิมพ์ชิ้นนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ของภาคใต้มีกลุ่มคนที่ศรัทธาในศาสนาพุทธอาศัยอยู่ส่งผลให้มีการศาสนสถานและพระพิมพ์ซึ่งเป็นรูปเคารพของศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่คงอยู่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ตะกั่วป่า : ชุมชนโบราณ,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ๓ (๒๕๔๒): ๒๕๓๕ –๒๕๕๖.
- บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง (ป่วน อินทุวงศ์).“เรื่องของพระพิมพ์,” เรื่องโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ รุ่งเรืองรัตน์, ๒๕๐๓.
- พิริยะ ไกรฤกษ์. “พระพิมพ์ : ที่พบในภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ๑๐ (๒๕๔๒): ๕๐๔๑ – ๕๐๖๓.
- ภานุวัฒน์เอิ้อสามาลย์. ปฏิบัติการขุดกู้พระพิมพ์ดินดิบเขานุ้ย จังหวัดตรัง ปี ๒๕๕๕. (เอกสารยังไม่พิมพ์เผยแพร่).
(จำนวนผู้เข้าชม 2231 ครั้ง)