ชื่อวัตถุ ภาชนะทรงพาน
ทะเบียน ๒๗/๑๘๒/๒๕๓๒
อายุสมัย ก่อนประวัติศาสตร์
วัสดุ(ชนิด) ดินเผา
ประวัติที่มา จากหลุมขุดค้นที่เพิงผาถ้ำหลังโรงเรียน บ้านทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๖ โดยดักลาศ แอนเดอร์สัน มหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา ส่งมอบให้กองโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางรับมาเมื่อ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
“ภาชนะทรงพาน”
ภาชนะทรงพาน ปากภาชนะผายออกลำตัวสั้นและโค้งเข้าเป็นฐาน จากส่วนฐานมีเชิงสูงต่อลงมาส่วนฐานของเชิงโค้งออก ไม่มีการตกแต่งลวดลายบนภาชนะ ภาชนะใบนี้เป็นภาชนะสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบหลากหลายรูปทรง เช่น หม้อ ภาชนะทรงปากแตรภาชนะแบบสามขา และภาชนะทรงพาน เป็นต้น ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นภาชนะแบบเนื้อดิน (Earthenware)การผลิตภาชนะดินเผามีขั้นตอนหลักๆ คือ การเตรียมดินและนำดินที่ได้มาผสมเพื่อนำไปขึ้นรูปภาชนะเป็นทรงต่างๆ ซึ่งอาจขึ้นรูปด้วยมือ การตกแต่งผิว เช่น การใช้เชือกทาบ เปลือกหอย และการขูดขีด เป็นต้น จากนั้นจึงตกแต่งบนผิวภาชนะ อาทิ การขัดผิว การทาสี การทาผิวด้วยน้ำดินข้น และการรมควัน เป็นต้น แล้วจึงนำมาตากให้แห้งและเผา ซึ่งการเผาภาชนะในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของภาคใต้คงใช้เตาเผาแบบเปิดซึ่งเป็นการเผากลางแจ้ง
ภาชนะทรงพานใบนี้ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เพิงผาถ้ำหลังโรงเรียน บ้านทับปริกอำเภอเมืองจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาชนะดินเผาทรงพานเป็นภาชนะรูปแบบพิเศษซึ่งไม่ได้ใช้ในครัวเรื่อง ภาชนะรูปแบบนี้จึงอาจถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ พิธีฝังศพซึ่งใช้เป็นของอุทิศให้กับผู้ตาย
ภาชนะทรงพานจึงถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการผลิตภาชนะดินเผาของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในอดีตอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- พัชรี สาริกบุตร. เทคโนโลยีสมัยโบราณ (Primitive Technology)เครื่องมือโลหะ งานโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และ แก้วและลูกปัด. กรุงเทพฯ :ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓.
- www.gis.finearts.go.th
(จำนวนผู้เข้าชม 3181 ครั้ง)