...

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ นำเที่ยวปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม
 
ที่ตั้ง บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
 
อายุสมัย  อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖
 
รายละเอียด     
 
     ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง ๓ องค์ ประกอบด้วย ปราสาทประธานขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ(พระอิศวร) เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ลักษณะของศิวลึงค์นี้ตกแต่งจากแท่งหินทรายธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม ภายหลังจึงสร้างปราสาทครอบ สันนิษฐานว่านี้น่าจะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า “สวายัมภูลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทมีซุ้มประตู ๔ ทิศ ประตูมุขด้านทิศใต้ต่อเข้ากับมุขหน้าหรือมณฑปยื่นออกมา โดยแบ่งเป็น ๓ คูหา หลังคาทำด้วยหินทราย ปราสาทประธานมีการสลักลวดลายที่บริเวณฐาน โดยสลักเป็นรูปเทวรูปยืน นอกจากนี้ยังพบทับหลังหินทรายสลักภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ภายในซุ้มบนแท่นเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัย
 
     ปราสาทบริวาร หรือ ปรางค์น้อยมี ๒ องค์ สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางซ้ายและขวาของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนอีก ๓ ด้านทำเป็นประตูหลอก
 
     บรรณาลัย จำนวน ๒ หลัง  สร้างด้วยศิลาแลง  หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
 
     ปราสาทประธาน ปรางค์บริวาร และบรรณาลัย มีระเบียงคดล้อมรอบ ซุ้มประตู(โคปุระ) สร้างด้วยหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องทางเดินภายในกว้างประมาณ ๑.๔๐ เมตร มีซุ้มประตูทั้ง ๔ ด้าน  โดยซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนซุ้มประตูด้านทิศใต้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นซุ้มประตูหลัก โดยแบ่งออกเป็น ๓ คูหา คูหากลางมีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินและบริเวณระเบียงคดนี้ได้พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ มีเนื้อหากล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวถึงนามของทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาเทวสถานแห่งนี้(อ่านแปลโดยนางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)
 
     นอกจากนี้ยังพบท่าน้ำสร้างด้วยหินทรายนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ ๑๐ เมตร และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงก้นสระ อยู่บริเวณนอกระเบียงคดทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
 
     เมื่อพิจารณาจากลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ศิลาจารึก ประติมากรรมรูปเคารพ และลวดลายบนทับหลังที่พบที่ปราสาทแห่งนี้ กล่าวได้ว่า ปราสาทตาเมือนธมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปะขอมแบบบาปวน
 
     ปัจจุบันปราสาทตาเมือนธมได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว และโบราณวัตถุบางส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
 
การเดินทางจากอำเภอเมืองสุรินทร์ ถนนหมายเลข ๒๑๔ ถึงอำเภอปราสาทเลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข ๒๔ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข ๒๓๙๗ เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข ๒๒๔ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข ๒๔๐๗ ระยะทาง ๘๒.๗ กิโลเมตร
 

(จำนวนผู้เข้าชม 4364 ครั้ง)


Messenger