...

ประเพณีแซนโฎนตา ๒๕๖๓
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๓ นางสาวพรเพ็ญ บุญญาทิพย์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ทุกคน ได้จัดพิธี "แซนโฎนตา" พิธีทำบุญอุทิศแก่ผีบรรพบุรุษ ประจำปี ๒๕๖๓ เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดสุรินทร์

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)

          ประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ และปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมายาวนาน นับเป็นพัน ๆ ปีของชาวเขมร ที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูรู้คุณ ของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติ และชุมชน โดยจะประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นลูก หลาน ญาติ พี่น้องที่ไปประกอบอาชีพ หรือตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะใกล้ หรือไกลจะต้องเดินทางกลับมารวมญาติ เพื่อทำพิธีแซนโฎนตา เป็นประจำทุกปี แซนโฎนตาเป็นภาษาเขมร

แซน หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง
โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ปู่ย่า ตายาย หรือ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีแซนโฎนตา จึงหมายถึง ประเพณีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ที่นับได้ว่าเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยเชื้อสายเขมร มีการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตา มีดังนี้
     ๑. การเตรียมอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้
     ๒. การเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน
     ๓. การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน
     ๔. การประกอบพิธีกรรมแซนโฏนตาที่บ้าน
     ๕. การประกอบพิธีกรรมบายเบ็น
     ๖. การประกอบพิธีกรรมที่วัด

อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
          เตรียมทำอาหาร คาว หวาน และข้าวของที่ได้จากการเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ มาจัดวางสำหรับลงในกระเชอที่เรียกว่า กันจือเบ็น(กระเชอเบ็น) โดยมีการจัดวางอย่างสวยงามไม่ว่าจะเป็น ข้าวต้มทั้งสองอย่างดังที่กล่าวแล้ว ปลา ไก่ เนื้อหมู วัว ย่าง ผลไม้ ผัก ขนมนมเนย อาหารแห้งต่างๆ ที่จำเป็น อัญเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษ มากินของเซ่นโดยทั่วกัน เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วลูกหลานญาติพี่น้องก็จะนำอาหารเครื่องเซ่นต่าง ๆ มารับประทานร่วมกัน เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่ลูกหลาน ญาติมิตร เพราะหนึ่งปี มีครั้งเดียว ลูกหลานที่ไปอยู่หมู่บ้านอื่นหรือต่างจังหวัดจะได้รู้จักคุ้นเคยกัน

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ 
          นอกจากประเพณีแซนโฏนตาจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ จุดมุ่งหมายรองของการออกกุศโลบายของบรรพบุรุษ คือ การแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่แสดงต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อให้ลูกหลาน ญาติมิตรจะได้มารู้จักกันสร้างความสามัคคี สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน









ที่มา

: https://www.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=800&filename=index

Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 6503 ครั้ง)


Messenger