วัตถุ กลองมโหระทึก
ทะเบียน ๒๗/๒๘๘/๒๕๓๒
อายุสมัย ๒๐๐ปีก่อนพุทธกาล -พุทธศตวรรษที่ ๕ (๒,๑๐๐-๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
วัสดุ สำริด
ประวัติ ไม่ปรากฎประวัติเดิม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง รับมาจากคลังพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ สถานที่เก็บรักษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
“กลองมโหระทึก”
กลองมโหระทึกประกอบด้วยหน้ากลองและลำตัว หน้ากลองตกแต่งด้วยลายพระอาทิตย์ และลายเรขาคณิต เป็นต้น ลักษณะของลำตัวกลองมีส่วนบนที่บานออก ส่วนกลางตัดตรง ส่วนฐานโค้งและผายออก และมีหูกลองติดอยู่ จากรูปแบบของลำตัวกลองมโหระทึกจัดให้อยู่ในรูปแบบ เฮเกอร์ ๑ กำหนดอายุ ๒๐๐ปีก่อนพุทธกาล -พุทธศตวรรษที่ ๕ (๒,๑๐๐-๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
ได้มีการค้นพบกลองโหระทึก ซึ่งหมายถึงกลองที่ทำจากโลหะสำริดซึ่งผสมด้วยทองแดง ดีบุก และตะกั่วกลองมโหระทึกรูปแบบนี้พบมากในวัฒนธรรมดองซอน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เจริญอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ราวก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒ – พุทธศตวรรษที่ ๗ (๑,๙๐๐ - ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว) และทางตอนใต้ของประเทศจีน เหตุที่เรียกกลองรูปแบบนี้ว่า “กลองดองซอน” เพราะมีการค้นพบกลองรูปแบบนี้เป็นจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีดองซอน หรือ ด่งเซิน ในประเทศเวียดนามนั้นเอง
จากการค้นพบกลองมโหระทึกเป็นจำนวนมากในเวียดนาม จึงทำให้มีนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อ ฟรานส์ เฮเกอร์ได้ทำการศึกษารูปแบบของกลองมโหระทึกและได้แบ่งกลองออกเป็น ๔ แบบ คือ เฮเกอร์แบบที่ ๑ ๒ ๓ และ ๔ ซึ่งกลองแต่ละรูปแบบมีอายุสมัย ดังนี้ เฮเกอร์แบบที่ ๑ กำหนดอายุสมัยราว ๒๐๐ปีก่อนพุทธกาล -พุทธศตวรรษที่ ๕ (๒,๑๐๐-๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว) เฮเกอร์แบบที่ ๒ กำหนดอายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑ - ๖ (๒,๑๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว) เฮเกอร์แบบที่ ๓ กำหนดอายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑ – ๑๐ (๑,๖๐๐–๒๕๐๐ ปีมาแล้ว) และเฮเกอร์แบบที่ ๔ กำหนดอายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๑๐ (๑,๖๐๐–๒,๑๐๐ ปีมาแล้ว)ในประเทศไทยได้พบกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ มากที่สุด และยังพบแบบเฮเกอร์ ๓ อีกด้วย
ในประเทศไทยได้พบหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกลองมโหระทึกในปรากฎในสมัยสุโขทัย คือ ไตรภูมิพระร่วง ความว่า “บ้างขับสรรพสำเนียงเสียงหมู่นักคุนจุนกันไปเดียรดาษ พื้นฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมหรทึกกึกก้องทำนุกดี”ในสมัยอยุธยาในกฏมณเฑียรบาล ความว่า“...งานสมโภชนสมุหะประธานฑูลเผบใบศรี ญานประกาศถวายศโลก อิศรรักษา ถวายพระศรีเกศฆ้องไชย ขุนดนตรีตีหรทึก...” และในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้ว่ามีการใช้กลองมโหระทึกในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ “พระพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”และ“งานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”ซึ่งกลองที่ใช้มีลักษณะคล้ายกลองแบบเฮเกอร์ ๓
ลำตัวกลองมโหระทึกซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เป็นกลองที่ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจนแต่ก็เป็นหลักฐานทางวิชาการที่ทำให้ทราบถึงรูปแบบของกลองมโหระทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่พบในประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตและยังมีการงานใช้อยู่ในปัจจุบันปรากฏในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
เอกสารอ้างอิง
- กรมศิลปากร.ศัพทานุกรมโบราณคดี.กรุงเทพ : บริษัท รุ่งศิล์ปการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๕๐.
- เขมชาติ เทพไชย.“กลองมโหระทึก : ที่พบในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๔๒.
-เมธินี จิระวัฒนา.กลองมโหระทึกในประเทศไทย.กรุงเทพ : บริษัท อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป จำกัด , ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 27083 ครั้ง)